ถอดรหัสสังคมสูงวัยใจกลางบางกอกด้วยข้อมูล (Ageing Society with Data)
Technology & Innovation

ถอดรหัสสังคมสูงวัยใจกลางบางกอกด้วยข้อมูล (Ageing Society with Data)

  • 12 Mar 2024
  • 228

ปัญหาสังคมผู้สูงวัย (Ageing Society) ทำให้ความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลกับโครงสร้างเชิงสังคมเปลี่ยนไป แท้จริงแล้ว Ageing Society ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถพบได้ทั่วโลก ข้อดีคือการที่ประชากรมีอายุยืนขึ้น แต่การมีอายุยืนขึ้นนั้นอาจจะไม่เพียงพอ เพราะผู้สูงวัยควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ดังนั้นการมีคุณพ่อคุณแม่วัยเกษียณจึงไม่ใช้ปัญหาของลูกหลาน หากเราใช้ข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์กับสังคมสูงวัย เมื่อพวกเขามีกิจกรรมในแต่ละวันน้อยลง ทำอย่างไรให้พวกเขายังสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างแข็งแรงและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่รู้สึกเหงาหรือถูกทอดทิ้ง ดังนั้นการสร้างชุมชนของคนสูงวัย โดยใช้ข้อมูลจากสถิติต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้

ทีมงาน Computational Life Sciences Thailand (CLST) ที่มีพันธกิจในการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จากศาสตร์ของ "วิทยาศาสตร์ชีวภาพคอมพิวเตอร์" (Computational Life Sciences) ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ใช้การคำนวณและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจกับกระบวนการชีวภาพต่าง ๆ จึงได้ร่วมจัดงานเสวนาอภิปรายในหัวข้อ “Ageing Society with Data – สังคมสูงวัยใจกลางบางกอก” โดยมีวิทยากรประกอบด้วยคุณเมธาวี โฉมทอง คุณธนากร แจ่มถาวร คุณนัฐรัตน์ ปัญญาสุ คุณชวาล เพียรสัตยานนท์ และคุณจิรเมธ คิญชกวัฒน์ มาร่วมวงอภิปรายถึงปัญหาแท้จริงที่ต้องเผชิญในปัจจุบันนี้ ซึ่งก็คือการที่กระชากรวัยหนุ่มสาวมีจำนวนจำกัด หากมองในด้านการสร้างผลิตผล (Productivity) ปัญหาที่เกิดขึ้นคือโครงการประชากรที่ขาดสมดุล เนื่องจากทรัพยากรวัยหนุ่มสาวที่ต้องพัฒนา Productivity ของเมืองมีอยู่จำกัด และนอกจากจะต้องรับผิดชอบผลักดันในเรื่อง Productivity โดยรวมของสังคมแล้ว พวกเขายังต้องทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุทั้งในครอบครัวและสังคมโดยรวมอีกด้วย ปัญหาจึงไม่ได้เกิดจากการที่เรามีผู้สูงอายุจำนวนมาก แต่เป็นเรื่องของการบริหารทรัพยากรอย่างไรให้สมดุลและมีประสิทธิภาพสูงสุดมากกว่า 

ปัจจุบันโครงสร้างประชากรมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีจำนวนผู้สูงวัยมากกว่าจำนวนประชากรเกิดใหม่ หากมองไปถึงตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐของกลุ่มผู้สูงวัยจะพบว่า มีจำนวนผู้เข้ารับการรักษามากกว่าบุคลากรที่ให้บริการมากหลายเท่าตัว สาเหตุหนึ่งก็เกิดจากผลผลิตทางประชากรวัยหนุ่มสาวน้อยลง จึงทำให้โครงสร้างสังคมเกิดความผิดเพี้ยนมากขึ้น 

จากข้อมูลเชิงสถิติและอินไซต์ที่กล่าวมา เทคโนโลยีเวชศาสตร์ระยะไกล หรือ Telemedicine จึงได้เข้ามามีบทบาทและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับวงการแพทย์และการรักษาพยาบาลได้เป็นอย่างมาก จนอาจเรียกได้ว่า เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยผลักดันให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง สะดวก และง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยสูงวัยที่ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางหรือมารอพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตั้งแต่เช้ามืด แต่แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยเบื้องต้นได้ทันที 

ข้อดีอีกอย่างที่เห็นได้ชัดเจนนอกจากความสะดวกสบายก็คือ ระบบ Telemedicine จะช่วยให้สามารถจัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วยได้ในรูปแบบดิจิทัล และหากระบบการจัดเก็บข้อมูลถูกรวมอยู่ในคลังเดียวกัน ก็จะยิ่งอำนวยความสะดวกในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้ดีขึ้น ดังนั้นภาครัฐและเอกชนควรมีการสร้างระบบที่สามารถแชร์ข้อมูลผู้ป่วยถึงกันได้อย่างทั่วถึงและปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การเชื่อมต่อฐานข้อมูลนั้นยังเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและต้องได้รับการศึกษาและยินยอมของผู้เป็นเจ้าของและผู้ดูแลรักษาข้อมูล อีกทั้งยังมีประชากรอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีเครื่องมือสื่อสารติดตัว และอาจทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลแบบระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ

นอกเหนือจากการทำเอาเทคโนโลยีอย่าง Telemedicine ที่สามารถเชื่อมโยงผู้สูงวัยเข้ากับการรักษาพยาบาล และปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการดูแลผู้สูงวัยแล้ว ก็ยังมีอีกหลากหลายศาสตร์ที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการความสมดุลให้เกิดขึ้นท่ามกลางโครงสร้างสังคมผู้สูงวัย เช่น สถาปัตยกรรมยั่งยืนและแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน (Sustainable and Universal Architecture) ในแง่การอยู่ร่วมกันของคนสูงวัยและการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไปจนถึงการใช้โครงข่ายสังคมเพื่อดูแลสุขภาพและสร้างกิจกรรมเพื่อผู้สูงวัย (Social Network) ให้สามารถอยู่ร่วมกับคนในเจเนอเรชันอื่น ๆ ได้อย่างมีส่วนร่วม ไม่รู้สึกแปลกแยก และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของเวชศาสตร์ฟื้นฟูและการชะลอวัย (Regenerative and Anti-aging) เป็นต้น ที่นับเป็นศาสตร์ที่กำลังได้รับความสนใจศึกษาเพิ่มเติมเพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมผู้สูงวัย

นอกจากนี้ ในการอภิปรายยังมีแนวทางการแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงวัยที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น จะเป็นอย่างไรหากเรามีข้อมูลของผู้สูงวัยในชุมชนที่รวบรวมไว้ในแอปพลิเคชันที่เป็นของชุมชนนั้น ๆ โดยจับกลุ่มผู้ที่มีความชอบหรือมีกิจกรรมคล้ายกันให้มาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกัน โอกาสในการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ เช่น การจัดอาหารเดลิเวอรีตามข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลของผู้สูงวัย เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากมีการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ เอาไว้อย่างครบถ้วน เราก็สามารถนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้เพื่อสร้างให้เกิดโอกาสและประโยชน์สูงสุดแก่ผู้สูงวัยได้นั่นเอง และนี่ก็คือแนวทางที่จำเป็นในอนาคตในการสร้างสังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพด้วยการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ข้อมูล

ที่มา : การบรรยาย “Ageing society with Data - สังคมสูงวัยใจกลางบางกอก” โดย Computational Life Sciences Thailand (CLST) วันที่ 27 มกราคม 2567 ณ TCDC กรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพ 2567 ภายใต้แนวคิด “Livable Scape คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี”