ย้อนสำรวจประวัติศาสตร์ ทำไม 5 สิ่งนี้ถึงกลายเป็น “สัญลักษณ์แห่งโชคร้าย” ของผู้คน
Materials & Application

ย้อนสำรวจประวัติศาสตร์ ทำไม 5 สิ่งนี้ถึงกลายเป็น “สัญลักษณ์แห่งโชคร้าย” ของผู้คน

  • 02 Oct 2023
  • 1662

ต่อให้โลกจะก้าวเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์มาเกือบ 100 ปีและผู้คนกว่า 5 พันล้านคนที่คิดเป็นกว่า 64.4% ของประชากรทั้งโลกจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่ความเชื่อเรื่อง “โชคลาง” “คุณไสย” หรือ “สายมู” ก็ผูกพันกับมนุษยชาติมาเนิ่นนาน ทั้งยังคงอยู่และมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้คนมากมาย หลายครั้งที่เกิดเรื่องไม่ดีขึ้นกะทันหันหรือเกิดขึ้นติดต่อกันแบบไร้ที่มาที่ไป เราจึงมักนึกถึง “โชคร้าย” มากกว่า “ความบังเอิญ” เมื่อความเชื่อเรื่องโชคลางยังคงอยู่ จึงไม่แปลกที่ความเชื่อเรื่อง “สัญลักษณ์” ที่เกี่ยวข้องกับ “โชคร้าย” จะยังคงอยู่เช่นเดียวกัน

“แมวดำ” อวตารของซาตาน หรือ เท้าปุยผู้รับเคราะห์
เพื่อนเท้าปุยหรือที่ทาสแมวเรียกว่า “นายท่าน” นั้น แม้จะมีประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับ “ความโชคดี” และ “ความเคารพ” ในหลายวัฒนธรรม แต่เมื่อไรที่แมวมี “สีดำ” เพื่อนเท้าปุยเหล่านั้นก็จะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคร้ายทันที ย้อนกลับไปในสู่อารยธรรมแรก ๆ ของโลกอย่าง “อียิปต์โบราณ” แมวถือเป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของอารยธรรมและได้รับความเคารพอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งในสมัยกรีกโบราณก็ยังมีแมวปรากฏในตำนานเทพเจ้ากรีกอย่าง “เฮคาเต้” เทพีแห่งเวทมนตร์ ดวงจันทร์ และคาถาด้วย

จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งคริสตจักรที่ “แมวดำ” ถูกนำเข้ามาเชื่อมโยงกับ “แม่มด” ในปีค.ศ.1233 พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 9 ออกเอกสารที่ชื่อ “Vox in Rama” อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสอบสวนและล่าแม่มดนอกรีต โดยมีใจความหนึ่งที่ระบุว่า “แมวดำเป็นอวตารของซาตาน” ทำให้แมวดำกลายเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายอย่างเป็นทางการ และค่อย ๆ ขยายพื้นที่ทางความคิดครอบคลุมมหาสมุทรแอตแลนติก

เซอร์ริดเวน ฟอลลิงสตาร์ (Cerridwen Fallingstar) ผู้ประพันธ์ Broth from the Cauldron: A Wisdom Journey Through Everyday Magic อธิบายว่า ในยุคแรกคริสตจักรคริสเตียนสามารถอยู่ร่วมกับแม่มดได้ จนกระทั่งพวกเขามองว่าแม่มดเป็นคู่แข่งในการเป็นศูนย์รวมจิตใจและความคิดของผู้คน เมื่อแม่มดผูกพันกับธรรมชาติ เคารพพืชและสัตว์อย่างลึกซึ้ง ดังนั้นความรักระหว่างมนุษย์กับสัตว์จึงกลายเป็น “ปีศาจ” อีกตัวหนึ่ง นอกจากนั้นฟอลลิงสตาร์ยังคาดว่า แม่มดและแมวถูกมองเป็นภัยคุกคาม เพราะทั้งสองไม่เคารพและไม่ประจบประแจงผู้มีอำนาจ

ชีวิตของแมวดำในยุคกลางยากจึงลำบากเช่นเดียวกันกับหญิงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มด พวกมันถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวแพร่โรคระบาด และถูกเผาในกองไฟในวันสำคัญทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ วันอีสเตอร์ หรือวันอาทิตย์แรกของเทศกาลมหาพรต แม้กระทั่งทุกวันนี้ข้อมูลจาก ASPCA องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่อุทิศตนเพื่อป้องกันการทารุณสัตว์บอกว่า ในสถานสงเคราะห์มีแมวดำมากกว่าแมวสีอื่น ๆ แม้บางส่วนจะได้รับไปอุปถัมภ์ดูแล แต่บางส่วนอาจต้องถูกการุณยฆาตในที่สุด


