เพราะโลกมันร้อน น้อนเต่าเพศชายเลยไม่เกิด
Technology & Innovation

เพราะโลกมันร้อน น้อนเต่าเพศชายเลยไม่เกิด

  • 07 Feb 2024
  • 284

เมื่อพูดถึงผลกระทบที่เต่าได้รับจากพฤติกรรมของมนุษย์ คงไม่มีประเด็นไหนที่โด่งดังเท่า “ขยะพลาสติก” ที่ทำให้ทุกคนต้องฉุกคิดว่า “แล้วเต่าทะเลล่ะ” ทุกครั้งที่หยิบหลอดพลาสติกมาใช้ ทว่านี่นับเป็นเพียงหนึ่งของปัญหาที่เหล่าเต่าทะเลต้องเผชิญเนื่องด้วยการกระทำของมนุษย์เท่านั้น

นอกจากเรื่องขยะพลาสติกแล้ว “ปัญหาภาวะโลกรวน” (climate change) คืออีกประเด็นปัญหาหนึ่งที่แม้หลายคนจะตระหนักถึง แต่ก็อาจจะไม่รู้ว่ามันส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มากขนาดไหน โดยเฉพาะกับเหล่าเต่าทะเลที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้ใคร เมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นยิ่งผลักอัตราการเกิดระหว่างเต่าทะเลเพศผู้และเพศเมียให้ห่างไกลออกจากคำว่า “สมดุล” ไปมากขึ้นทุกที 


David Courbit / Unsplash

แล้วแต่ทะเล (ตัวผู้) ล่ะ
ต่างจากมนุษย์ที่กำหนดเพศด้วยโครโมโซม X,Y เพศของสัตว์อย่างเต่าทะเลหรือจระเข้กลับกำหนดได้ผ่านอุณหภูมิของหลุมฟักไข่ใต้พื้นทรายตอนไข่กำลังพัฒนา โดยจากการศึกษาจะเห็นว่า หากไข่ของเต่าทะเลฟักตัวอยู่ในอุณหภูมิต่ำกว่า 27.7 องศาเซลเซียส ลูกเต่าที่ฟักออกมาจะเป็นเพศผู้ และถ้าไข่ฟักอยู่ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 31 องศาเซลเซียส เต่าที่ลืมตาดูโลกก็จะเป็นเพศเมีย ส่วนอุณหภูมิที่อยู่ระหว่างเลขดังกล่าวนี้ จะทำให้มีอัตราการเกิดระหว่างเพศผู้และเพศเมียผสมกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็คงไม่ต้องเดาเลยว่าในช่วงปีที่อากาศมีแต่ร้อนขึ้น ๆ ทุกปี จะเกิดอะไรขึ้นกับเต่าทะเล

“มีเต่าทะเลอยู่ทั้งหมด 7 สายพันธุ์ และไข่ทุกสายพันธุ์จะฟักเป็นตัวเมียมากขึ้นเมื่ออากาศอุ่นขึ้น” ลูซี ฮอว์กส์ (Lucy Hawkes) นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์กล่าว โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา ณ แนวชายฝั่งสเปซโคสต์ (Space Coast) พื้นที่ทางตะวันออกของฟลอริดา มีเต่าขึ้นมาวางไข่สูงที่สุดนับเป็นประวัติการณ์กว่า 52,000 รัง (นับเป็นสามเท่าของสถิติปีก่อนหน้า) แต่กลับกลายเป็นว่า เต่าที่เกิดใหม่เหล่านี้กว่า 99% ล้วนเป็นเพศเมียทั้งสิ้น และนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

