Earth needs (YOU) r gift…เทศกาลมอบของขวัญ (ให้) โลก
Technology & Innovation

Earth needs (YOU) r gift…เทศกาลมอบของขวัญ (ให้) โลก

  • 01 Dec 2019
  • 31318

ฟองพิษขาวปุยลอยละล่องเหนือแม่น้ำยมุนา หมีขั้วโลกผอมโซที่ความหิวบีบให้ต้องออกมาหากินในเมือง ไฟป่าลุกลามใหญ่โตจนคร่าชีวิตโคอาล่าไร้เดียงสาแทบจะสูญพันธุ์ ...ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงมาก ๆ แล้วกับคำว่า “โลกที่ไม่น่าอยู่” 

ก่อนที่โลกของเราจะกลายเป็นแบบนี้ โลกให้พื้นที่เราหาอาหาร ให้เราได้มีที่พักอาศัย ให้เราได้เป็นพลเมืองที่มีน้ำ มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ และอะไรต่อมิอะไรอีกมากที่เรา “ได้” มา จนแทบลืมไปว่าเรากำลัง “รับ” สิ่งดี ๆ เหล่านี้มาจากโลก ที่สำคัญเราไม่แค่ลืมที่จะตอบแทน แต่มนุษย์ยังต้องการจากโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ หากเรายังไม่หยุด โศกนาฏกรรมคงมีไม่วันจบ

ปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ ลองบรรจุการตอบแทนโลกให้เป็นอีกหนึ่งเป้าหมาย กับหลากหลายวิธีที่มนุษย์อย่างเราจะช่วยมอบคืนเป็นของขวัญให้โลกได้ และเพื่อให้เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืนที่สุดเช่นเดียวกัน

©Dose Juice/Unsplash

ของขวัญชิ้นแรก : อาหารแสนอร่อย
ราว 30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในยุโรปเกิดจากการผลิตอาหาร แถมอาหารส่วนใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วเป็นของทิ้งขว้าง เฉพาะในอเมริกาอาหารถูกทิ้งไปเกิน 50% ขณะที่อังกฤษมีขยะอาหารกว่า 20 ล้านตันต่อปี ส่วนญี่ปุ่นทิ้งอาหารไปเป็นมูลค่าปีละกว่า 11 ล้านล้านเยน

องค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อม (The Environmental Protection Agency) ได้พัฒนา “พีระมิดขยะอาหาร (Food Waste Pyramid)” เพื่อมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้วงจรขยะอาหารและหลีกเลี่ยงอาหารสู่แหล่งฝังกลบในที่สุด พีระมิดนี้ตีแผ่การจัดการขยะอาหารในทุก ๆ ระดับ ตั้งแต่จากการผลิตในฟาร์ม สู่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ยันแหล่งฝังกลบ

1. ลดการใช้วัตถุดิบ
“ในแต่ละปีผลผลิตกว่า 10 ล้านตันไม่ได้ถูกเก็บเกี่ยว” สารคดีว่าด้วยขยะอาหารเปิดเผยตัวเลขอันน่าตกตะลึง แถมการผลิตอาหารเป็นเหตุใหญ่ที่สุดในการตัดไม้ทำลายป่า การสกัดเอาน้ำมาใช้ ทำลายถิ่นฐานทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อ “ผลิตอาหาร” ให้เราได้กินกัน แต่ 1 ใน 3 ของอาหารเหล่านี้กลับกลายเป็นขยะในท้ายที่สุด 

แดน บาร์เบอร์ (Dan Barber) เชฟจากร้านอาหาร Blue Hill ในนิวยอร์กพยายามใช้ทุกส่วนของพืชผักและเนื้อสัตว์ “ดอกกะหล่ำเป็นตัวอย่างที่เยี่ยมที่สุด เวลาเราเก็บมัน เราไม่ได้ต้องการใบมันเลย ส่วนใบจึงกลายเป็นขยะเสียทั้งหมด” เซด (Zaid) ชาวสวนชาวนอร์วิชอธิบาย แดนและเพื่อนเชฟจึงปิ๊งไอเดียในการนำทุกส่วนของพืชผักมาใช้งานในมื้ออาหาร

ด้วยความคิดสร้างสรรค์จึงทำให้ทุกส่วนของพืชถูกจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีส่วนใดกลายเป็นของเหลือทิ้ง

2. เลี้ยงดูผู้หิวโหย
สถิติคนขาดแคลนอาหารในอเมริกาพุ่งสูงถึงแปดร้อยล้านคน แต่กลับมีอาหารที่ถูกทิ้งกว่า 1.3 พันล้านตันต่อปี! 