Adél Grőber / Unsplash


Jayalekshman SJ / Unsplash

“กระจกแตก” สะท้อนจิตวิญญาณ หรือแค่ผิดแผกจากความจริง
สมัยเด็ก ๆ ถ้าทำกระจกแตก ผู้ใหญ่มักจะบอกว่าห้ามนำมาใช้และให้รีบนำไปทิ้ง เพราะ “มันไม่ดี” โดยความหมายเบื้องหลังของคำว่า “มันไม่ดี” ก็หมายถึงการใช้กระจกที่แตก ร้าว หรือบิ่นไปแล้ว จะนำมาซึ่งเรื่องไม่ดีนั่นเอง

ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้นที่มีความเชื่อว่าการใช้กระจกแตกจะนำมาซึ่งเรื่องไม่ดี เพราะในสมัยกรีกโบราณ โรมัน และในยุโรปเองก็เชื่อว่า กระจกแตกจะนำโชคร้ายมาให้เช่นเดียวกัน

ส่วนใหญ่ความเชื่อที่ว่า “กระจกแตก” จะนำโชคร้ายมาให้ มีต้นกำเนิดมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า “ภาพสะท้อนของตัวเราเองจะแปลกประหลาด ผิดแผกไปจากความเป็นจริง” โดยย้อนกลับไปในยุคกรีกโบราณ พวกเขาเชื่อว่า “ภาพสะท้อนบนผิวน้ำ” เผยให้เห็น “จิตวิญญาณ” ของเรา ดังนั้น เมื่อกระจกถูกสร้างจากโลหะขัดเงาในยุคโรมัน พวกเขาจึงเชื่อว่า เทพเจ้าของพวกเขาสังเกตวิญญาณผ่านทางกระจก ดังนั้น การทำลายกระจกจะเท่ากับการแสดงความไม่เคารพต่อเทพเจ้า ทำให้ต้องพบเจอกับโชคร้าย

จนกระทั่งในศตวรรษที่ 3 กระจกที่ทำจาก “แก้ว” ถือกำเนิดขึ้นและการแตกหักพบได้บ่อยและกลายเป็นเรื่องธรรมดา ชาวโรมันจึงไม่เชื่อว่าโชคร้ายจะอยู่ตลอดไป เพราะพวกเขาเชื่อว่าโชคชะตาจะถูกกำหนดใหม่ในทุก ๆ 7 ปี และถ้าเจอกับกระจกแตกและไม่อยากโชคร้ายไปตลอด 7 ปีก็สามารถรวบรวมเศษกระจกที่แตกไปฝังไว้ใต้แสงจันทร์ได้ แต่ก็เพราะความเชื่อของชาวโรมันนี่เองที่เป็นที่มาของความเชื่อว่ากระจกแตกจะโชคร้ายไป 7 ปีที่เราคุ้นเคยกัน


Mick Haupt / Unsplash

“13” เลขแห่งลางร้าย หรือเพราะมาหลังความสมบูรณ์แบบ
อาจจะไม่สร้างความหวาดกลัวอย่างกว้างขวางในไทย แต่จากผลสำรวจประชากรสหรัฐอเมริกาบอกว่ามีประชากรกว่า 10% กลัว “เลข 13” และหากเฉพาะเจาะจงลงไปถึงความกลัว “ศุกร์ 13” ที่มีชื่อเรียกเฉพาะอย่าง “paraskevidekatriaphobia” นั้น ทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไปกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เนื่องจากการหลีกเลี่ยงงานแต่งงาน การเดินทาง หรือแม้แต่การทำงาน

ย้อนกลับไปมองหาสาเหตุของความหวาดกลัวและมองว่าเลข 13 เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคร้าย เราอาจต้องรู้ก่อนว่า “เลข 12” เป็นตัวเลขแห่งความสมบูรณ์แบบ ชาวสุเมเรียนโบราณพัฒนาระบบตัวเลขโดยใช้เลข 12 และยังคงใช้สำหรับการนับเวลาในปัจจุบัน กระทั่งตอนนี้ 1 ปี ยังคงมี 12 เดือน และระบบนาฬิกาก็ใช้ระบบเลข 12 ดังนั้น เลข 13 จึงเป็นตัวเลขที่มาต่อจากตัวเลขที่เป็นตัวแทนของความสมบูรณ์

อีกหนึ่งตำนานที่เกี่ยวข้องกับเลข 13 และมักถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลของความโชคร้าย คือ ตำนานนอร์สโบราณที่ “เทพเจ้าโลกิ” ที่มีอายุครบ 13 ปีเดินทางมาถึงงานเลี้ยงวัลฮัลลาเป็นแขกคนที่ 13 หลอกผู้เข้าร่วมงานให้สังหารเทพเจ้าบัลดูร์ ทำให้สมดุลของเทพเจ้า 12 องค์ที่เข้าร่วมอยู่แล้วเสียไป นอกจากนั้น ยังมีอีกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเลข 13 และค่อนข้างเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ การปรากฏตัวของแขกคนที่ 13 อย่าง “ยูดาส” อัครสาวกผู้ทรยศพระเยซู ที่มาถึงงานเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย “The Last Supper” นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อว่าเลข 13 เป็นตัวแทนของความโชคร้ายเป็นความเชื่อเฉพาะในฝั่งตะวันตกเป็นหลัก หลายวัฒนธรรมมองเลข 13 เป็นเลขธรรมดา ๆ เลขหนึ่ง แต่อิทธิพลความเชื่อเรื่องเลข 13 ทำให้กว่า 80% ของอาคารสูงในสหรัฐอเมริกาไม่มีชั้น 13 รวมถึงโรงแรม โรงพยาบาล และสนามบินก็หลีกเลี่ยงการใช้หมายเลขนี้ตามห้องประชุมและห้องต่าง ๆ ด้วย


Zhen H / Unsplash

“อีกา” ผู้นำข่าวร้าย ลางความตาย หรือพฤติกรรมสัตว์
แม้ “อีกา” จะไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับ “โชคร้าย” แต่มีลักษณะเป็น “ลางร้าย” หรือ “ลางแห่งความตาย” เสียมากกว่า แบบที่เรามักจะได้เห็นฉากในภาพยนตร์สยองขวัญระทึกขวัญที่มักจะนำ “อีกา” มาใช้ในฉากที่เกี่ยวข้องกับความตายหรือการสูญเสีย ย้อนกลับไปในหลากหลายอารยธรรม “อีกา” สะสมประวัติศาสตร์ความเชื่อหลากหลาย ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นเพราะ “อีกา” เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ด้วยมี “สีดำ” เงาวาวตลอดตัวตั้งแต่หัวจรดเท้า อันเป็นธรรมดาที่ “สีดำ” มักจะถูกผูกโยงเข้ากับความตายหรือเรื่องลึกลับ

นอกจากนั้น แม้จริง ๆ แล้วอีกาจะกินอาหารหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแมลง ไส้เดือน เมล็ดธัญพืช ผลไม้ เมล็ดพืช สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และอื่น ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในอาหารของอีกา คือ “ซาก” และ “ขยะ” จึงทำให้อีกามักจะปรากฏตัวในพื้นที่ที่มีความเจ็บป่วย ความตาย และซากเป็นปกติ รวมถึง “อีกา” ยังมีฐานะเป็นจำเลยจากชื่อเสียงว่าชอบกิน “ไข่” ของนกชนิดอื่น แม้จากผลวิจัยจะยืนยันว่า อีกาไม่สมควรที่จะถูกเหมาว่าเป็นภัยคุกคามหลักต่อนกที่เป็นเหยื่อเพียงอย่างเดียว

ย้อนกลับไป ยังมีตำนานเทพเจ้ากรีกที่เกี่ยวข้องกับอีกาในตอนที่ “เทพอพอลโล” ส่งอีกามาสอดแนมคนรักของเขา “โคโรนิส” และมันพบว่าโคโนนิสนอกใจ เมื่ออีกากลับมาหาอพอลโลและเล่าสิ่งที่เห็นให้อพอลโลฟัง เขาก็เปลี่ยนให้ขนของอีกากลายเป็นสีดำ เพราะความโกรธและเดือดดาล จึงทำให้อีกากลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำข่าวร้ายและความโชคร้ายตั้งแต่นั้นมา

ขณะที่ในตำนานอื่น ๆ “อีกา” มักจะเกี่ยวข้องกับความตายในแง่ของพลังและการพยากรณ์ อย่างเช่นในตำนานเซลติกที่ “มอร์ริแกน” เทพีแห่งสงความและความตายมีอีกรูปลักษณ์หนึ่งเป็น “อีกา” เช่นเดียวกันกับศาสนาชินโตของญี่ปุ่นที่มองว่า “อีกา” เป็นผู้ส่งสารของเทพเจ้าและเป็นสัญลักษณ์ของบรรพบุรุษหรือสัญลักษณ์ของการกลับบ้านอีกด้วย และ “อีกา” ก็ยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อและพิธีกรรมในอีกหลาย ๆ วัฒนธรรม


John Cobb / Unsplash


Matthias Müllner / Unsplash

“4” เลขแห่งความตาย หรือแค่พ้องกับการซี้แหงแก๋
เคยได้ยินไหมว่า “เลข 4” สามารถส่งผลกับกฎควบคุมการจราจรในจีนด้วย? 

ย้อนกลับไปในปี 2015 เมืองปักกิ่งออกกฎจำกัดการเข้าเมืองของรถยนต์ เพื่อลดความแออัดและมลพิษทางอากาศในพื้นที่ใจกลางเมือง โดยใช้เลขลงท้ายของ “ป้ายทะเบียน” เป็นตัวกำหนด แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ใช้ป้ายทะเบียนลงท้ายด้วย “เลข 4” นั้นมีเพียงแค่ 1-3% ของผู้ใช้รถยนต์ทั้งหมด ทำให้มีรถยนต์เพิ่มขึ้นในวันที่ห้ามป้ายทะเบียนลงท้ายด้วย “เลข 4” เข้าสู่พื้นที่ แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเชื่อเรื่อง “เลข 4” จะนำมาซึ่งโชคร้ายของชาวจีนฝังรากแนบแน่นไม่แพ้เลข 13 ของฝั่งตะวันตก

โดยจุดเริ่มต้นของความเชื่อเรื่อง “เลข 4” จะนำมาซึ่งความโชคร้าย จะมาจาก “รากฐานทางภาษา” เพราะในภาษาจีนการออกเสียงเลข “4” (sì) ใกล้เคียงกับคำว่า “ความตาย” (sǐ) จนแทบจะเป็นคำเดียวกัน เช่นเดียวกันกับภาษาญี่ปุ่นและเกาหลีที่คำว่า “4” และ “ความตาย” ก็มีวิธีออกเสียงใกล้เคียงกัน จนกลายเป็น “Tetraphobia” หรือความหวาดกลัวเลข 4 ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งในการใช้ชีวิตประจำวันและลามไปจนถึงการประกอบธุรกิจ

เช่นเดียวกับที่ตึกในสหรัฐอเมริกาที่มักจะหลีกเลี่ยงชั้น 13 หลาย ๆ ตึกในจีนก็เลือกจะหลีกเลี่ยงชั้น 4 หรือมักจะถูกขายในราคาถูกกว่าชั้นอื่น ๆ นอกจากนั้น ความเชื่อเรื่อง “เลข 4” ยังขยายอิทธิพลไปทั่วเอเชียตะวันออก อย่างที่รถหรู Alfa Romeo รุ่น 144 ที่จำหน่ายในสิงคโปร์จะต้องเปลี่ยนชื่อ เพราะกลัวว่าจะขายไม่ออก หรือในสมัยที่ Nokia ยังรุ่งเรืองก็ต้องหลีกเลี่ยงที่จะใช้เลข 4 เป็นมาเป็นชื่อรุ่นเช่นกัน


user6702303 / Freepik


Freepik

ผ่านเรื่องราวของ 5 สัญลักษณ์แห่งโชคร้ายที่ต่างมีประวัติศาสตร์และเรื่องราวของตนเอง บางสัญลักษณ์เกี่ยวพันกับศาสนา การเมือง และสังคม บางสัญลักษณ์เกี่ยวพันกับตำนานโบราณและอารยธรรมเก่าแก่ บางสัญลักษณ์เป็นเรื่องของภาษาและการออกเสียง และบางสัญลักษณ์เป็นเรื่องราวเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ที่สะท้อนออกมาผ่านความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมที่แสดงออก โลกตะวันตกเชื่ออย่าง โลกตะวันออกเชื่ออีกอย่าง สุดท้ายจะเป็นโชคดีหรือโชคร้ายก็อาจจะแล้วแต่ใจเราตัดสิน

ที่มา : บทความ “Why Black Cats Are Associated With Halloween and Bad Luck” โดย Elizabeth Yuko จาก www.history.com
บทความ “The Dark History of Black Cat Superstition” โดย Bambi Turner จาก https://animals.howstuffworks.com
บทความ “How did the superstition that broken mirrors cause bad luck start and why does it still exist? ” โดย Barry Markovsky จาก https://sc.edu
บทความ “Why Is a Broken Mirror Bad Luck? ” โดย Laurie L. Dove และ Sascha Bos จาก https://people.howstuffworks.com
บทความ “What’s So Unlucky About the Number 13?” โดย Barbara Maranzani จาก www.history.com
บทความ “Why is 13 considered unlucky?” โดย Barry Markovsky จาก https://sc.edu
บทความ “Are Crows Bad Luck? Bird’s Bad Reputation Debunked” โดย Caleb White จาก www.sciencetimes.com
บทความ “The Magic of Crows and Ravens” โดย Patti Wigington จาก www.learnreligions.com
บทความ “Raven – Symbols of Bad Luck?” โดย Dani Rhys จาก https://symbolsage.com
บทความ “What Are Crows an Omen Of: [Death & Destruction]” โดย Harold Williams จาก https://birdsidea.com
บทความ “How Chinese Superstition About the Number 4 Makes Beijing Traffic Worse” โดย Eric Jaffe จาก www.bloomberg.com
บทความ “Why Do Some Cultures Believe the Number Four Is Unlucky? ” โดย Laurie L. Dove จาก https://people.howstuffworks.com

เรื่อง : Techa S.