“ที่น่ากลัวคือ 4 ฤดูร้อนล่าสุดในฟลอริดาเป็นฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา... นักวิทยาศาสตร์ที่กำลังศึกษาไข่และลูกเต่าทะเลที่ฟักออกมาพบว่า ไม่มีเต่าทะเลเพศผู้เลย ดังนั้นจึงมีแค่เต่าทะเลตัวเมียในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา (2018-2022)” เบตต์ เซอร์เคลบัค (Bette Zirkelbach) จากโรงพยาบาลเต่าประจำเมืองมาราธอน (Marathon) ฟลอริดาคีย์ ที่อยู่ทางตอนใต้สุดของเกาะฟลอริดากล่าว อีกทั้งยังยกการศึกษาของออสเตรเลียที่ชี้ให้เห็นสถิติที่คล้ายคลึงกัน “ลูกเต่าทะเลตัวใหม่กว่า 99 เปอร์เซ็นต์ล้วนเป็นตัวเมีย” เธอว่าต่อ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างให้เกิดข้อคำนึง แม้ว่าโดยปกติแล้วเต่าตัวผู้หนึ่งตัวจะสามารถผสมพันธุ์กับเต่าตัวเมียหลายตัว ซึ่งการมีตัวเมียมากขึ้นก็อาจเพิ่มศักยภาพในการสืบพันธุ์และเพิ่มประชากรได้ แต่นักวิทยาศาสตร์หลายท่านก็เตือนว่าหากประชากรของเต่าทะเลเป็นเพศเมียโดยสมบูรณ์ก็อาจเป็นอันตรายต่อการอยู่รอดของเต่าทะเลในระยะยาว “เมื่ออัตราส่วนเข้าใกล้เพศเมีย 100 เปอร์เซ็นต์ เต่าตัวเมียที่โตเต็มวัยก็จะยิ่งหาคู่ได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ” อาเธอร์ บาร์ราซา (Arthur Barraza)นักวิจัยจากสถาบัน Australian Rivers แห่งมหาวิทยาลัยกริฟฟิธแสดงทัศนะ ซึ่งในอีกแง่ก็อาจหมายความว่าจะมีเต่าตัวผู้ที่จะมาผสมพันธุ์กับไข่ของตัวเมียน้อยลงเรื่อย ๆ ขณะที่เมลิสซา โรซาเลส โรดริเกซ (Melissa Rosales Rodriguez) ผู้ดูแลเต่าทะเลจากสวนสัตว์ไมอามีก็มองว่า การมีเต่าทะเลตัวผู้น้อยลง อาจส่งผลไปสู่ความหลากหลายทางพันธุกรรมของเต่าทะเลที่น้อยลงและไม่ยั่งยืน


U.S. Fish and Wildlife Service Southeast Region / Flickr

หลากความพยายามเพิ่มประชากรเต่าตัวผู้
ด้วยตระหนักถึงปัญหานี้ นักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มจึงพยายามหาแนวทางการลดอุณหภูมิหลุมฟักไข่เพื่อหวังเพิ่มประชากรเต่าทะเลตัวผู้ โดยงานศึกษาก็ชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนย้ายไข่ให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีร่มเงามากขึ้น และการแยกไข่ให้กระจายเป็นกลุ่มที่เล็กขึ้นต่างช่วยลดอุณหภูมิของหลุมฟักไข่ 

ลีโอ คลาร์ก (Leo Clarke) ผู้เขียนหลักของการศึกษาที่สำรวจแนวทางต้นทุนต่ำเพื่อลดผลกระทบของภาวะโลกรวนที่มีต่อการสืบพันธุ์ของเต่าชี้ว่า เทคนิคทั้ง 2 ส่งผลให้หลุมมีอุณหภูมิลดลงกว่าหลุมฟักไข่ตามธรรมชาติจริง โดยสัดส่วนของเต่าทะเลตัวเมียเฉลี่ยที่เกิดในหลุมธรรมชาติ เทียบกับหลุมไข่ที่แยกจำนวนไข่ต่อหลุมให้น้อยลง และหลุมฟักไข่ที่อยู่ในร่มเงา ชี้ให้เห็นว่า การย้ายหลุมเข้าร่มคือวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่การแยกไข่แต่ละหลุมให้มีปริมาณน้อยลง เพื่อลดความร้อนจากการเผาผลาญอาหารสำหรับสร้างพลังงาน (Metabolic Heat) ที่เกิดขึ้นในไข่แต่ละใบ และส่งผลต่ออุณหภูมิในหลุมโดยรวม ก็นับเป็นวิธีใช้ต้นทุนและแรงคนน้อยกว่า เหมาะกับหลุมวางไข่ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล

เรายังอาจใช้น้ำทะเลในการลดอุณหภูมิหลุมวางไข่ของเต่าทะเลได้ แนวคิดดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่าง WWF Australia มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ โครงการ Conflict Islands Conservation Initiative ที่ปาปัวนิวกินี และกลุ่มอื่น ๆ ที่ตระหนักถึงปัญหาเรื่องประชากรเต่าและพยายามจะหาวิธีแก้ปัญหา โดยทีมวิจัยได้ฝังเครื่องบันทึกอุณหภูมิไว้ที่รังวางไข่ของเต่าตนุบนเกาะเฮรอนทางตอนใต้ของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ และเกาะปานาเซซาในประเทศปาปัวนิวกินี และพบว่าหลุมฟักไข่สามารถเย็นลงได้ถึง 1.3 องศาเซลเซียส จากการใช้บัวรดน้ำรดน้ำทะเลที่เก็บมาพักไว้ให้เย็นข้ามคืนลงไปบนผืนทราย 50 ลิตร 