ครอบครัวเล็ก ๆ ในเมืองดอร์เชสเตอร์ แมสซาชูเซตส์ เป็นหนึ่งในครอบครัวที่เข้าไม่ถึงอาหารดี ๆ เพียงเพราะไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ตในละแวกที่พักอาศัย จะมีก็แต่ร้านอาหารจานด่วนที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สเตฟานี หนึ่งในสมาชิกครอบครัวตัดพ้อว่า “ตอนเด็ก ๆ ฉันมักจะได้กินแต่ฟาสต์ฟู้ดส์ มันฝรั่งอบกรอบ แต่พอฉันโตขึ้นและรู้ว่าของพวกนี้มีผลยังไงกับร่างกาย เลยคิดว่ามันคงดีกว่านี้ ถ้ามีอะไรที่มีประโยชน์มากกว่าและถูกกว่าของที่ฉันเคยกิน” 

Daily Table ร้านขายของชำไม่แสวงกำไรมีเป้าหมายว่า “ขายอาหารสุขภาพในราคาที่ต่ำพอจะไปแข่งกับเหล่าอาหารจานด่วน” ที่นี่นำอาหารจากซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ค้าปลีก และผู้ปลูก ที่จะพบจุดจบในถังขยะมาจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าทั่ว ๆ ไป แถมมีส่วนปรุงอาหารสดใหม่ไว้คอยบริการอีกด้วย “พอมี Daily Table มันจึงเป็นทางเลือกใหม่ที่เราจะเข้าถึงวัตถุดิบสุขภาพ มากกว่าอาหารจานด่วนในร้านพิซซ่า ถูกกว่า แถมสะดวกกว่าด้วย Daily Table จึงเป็นเหมือนสินทรัพย์อย่างหนึ่งของชุมชนนี้” แทซ (Taz) สาวผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวให้สัมภาษณ์ด้วยความดีใจ “กลายเป็นว่าได้แก้ไขปัญหาถึงสองเด้ง คือจัดการของเหลือจากที่ต่าง ๆ และนำอาหารให้เข้าถึงผู้คน” ดั๊ก โร้ช (Doug Raugh) ผู้ก่อตั้งร้าน Trader Joe’s ซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ใหญ่ของเมืองนิวยอร์กกล่าว

3. เอาไปเลี้ยงสัตว์สิ
หมูที่ฟาร์ม Tsukayama ในเมืองชิบะถูกเลี้ยงด้วย “อีโคฟีด (Eco-Feed)” จากศูนย์นิเวศด้านอาหารแห่งญี่ปุ่น หรือ J.FEC (Japan Food Ecology Center) ซึ่งทำให้หมูที่ฟาร์มแห่งนี้เป็นหนึ่งในเนื้อหมูที่อร่อยที่สุดในญี่ปุ่น

ระบบการนำเศษอาหารจากร้านและโรงงานผลิตอาหาร ไปผลิตเป็นอาหารเลี้ยงหมูของ J.FEC สามารถช่วยลดขยะอาหารได้ถึง 35 ตันต่อวัน (จาก 190 ตัน)  ขยะอาหารที่ได้รับมาจะผ่านกระบวนการย่อยคล้ายกับการปั่นน้ำผลไม้และจะถูกนำไปให้ความร้อนที่ 85-90 องศาเซลเซียสเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ด้วยการปรับค่า pH ให้เป็น 4 หรือน้อยกว่า (เท่ากับมีฤทธิ์เป็นกรด) จึงทำให้อาหารสัตว์ที่ผลิตออกมาเก็บรักษาได้นานราว 10 ถึง 14 วันในอุณหภูมิปกติ เหล่านี้เรียกว่า “หมักด้วยกรดแล็กติก (Lactic Acid-Fermented)” คล้ายกับผักดองแบบญี่ปุ่น (Stukemono) หรือโยเกิร์ตของตะวันตก “อาหารเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด มันเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนบนโลกต้องแบ่งปันกัน แม้แต่สัตว์ก็จำเป็นด้วยเช่นกัน” โคอิจิ ทากาฮาชิ (Koichi Takahashi) ผู้ก่อตั้ง J.FEC ที่บรรยายขั้นตอนในโรงงานกล่าวจบพร้อมรอยยิ้ม

