คิดถึง “กระดาษ” ...วัสดุจากธรรมชาติที่จะทำให้คุณโหยหาสัมผัสที่หาไม่ได้ในโลกยุคดิจิทัล
Materials & Application

คิดถึง “กระดาษ” ...วัสดุจากธรรมชาติที่จะทำให้คุณโหยหาสัมผัสที่หาไม่ได้ในโลกยุคดิจิทัล

  • 21 May 2021
  • 2219

กระดาษเป็นภูมิปัญญาที่น่าหลงใหลของมนุษย์ มันถูกปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบรับกับประเพณีและวิถีชีวิตการใช้งานของเราในแต่ละยุคสมัย กระดาษจึงทำหน้าที่เป็นทั้งเครื่องจดบันทึก และเป็นส่วนเติมเต็มของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นร่ม พัด หรือโคม นอกจากนี้ กระดาษก็ยังเป็นเวทีของศิลปินที่ใช้สร้างผลงานเพื่อสื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก ความงาม และปัญญา 

แม้ว่าปัจจุบันชิ้นงานศิลปะจะถูกสร้างขึ้นจากวัสดุที่หลากหลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระดาษยังเป็นตัวละครสำคัญในกระบวนการทำงานสร้างสรรค์ มันจึงได้รับการพัฒนาให้สามารถรองรับเทคนิคใหม่ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่นเดียวกับ “ช่างกระดาษเวฬุวัน” ที่ฝึกฝนฝีมือและสร้างกระดาษที่มีคุณภาพเพื่อรับใช้ศิลปินทั้งชาวไทยและต่างชาติ จนเกิดเป็นนิทรรศการ “PAPER BLOG” ที่บอกเล่าเสน่ห์ของกระดาษทำมือ และสะท้อนเรื่องราวตั้งแต่กระบวนการผลิต จิตวิญญาณ ความเปลี่ยนแปลง ไปพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงประสบการณ์ชีวิตของ “อาจารย์สุพรรณ พรหมเสน” ผู้ก่อตั้งช่างกระดาษเวฬุวัน ที่อยู่ร่วมกับการผลิตกระดาษมาเกือบทั้งชีวิต 

ยิ่งโลกก้าวเข้าสู่การเป็นดิจิทัล โอกาสในการที่จะได้ใช้งานกระดาษก็ยิ่งน้อยลง แต่การรู้สึกโหยหาสัมผัสที่พิเศษของการกรีดหน้ากระดาษในหนังสือเล่มโปรด หรือการได้สะท้อนความคิดบางอย่างลงบนเฟรมกระดาษเพื่อสร้างงานศิลปะ ก็ยังทำให้มีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงรักในการใช้กระดาษอยู่ และหนึ่งในนั้นก็คือ ศิริภา ทองสุข หนึ่งในทีมผู้ร่วมก่อตั้ง JOJO KOBE ART GALLERY และอาจารย์กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย ผู้ก่อตั้ง Chiangmai Art on Paper Studio หรือ C.A.P Studio 

สองศิลปินที่ได้นำผลงานที่สร้างสรรค์บนกระดาษเวฬุนมาจัดแสดงในนิทรรศการ “Weruwana Paper Studio & Arts” ในงาน Chiang Mai Design Week 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มาร่วมถ่ายทอดความหลงใหลในกระดาษ โดยเฉพาะกระดาษเวฬุวันที่เป็นหนึ่งในวัสดุเด่นประจำภาคเหนือกับเรา

คุยกับ “ศิริภา ทองสุข” ศิลปินที่สร้างผลงานด้วยเทคนิคภาพพิมพ์และสีน้ำบนกระดาษ 

ความแตกต่างและสัมผัสที่พิเศษกว่าของกระดาษเวฬุวัน
“กระดาษเวฬุวันสร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ ไม่ตัดขอบเหลือร่องรอยระหว่างการผลิต มีความเหนียวทนทานต่อการใช้งาน สามารถรับการซึมของน้ำหมึกได้ดี ช่วยให้สีเกาะกระดาษและทำให้สีไม่ดรอปลงจากเดิม คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้กระดาษเวฬุวันสามารถใช้สร้างชิ้นงานศิลปะได้หลากหลายเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นภาพพิมพ์ สีน้ำมัน สีฝุ่น สีน้ำ สีอะคริลิก หรือแม้แต่การปั้นขึ้นรูปเป็นสามมิติ” 

วัตถุดิบพื้นถิ่นกับการทำงานระดับสากล
“โดยปกติศิลปินอาจจะต้องพิถีพิถันในการเลือกใช้กระดาษที่เหมาะกับการทำงาน แต่คุณสมบัติของกระดาษเวฬุวันที่กล่าวไปนับได้ว่าทัดเทียมกับกระดาษจากเมืองนอก เราจึงไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายในส่วนค่าขนส่งและภาษี ทำให้เราประหยัดในเรื่องต้นทุนได้มากในการทำงาน” 