ตัวเลขอุณหภูมินี้นับว่ามีนัยสำคัญในทางทฤษฎีที่จะทำให้ลูกเต่าเปลี่ยนจากการฟักออกมาเป็นตัวเมียล้วน สู่การฟักออกมาเป็นตัวผู้และตัวเมียในอัตราที่พอ ๆ กันได้ วิธีที่ว่านี้นับได้ว่ามีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดีและสำคัญ เนื่องจากน้ำทะเลเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับหาดทรายและหาได้ง่าย หากวิธีนี้สามารถทำได้จริง ก็จะเป็นแนวทางที่สะดวกต่อพื้นที่วางไข่ของเต่าทะเลที่อยู่ห่างไกลหรือในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์ หากจะเลือกใช้วิธีการอื่น ๆ  


Elise Peterson / Wikimedia Commons

ลดอุณหภูมิหลุมฟักไข่เต่า ด้วยนวัตกรรมที่มีพวกมันเป็นแรงบันดาลใจ
นอกจากการย้ายไข่เข้าร่มแล้ว การทำให้พื้นทรายมีร่มเงาก็ช่วยให้ทรายเย็นลงได้เช่นกัน และในปีที่ผ่านมา แบรนด์ครีมกันแดดชื่อดังอย่าง “Banana Boat” ก็ได้ร่วมมือกับโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลโคลอมเบีย (ProCTMM) และ Wunderman Thompson Colombia ในการหันมาปกป้องเหล่าเต่าทะเลจากแสงแดด กับนวัตกรรม “Nest Domes” โดมน้อยที่จะเข้ามาช่วยควบคุมอุณหภูมิของหลุมฟักไข่บนชายหาดให้เย็นลงอย่างน่าอัศจรรย์

โดมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกระดองของเต่านี้ ได้รับการออกแบบมาอย่างดีภายใต้คำแนะนำของนักชีววิทยาทางทะเล ร่วมไปกับการทำงานของช่างฝีมือท้องถิ่น นักออกแบบ และวิศวกร ทั้งยังสร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ อย่างเช่น ไม้แคริบเบียน และมีภายในที่บุด้วยไม้ก็อก ซึ่งเป็นวัสดุให้ความเย็นตามธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ Nest Domes มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงอาทิตย์ และมีการใช้น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ (Flaxseed Oil) มาทาเคลือบผิวภายนอกเพื่อป้องกันความชื้นหากฝนตก รวมถึงยังมีช่องหน้าต่างที่เสริมการไหลเวียนของอากาศและไล่อากาศร้อนออกไปด้วย

อมินตา จาวเรกี (Aminta Jauregui) หัวหน้านักวิจัยโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลได้กล่าวถึงนวัตกรรมโดมดังกล่าวว่า “ในช่วงพัฒนาต้นแบบ เราสามารถลดอุณหภูมิในหลุมฟักได้ถึง 4 องศาเซลเซียส ต้องขอบคุณโครงการนี้ ที่ทำให้เราสามารถสร้างอุณหภูมิที่จำเป็นเพื่อให้เต่าทะเลตัวผู้และตัวเมียมีสัดส่วนที่พอ ๆ กันได้” การันตีจากโครงการนำร่องบนชายหาดซานตามาร์ตา ประเทศโคลอมเบียที่ประสบความสำเร็จ และกำลังขยายพื้นที่ไปยังชายหาดอื่น ๆ ตามแนวชายฝั่งทะเลแคริบเบียนและเม็กซิโกอีกหลายแห่ง “นวัตกรรมนี้เป็นความสำเร็จที่โดดเด่น และเรามองในแง่ดีว่า มันจะมีผลกระทบเชิงบวกต่ออนาคตของประชากรเต่าทะเล ที่ขณะนี้จัดอยู่ในประเภทของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์” จาวเรกี ทิ้งท้าย