4. ลองทำปุ๋ยหมัก
คุณครูจาฮ์มาล (Jahmal) กำลังสอนให้เด็ก ๆ ในโรงเรียนให้รู้จักการนำผักที่ไม่ต้องการแล้วใส่ลงในดินเพื่อทำเป็นปุ๋ยหมัก แทนที่จะโยนมันทิ้งไปเฉย ๆ ในสวนผักของโรงเรียนสีเขียว Samuel J. Green ในนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา มีการเรียนการสอนเรื่องสวนศึกษา (Garden Education Programs) ที่ดีที่สุดในประเทศ เพราะเด็ก ๆ มักกินมื้อเที่ยงที่โรงเรียนกันน้อย ของที่เหลือจึงต้องจบลงในถังขยะ แต่ที่โรงเรียนนี้กลับใช้เศษอาหารเหล่านั้นมาช่วยผลิตอาหารขึ้นใหม่ในสวน เด็ก ๆ และคุณครูจะช่วยกันเปลี่ยนจากเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยปรุงดินที่อุดมไปด้วยสารอาหาร “สำหรับเด็ก ๆ มันคือการทำความเข้าใจจุดมุ่งหมายของชีวิตว่า ถ้าฉันเลี้ยงดูโลก โลกก็จะกลับมาดูแลฉันเช่นกัน” เพราะก่อนหน้าที่จะมีสวนผัก เด็ก ๆ ก็กินแต่ขนมกรุบกรอบ ลูกกวาด และน้ำอัดลม ฉะนั้นการสอนเด็ก ๆ ให้ทำปุ๋ยหมักจึงไม่ใช่แค่การสอนให้ทำเป็น แต่มันคือการปลูกฝังให้เรียนรู้ชีวิตอย่างที่มันควรจะเป็น  “คุณไม่ได้เปลี่ยนแค่เด็ก คุณกำลังเปลี่ยนครอบครัวพวกเขาที่ส่งผลให้ชุมชนและเมืองเปลี่ยนไปด้วย เมื่อหลาย ๆ เมืองเปลี่ยน ประเทศชาติก็จะเปลี่ยน และนั่นแหละถึงจะเปลี่ยนโลกใบนี้ได้”

5. หลุมศพอาหาร
“อาหารในอเมริกามากกว่า 90% พบจุดจบที่หลุมฝังกลบ นั่นเป็นเรื่องที่บ้าบอมาก” ทริสแทรม สจ๊วร์ต (Tristram Stuart) นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องขยะอาหารของโลก ผู้ก่อตั้ง Feedback องค์กรไม่แสวงผลกำไร และผู้เขียนหนังสือ Waste: Uncovering the Global Food Scandal กล่าว

วิธีที่เราไม่ควรทำกับขยะอาหารคือการส่งมันไปยังหลุมฝังกลบ เพราะเมื่อเศษอาหารย่อยโดยไร้ออกซิเจนมันจะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า เราจึงไม่ควรคิดแค่ว่ามันเป็นเศษอาหารแล้วมันจะย่อยสลายได้รวดเร็ว เพราะในหลุมฝังกลบไม่เป็นเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น หัวผักกาดหอมแค่หัวเดียวใช้เวลาย่อยสลายในหลุมฝังกลบกว่า 25 ปี การหลีกเลี่ยงที่จะส่งขยะอาหารไปหลุมฝังกลบจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ สำหรับเยอรมัน สวีเดน และเกาหลีใต้

ในปี 2013 รัฐบาลเกาหลีใต้ออกมาจัดการกับปัญหาขยะอาหารด้วยตนเองด้วยการปฏิวัติระบบใหม่ทั้งหมด และงัดมาตรการ “ทิ้งเท่าไร จ่ายเท่านั้น” ออกมาใช้

ถังขยะสำหรับทิ้งขยะอาหารที่หน้าตาแปลกออกไปจากที่เคย แถมมีระบบสำหรับบันทึกการทิ้งขยะในแต่ละครั้งพลเมืองจะมีบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สำหรับเปิดถังขยะอัตโนมัติ และสามารถชั่งน้ำหนักขยะอาหารได้ หลักการง่าย ๆ คือทุกคน “ต้อง” แยกขยะอาหารออกจากขยะอื่น ๆ ก่อนนำมาเทในถังที่จัดไว้ ทุกครั้งที่มีการทิ้งเกิดขึ้น ระบบจะทำการบันทึกไว้ และจะออกเป็นบิลสำหรับจ่ายเงินตอนสิ้นเดือนเหมือนกับค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งค่าธรรมเนียมการทิ้งขยะพวกนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณขยะที่เราได้ทิ้งไป ที่สำคัญระบบนี้สามารถช่วยลดขยะอาหารในครัวเรือนได้ถึง 30% เลยทีเดียว

©stefanoboeriarchitetti.net

ของขวัญชิ้นที่สอง : ที่พักแสนสบาย (ใจ)
สเตฟาโน โบเอรี (Stefano Boeri) สถาปนิกชาวอิตาเลียนเลื่องชื่อเนรมิตเมืองสีเขียวแนวตั้ง โดยวางแผนจะสร้าง “เมืองป่าอัจฉริยะ (Smart Forest City)” ขึ้นที่แคนคูน (Cancún) เมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของเม็กซิโก เป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติอย่างต้นไม้ใบหญ้า มาผสมผสานอยู่ในเทคโนโลยีสุดไฮเทคได้อย่างลงตัว จนลบความเชื่อที่ว่า “ความเป็นอยู่ของธรรมชาติมักสวนทางกับความเจริญก้าวหน้า” ได้หมดสิ้น 

พื้นที่กว่า 557 เฮกตาร์ (5.57 ตารางกิโลเมตร) ใกล้ ๆ กับเมืองแคนคูน เต็มไปด้วยพืชกว่า 7.5 ล้านต้น รวมถึงต้นไม้อีกหลากหลายสายพันธุ์ แถมด้วยพุ่มไม้ทรวดทรงต่าง ๆ ที่คัดสรรโดย ลอรา กัตติ (Laura Gatti) นักพฤกศาสตร์และภูมิสถาปนิกประจำทีม โดยเมืองป่าอัจฉริยะแห่งนี้จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 116,000 ตันและกักเก็บอีก 5,800 ตันต่อปี

โบเอรีจับมือกับ Transsolar บริษัทสัญชาติเยอรมันเกี่ยวกับวิศวกรรมภูมิอากาศที่มีเป้าหมายในการสร้างสภาพแวดล้อมแสนสะดวกสบายที่กระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่อสร้างให้เมืองป่าอัจริยะแห่งนี้ผลิตอาหารและพลังงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกเลย และองค์ประกอบทั้งหมดของเมืองแห่งนี้จะอิงกับหลักการ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่มีแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าใช้เป็นของตัวเอง และพื้นที่ทำการเกษตรที่จะรับน้ำจากระบบน้ำที่ฝังเอาไว้ภายในเมือง ซึ่งน้ำที่ได้จะถูกนำไปเก็บไว้ในแอ่งที่ทางเข้าของเมือง ซึ่งรวมไปถึงหอกลั่นน้ำจากทะเลแล้วจึงกระจายน้ำไปตามคลองทั่วเมือง “ไอเดียโครงการนี้จึงเป็นการสร้างย่านที่อุทิศให้กับการวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ตั้งแต่ชีววิทยาโมเลกุล หุ่นยนต์ ไอที และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเมืองที่ยั่งยืน” ทีมงานโบเอรีกล่าว 

โครงการของโบเอรียังคงต้องรอการอนุมัติต่อไป หลังจากยื่นเรื่องไปยังส่วนผังเมืองระดับภูมิภาคตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่สำหรับเราไม่ต้องรอเรื่องอนุมัติก็สามารถ “เริ่ม” ปลูกต้นไม้ได้ตั้งแต่วันนี้ พร้อมทั้งหันมาใช้พลังงานทดแทนต่าง ๆ เพื่อผ่อนเบาให้โลกและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อตัวเราเอง

©independent.co.uk

ของขวัญชิ้นที่สาม : เสื้อผ้าแสนสวย 
โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เกิดขึ้น เมื่อโรงงานเย็บผ้าแห่งรานาพลาซ่าที่บังกลาเทศพังทลายลงในปี 2013 สาวอายุน้อยที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลิตเสื้อผ้าของเหล่าแบรนด์แฟชั่นตะวันตกต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายพันคนโดยไร้ความรับผิดชอบ นั่นจึงเป็นจุดกำเนิดของ “การปฏิวัติแฟชั่น หรือ Fashion Revolution” หนึ่งในกิจการเพื่อสังคมไม่แสวงผลกำไรแห่งอังกฤษที่มีเครือข่ายทั่วโลก พวกเขามุ่งเจาะไปที่อุตสาหกรรมแฟชั่นเพื่อชี้ให้เห็นถึงความน่ากลัวของ “แฟชั่นที่รวดเร็ว (Fast Fashion)” และกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดดำเนินงานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทำร้ายโลกมากที่สุดคือ แฟชั่น เมื่ออะไรที่กลายเป็นแฟชั่น หมายถึงทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่นั่นก็คือขยะที่ตามมาอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

การเคลื่อนไหวเล็ก ๆ ของพวกเขาผ่านแฮชแท็ก #WhoMadeMyClothes ในโซเชียลมีเดีย ดูเหมือนว่าจะสร้างแรงกระตุ้นให้กลุ่มโรงงานผู้ผลิตเสื้อผ้าหันมาฉุกคิดและเปิดเผยระบบการทำงานให้มีความโปร่งใสมากขึ้น วิธีการที่พวกเขาทำก็ง่าย ๆ คือพากันถ่ายรูปตัวเองกับป้ายแบรนด์และโพสต์ แล้วถามแบรนด์นั้นว่า #WhoMadeMyClothes เพื่อส่งเสียงไปยังแบรนด์เสื้อผ้าให้เผยความโปร่งใสและซื่อตรงของตัวบริษัท โดยการระบุขั้นตอนและที่มาทั้งหมดของกระบวนการผลิตเสื้อผ้าทั้งหมด

แม้สิ่งที่พวกเขาทำอยู่คือการบอกให้แบรนด์เปลี่ยนแปลง แต่เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงด้วยตนเองได้เช่นกัน #HAULTERNATIVE คู่มือสำหรับผู้รักและหลงใหลในแฟชั่น ท้าคนให้เข้ามาแข่งกัน “ไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่” เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ดึงคนให้เข้ามาร่วมคุ้ยตู้เสื้อผ้าเพื่อเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับตัวเอง ตู้เสื้อผ้าและโลกของเราโดยไม่ต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ เพียงแค่อัดวิดีโอสั้น ๆ บอกเล่าถึงเทคนิคที่เราเลือกใช้ในการปฏิบัติกับเสื้อผ้าของเราเองแบบสนุก ๆ ว่าวิธีไหนที่เราจะเลือกใช้

1. ซ่อมแซมจุดที่ขาดและหาย (Fashion Fix) : เวลาเราใส่เสื้อผ้าจนขาดหลุดลุ่ย หรือกระดุมกระเด็นหายไป เราก็แค่เอาไปซ่อมเพื่อยืดอายุเสื้อผ้าให้อยู่กับเราได้นานยิ่งขึ้น
2. มือสองก็ได้ (2hand) : เปลี่ยนบรรยากาศการเสพเสื้อผ้าใหม่ ๆ แทนด้วยการเลือกซื้อจากร้านค้ามือสองใกล้ ๆ บ้าน
3. เอามาแลกกัน (SWAP) : ทางที่ง่ายที่สุดในการยืดอายุเสื้อผ้าของคุณคือการมอบให้เจ้าของคนใหม่ โดยการแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันกัน
4. ทำงานประดิษฐ์ (DIY) : หากไม่ชอบเสื้อผ้าที่มีอยู่แล้ว อย่าเพิ่งโยนทิ้ง แค่เปลี่ยนมันโดยการเอามาทำเป็นงานประดิดประดอย เปลี่ยนจากเสื้อยืดเป็นผ้าพันคอหรือผ้าเช็ดหน้า หรือแปลงร่างยีนส์เป็นเกาะอกสุดเซ็กซี่ เท่านี้ก็เหมือนได้เสื้อผ้าตัวใหม่แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นตัวแบรนด์หรือตัวเรา ต่างคนก็ต้องเปลี่ยนเพื่อให้วงการเสื้อผ้ากลายเป็นของขวัญที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับโลกของเรา

©macrumors.com

ของขวัญชิ้นที่สี่ : เทคโนโลยีสุดไฮเทค
“ใช้แล้วทิ้ง” กลายเป็นพฤติกรรมปกติของคนใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยนี้ ใม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แต่รวมไปถึงโทรทัศน์ รีโมต ตู้เย็น และเครื่องใช้ในบ้านอีกหลายอย่าง เหตุเพราะ “ค่าซ่อม” แพงกว่า “การซื้อใหม่” อีกอย่างคือกระแสสังคมที่เปลี่ยนบ่อย โทรศัพท์เปลี่ยนรุ่นเร็วขึ้น และการที่ผู้ผลิต “จงใจ” จำกัดอายุการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย

“บริษัทไม่อยากให้ข้าวของพวกนี้ย้อนกลับไปหาพวกเขาผ่านระบบรับประกันสินค้าแล้วต้องรับผิดชอบพวกมันอีก มันง่ายกว่าที่จะทำลายมันทิ้งไปเลย” เรนี่ ไกด์ สาวในโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในเมืองโรสวิลล์ แคลิฟอร์เนียเล่าให้ฟัง พร้อมกับบอกความจริงอันน่าประหลาดใจว่า ข้าวของส่วนใหญ่ที่ถูกนำมารีไซเคิลเป็นของใหม่กว่าครึ่ง 

กองขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนมาก (กว่าร้อยละ 80) “มักจะ” ถูกส่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังประเทศกำลังพัฒนาเพื่อจัดการรีไซเคิล เพราะกฎหมายของประเทศเหล่านั้นเข้มงวดในการห้ามเก็บของมีพิษไว้ในประเทศ และค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลก็สูงกว่าการส่งไปยังประเทศด้อยพัฒนาที่ค่าแรงถูกกว่า แต่ทุกวันนี้ หลายที่ได้พากันส่งขยะกลับไปในที่ที่มันจากมา เหตุการณ์นี้จึงบีบให้หลายบริษัท “ปรับตัว” เพื่อจัดการและทำการรีไซเคิลขยะเหล่านั้นเสียเอง

“เปลี่ยนอุปกรณ์ที่คุณมีให้เป็นอุปกรณ์ที่คุณต้องการ” เป็นสโลแกนการรับคืนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือของแอปเปิล (Apple Trade in) เพื่อแลกเป็นบัตรของขวัญไปใช้ซื้อสินค้าในร้าน หรือแม้แต่นำมาเป็นส่วนลดในการซื้อไอโฟนเครื่องใหม่อุปกรณ์ที่พังจนไม่สามารถใช้ได้แล้ว ทางแอปเปิลก็ยินดีรับเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อ เพราะเป้าหมายคือการผลิตโดยไม่ต้องจัดหาทรัพยากรเพิ่มอีก ที่แอปเปิลมีตัวช่วยอย่างเดซี่ (Daisy) หุ่นยนต์แยกชิ้นส่วนไอโฟนที่สามารถแยกไอโฟนได้ถึง 200 เครื่องต่อชั่วโมง แถมยังเก็บวัตถุดิบมีค่าแยกออกจากวัตถุดิบอื่นได้ด้วย เดซี่กำลังทำงานอย่างขยันขันแข็งในอเมริกาและจะเดินทางออกไปประเทศอื่น ๆ ในไม่ช้า แม้ว่าที่บ้านเรายังไม่เปิดกว้างรับรีไซเคิลอุปกรณ์รุ่นอื่น ๆ เท่าที่สาขาแม่ในอเมริกา แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่บริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นก้าวที่ถูกทาง เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “ใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดบนโลกอย่างคุ้มค่าและนำกลับมาใช้ใหม่ได้” นั่นเอง

เพราะจุดที่จะแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ดีที่สุดคือต้องแก้แต่ต้นทาง ที่ผู้ผลิตต้อง “ปรับตัว” ทำให้ของใช้ได้ทนและนานขึ้น อันตรายน้อยลง ปรับรุ่นให้เข้ากันได้ ซ่อมและรีไซเคิลได้ง่ายที่สุด อย่างน้อย ๆ แอปเปิลก็ได้ “เริ่ม” แล้ว
 

ของขวัญชิ้นสุดท้าย : ถุงพลาสติก VS ถุงกระดาษ VS ถุงผ้า
ข่าวการจัดอันดับประเทศที่ปล่อยขยะลงทะเลมากที่สุดสร้างความหวังเล็ก ๆ ให้กับชาวไทย จากแต่เดิมเคยครองอันดับที่ 6 ของโลก ก็ร่วงมาอยู่อันดับที่ 10 แล้ว นับเป็นสัญญาณที่ดีในการเดินหน้าลด ละ เลิก การแจกถุงพลาสติกในไม่กี่วันข้างหน้านี้