กระดาษในโลกดิจิทัล
“ส่วนตัวเชื่อว่ากระดาษจะไม่มีวันหายไป เพราะยิ่งโลกเข้าสู่ยุค Paperless มากขึ้น งานกระดาษก็ยิ่งทรงคุณค่า เพราะการที่มันจับต้องได้ และให้สัมผัสที่หาไม่ได้จากโลกดิจิทัล ทำให้กระดาษยิ่งหายาก ยิ่งมีราคา จากเดิมที่กระดาษอาจมีจุดเริ่มต้นมาเพื่อใช้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ แต่วันนี้มันได้พัฒนาตัวเองกลายไปเป็นสิ่งของที่มีคุณค่า และเป็นอารยธรรมที่เรารับมาจากบรรพบุรุษซึ่งจะถูกส่งต่อแก่ลูกหลานต่อไป” 

คุยกับ “อ. กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย” ผู้ก่อตั้ง C.A.P Studio

ความเชื่อมั่นในกระดาษไทย
เมื่อ 17 ปีที่แล้วหลังเรียนจบปริญญาโทจาก University of New South Wales ด้านศิลปะและการออกแบบ ผมก็กลับมาไทย ตอนนั้นตั้งใจหากระดาษที่ผลิตในประเทศ เพราะสงสัยว่าทำไมคนไทยถึงใช้กระดาษนำเข้าเยอะ ทั้งที่เราก็มีพื้นเพด้านกระดาษมากพอสมควร จึงเป็นจุดที่เริ่มเสาะหากระดาษที่ผลิตในไทย และได้ไปเจอ ‘ชุมชนกระดาษสาบ้านตนเปา’ ที่เชียงใหม่ และ ‘บ้านโท้งหนองกระทิง’ ที่ลำปาง ซึ่งเวลานั้นธุรกิจกระดาษสาค่อนข้างซบเซา ฟังก์ชันของกระดาษถูกใช้แค่นำไปเป็นของตกแต่งและของฝาก เราใช้เวลากว่า 7 ปีจนพบอาจารย์สุพรรณ พรหมเสน ผู้ก่อตั้งช่างกระดาษเวฬุวัน ซึ่งพอดีว่าอาจารย์กับแม่ของผมเป็นเพื่อนกันและมีพื้นเพเป็นคนลำปางเหมือนกัน 

จริง ๆ เดิมทีอาจารย์สุพรรณเป็นครูสอนฟิสิกส์ แต่ด้วยความหลงใหลในศิลปะจึงผันตัวมาทำสตูดิโอกระดาษ ลองผิดลองถูก จากเคยใช้เยื่อสาอย่างเดียวก็ลองผสมกับไม้ไผ่ ต่อยอดจนได้รับการยอมรับจากศิลปินหลายท่าน เช่น อาจารย์ประสงค์ ลือเมือง อาจารย์อมรเทพ มหามาตร และอาจารย์กมล ทัศนาญชลี ต่างก็ใช้กระดาษจากอาจารย์สุพรรณสร้างชิ้นงานออกมา และทุกครั้งเวลาใครไปติดต่อซื้อกระดาษกับอาจารย์ ท่านจะถามก่อนว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร หากใช้สีน้ำ ท่านก็จะผลิตเนื้อกระดาษที่ซับน้ำหมึกได้ดีและสีไม่เพี้ยน มีความเหนียว ความหนา ลักษณะพื้นผิวจะถูกผลิตออกมาเพื่อรองรับเทคนิคในการสร้างที่ต่างกันออกไป

ในงาน Chiang Mai Design Week 2020 ได้มีนิทรรศการ “Weruwan Paper Studios & Arts” จัดแสดงผลงานของศิลปินที่สร้างขึ้นจากกระดาษช่างเวฬุวันชนิดเดียวกัน ซึ่งผมเองก็ได้ใช้สร้างผลงาน Untitled, 2020 โดยใช้สีน้ำมันในกระบวนการพิมพ์มาวาดลงบนกระดาษโดยใช้ลูกกลิ้งเป็นเครื่องมือวาดแทนพู่กัน จนได้ภาพสีน้ำมันที่อิ่มบนกระดาษที่แสดงอรรถรสดึงความเป็นเนื้อของสีน้ำมันได้ดี พื้นผิวของกระดาษยังมีเสน่ห์และสร้างมิติสวยงาม

ผู้ที่สนใจสามารถชมการจัดแสดงผลงาน PAPER BLOG โดย Coth studio ที่นำเสนอผลงานกระดาษซึ่งถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ "โคมไฟกระดาษ" โดยฝีมือช่างกระดาษเวฬุวัน หนึ่งในผลงานโชว์เคสภายในงาน Bangkok Design Week 2021 ได้ที่ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (MDIC) ชั้น 2 TCDC กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน - 31 กรกฎาคม 2564 หรือคลิก bangkokdesign-week.com/program/81115

ที่มา : นิทรรศการ “Weruwan Paper Studios & Arts” จัดแสดงในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2563 (Chiang Mai Design Week 2020) และนิทรรศการ “PAPER BLOG” บันทึกที่ยังไม่สิ้นสุดของกระดาษทำมือ จัดแสดงที่ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (MDIC) ชั้น 2 และ Creative Space ชั้น 5 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ

เรื่อง : ธีรภัทร ศรีวิชัย