อีกหนึ่งความยอดเยี่ยมของโปรเจ็กต์นี้ คือการที่ทีมผู้จัดทำได้สร้างพิมพ์เขียวของ Nest Domes ให้เป็นโอเพนซอร์ส ซึ่งหมายความว่าทุกคนทั่วโลกจะสามารถสร้างและติดตั้งพวกมันไว้บนชายหาดได้ฟรี เพื่อมุ่งประโยชน์ให้กับเหล่าเต่าทะเลทั่วโลกอย่างแท้จริง “ในระยะยาว แทบทุกประเทศทั่วโลกจะต้องการนวัตกรรมนี้” ศาสตราจารย์ ดร. ยาคุป กัสกา จากมหาวิทยาลัยปามุกคาเล กล่าว

อย่างไรก็ดี เราก็อย่าเพิ่งประเมินเจ้าเต่าทะเลผู้แหวกว่ายอยู่ในท้องทะเลมาอย่างยาวนาน และอยู่รอดจากวิกฤตการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้ครั้งแล้วครั้งเล่าต่ำจนเกินไป โจเอล โคเฮน (Joel Cohen) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของสมาคมอนุรักษ์เต่าทะเลชี้ให้เห็นว่า ในทางหนึ่ง พวกมันก็อาจกำลังปรับตัวเพื่อผ่านพ้นวิกฤตนี้เช่นกัน 

ยกตัวอย่างเช่น เต่าบางตัวที่เริ่มเคลื่อนตัวไปทางเหนือมากขึ้นสู่ผืนทรายที่เย็นกว่า ในขณะที่บางตัวก็เริ่มขึ้นฝั่งมาทำรังตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งนับได้ว่าเร็วกว่ารูปแบบการผสมพันธุ์ปกติราวหนึ่งเดือน โดยถึงแม้ข้อมูลพวกนี้จะยังมีไม่มาก แต่โคเฮนก็ยังเห็นว่า ข้อมูลพวกนี้สร้างให้เกิดความหวังและกำลังใจ “พวกมันเป็นสัตว์ที่น่าทึ่ง และพวกมันมีแนวทางที่จะรับมือกับทุกสิ่งที่ถาโถมใส่” โคเฮน ว่า

ท่ามกลางข้อถกเถียงถึงสัดส่วนที่เรียกว่า “สมดุล” ระหว่างประชากรเพศผู้และเพศเมียของเต่าทะเล หนึ่งสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่สร้างผลกระทบให้สิ่งมีชีวิตอื่น ไม่ว่าพวกมันจะอาศัยอยู่ส่วนไหนในโลกก็ตาม การตระหนักรู้ถึงปัญหาดังกล่าวจึงนับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้ผู้คนหันกลับมาช่วยกันดูแลสหายที่อยู่คู่โลกใบนี้มาอย่างยาวนาน ผ่านแนวทางแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อค่อย ๆ สร้างสมดุลของประชากรเต่าทะเลให้คืนกลับมา และให้พวกมันได้สืบเผ่าพันธุ์อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนอีกหลายล้านปี โดยไม่ได้ปล่อยให้พวกมันสู้ปรับตัวเข้าหาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ตามลำพัง

ที่มา : บทความ “Hotter summers mean Florida's turtles are mostly born female” โดย Maria Alejandra Cardona 
บทความ “What causes a sea turtle to be born male or female?” จาก oceanservice.noaa.gov 
บทความ “Why aren’t Florida sea turtles having little boy turtles?” โดย Lois M. Collins 
บทความ “Sea turtles laid a record 52,500 nests in Florida but 99% are female” โดย Maiya Focht
บทความ “No male sea turtles are being born in Florida because hotter sand from climate change is producing only females, scientist said” โดย Maiya Focht 
บทความ “Pollution, heavy metals could threaten endangered turtle populations by producing an excess of females: Study” โดย Julia Jacobo 
บทความ “Shortage of male turtles could be solved by splash of cold seawater” โดย Alice Klein 
คลิป “A turtle-y cool way to protect the future of green turtles | WWF-Australia” โดย WWF-Australia 
บทความ “New low-cost solutions could save sea turtles from a climate change-induced sex crisis” โดย Trang Chu Minh 
บทความ “Sea turtles are being born mostly female due to warming—will they survive?” โดย Craig Welch
บทความ “DOMES CREATED FROM BANANA BOATS PROTECT ENDANGERED SEA TURTLES WHILE BALANCING THEIR POPULATION” โดย Ida Torres
บทความ “Banana Boat Creates Nest Domes To Protect Sea Turtles From The Torching Sun” โดย Mikelle Leow 
บทความ “เต่าทะเล” จาก km.dmcr.go.th

เรื่อง : บุษกร บุษปธำรง