เมื่อ 60 ปีก่อน (ปีค.ศ. 1959) พลาสติกถูกคิดค้นขึ้นโดยสเตน กุสตาฟ ธูลิน (Sten Gustaf Thulin) วิศวกรชาวสวีเดน เพียงหวังเพื่อให้มาทดแทน “ถุงกระดาษ” ที่เป็นผลผลิตจากการตัดต้นไม้จำนวนมหาศาล คุณสมบัติของพลาสติกคือ เบา แข็งแรง และทนทาน เขาจึงหวังให้ทุกคนใช้ถุงพลาสติกกันซ้ำ ๆ แทนการใช้ถุงกระดาษ แต่ในปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น “ถุงพลาสติกใช้สะดวกมาก แต่คนเราก็ขี้เกียจมากเกินไป พอใช้เสร็จเราก็แค่โยนมันทิ้งไป ความจริงถุงพลาสติกไม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพียงเพื่อใช้แค่ครั้งเดียว” สิ่งที่เลวร้ายกว่าพลาสติกกลับเป็นถุงกระดาษและถุงผ้า เพราะทั้งคู่ผลาญพลังงานและน้ำมากกว่าหลายเท่า แล้วถ้าถามว่า “ฉันจะใช้ถุงแบบไหนดีล่ะ ถ้าฉันอยากจะช่วยโลก” คำตอบก็คือ ใช้ถุงที่คุณ “มีอยู่แล้ว” ซ้ำไปเรื่อย ๆ และเมื่อมันขาดก็แค่ซ่อมมัน ไม่ก็เอาไปรีไซเคิลเสีย

สุดท้ายพลาสติกก็อาจจะไม่ได้ผิดอะไร แต่เป็นตัวเราเองมากกว่าที่ใช้มันแบบ “ไม่รู้คุณค่าและไร้ความรับผิดชอบ” แต่นั่นก็รวมถึงการไม่มีระบบจัดการที่เหมาะสมอีกด้วย 

*หลายประเทศเริ่มคิดเงินค่าถุงพลาสติก เช่น ในไอร์แลนด์ อังกฤษ เดนมาร์ก ฯลฯ 

*บางประเทศก็ตัดปัญหาโดยการแบนไปเลย เช่น นิวซีแลนด์ โมร็อกโก ฝรั่งเศส ฯลฯ 


อย่าลืมว่าทุกพฤติกรรมการบริโภคของเรามีส่วน “ช่วย” หรือ “ทำลาย” โลกนี้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะกรีดบาดแผลให้ลึกลงไปจนเกินจะรักษา หรือจะช่วยทำแผลของโลกให้ทุเลาด้วยการมอบ “ของขวัญ” ...เพียงชิ้นเล็ก ๆ ก็ยังดี

ที่มาภาพเปิด : Cristi Goia/Unsplash

ที่มา :
หนังสือ “เรื่องเล่าของข้าวของ (The Story of Stuff)” โดย แอนนี่ เลียวนาร์ด  
หนังสือ “กินกู้โลก ตีแผ่ผลจากการกินทิ้งกินขว้างที่คุณต้องตะลึง! (Waste: Uncovering The Global Food Scandal)” โดย ทริสแทรม สจ๊วร์ต 
สารคดี “Wasted! The Story of Food Waste (2017)” โดย Anna Chai และ Nari Kye 
บทความ “Stefano Boeri unveils Smart Forest City covered in 7.5 million plants for Mexico” โดย Eleanor Gibson (25 ตุลาคม 2019) จาก dezeen.com
บทความ “The Best Answers To #WhoMadeMyClothes This Fashion Revolution Week” โดย Olivia Pinnock (4 พฤษภาคม 2018) จาก forbes.com
บทความ “เรากลายมาเป็น “สังคมใช้แล้วทิ้ง” กันได้อย่างไร?” (11 พฤศจิกายน 2019) จาก greenpeace.org
วิดีโอ “Why paper bags are worse for the planet than plastic” (18 ตุลาคม 2019) จาก bbc.com
fashionrevolution.org
apple.com

เรื่อง : วนบุษป์ ยุพเกษตร