สัมภาษณ์งานยุคใหม่...ได้งานตรงใจด้วยเทคโนโลยี VR
Technology & Innovation

สัมภาษณ์งานยุคใหม่...ได้งานตรงใจด้วยเทคโนโลยี VR

  • 01 Jan 2020
  • 33801

ปัจจุบันเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) หรือเทคโนโลยีเสมือนจริง ที่สร้างประสบการณ์ระหว่างโลกเสมือนจริงและโลกจำลองแบบดิจิทัลให้สามารถตอบสนองกับสิ่งจำลองโดยใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย การออกคำสั่งด้วยเสียง หรือตั้งค่าควบคุมการใช้งานได้นี้ ไม่ได้ถูกนำไปใช้เป็นแค่อุปกรณ์เพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังกลายมาเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยพัฒนางานด้านการจัดการทรัพยากรบุคคลได้เป็นอย่างมาก ตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากรไปจนถึงการอบรมและฝึกฝนทักษะของพนักงาน โดยการคัดเลือกบุคลากรด้วยเทคโนโลยี VR นี้ ไม่เพียงทำให้ทีมทรัพยากรบุคคลสรรหาบุคคลที่ตรงตามความต้องการได้แล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตัวผู้สมัครเองในการตัดสินใจที่จะเข้าทำงานในองค์กรนั้น โดยไม่เสียเวลามองหาองค์กรที่เหมาะสมกับทักษะที่ตนเองมีอีกด้วย 

โดยปกติกระบวนการสรรหาบุคลากร เจ้าหน้าที่หรือทีมทรัพยากรบุคคลจะสัมภาษณ์ผู้สมัครเพื่อสอบถามถึงทัศนคติ แนวคิด รวมถึงเหตุผลในการเลือกองค์กรนั้น ๆ ให้เหมาะสมและมีคุณสมบัติตรงตามตำแหน่งให้มากที่สุด แต่การสัมภาษณ์ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือการตอบคำถามไม่กี่คำถามอาจไม่เพียงพอให้ตัดสินใจรับบุคคลที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้ อีกทั้งตัวผู้สมัครเองก็อาจจะได้รับการตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดช่องว่างเล็ก ๆ ที่ทำให้เทคโนโลยี VR ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์กรในหลายอุตสาหกรรม โดยบทบาทสำคัญคือการช่วยให้ผู้สมัครได้ทดลองทำงานผ่านโลกเสมือนจริงในสถานการณ์จำลองหลายรูปแบบที่จะเกิดขึ้นจริงในโลกของการทำงาน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการตอบรับเข้าทำงานของผู้สมัครเอง รวมถึงทีมทรัพยากรบุคคลก็สามารถประเมินความสามารถของผู้สมัครได้ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่

มากไปกว่านั้น เทคโนโลยีดังกล่าวยังถูกนำมาใช้ในกระบวนการอบรมและฝึกทักษะพนักงานในหลายองค์กรทั่วโลก อย่างเช่นกองทัพบกของอังกฤษหรือ British Army ที่นำอุปกรณ์ VR มาใช้ร่วมกับการทดสอบและฝึกทักษะด้านการทหาร หรือบริษัทฟาสต์ฟู้ด KFC ที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ฝึกสอนพนักงานให้ทอดไก่ได้ตามสูตรของบริษัท นอกจากนี้บริษัท Talespin ผู้พัฒนาโปรแกรม Virtual Human Training Technology ได้นำซอฟต์แวร์มาติดตั้งบนอุปกรณ์แว่นตาที่สร้างภาพเสมือนจริงในการจำลองสถานการณ์ที่ยากต่อการรับมือ อย่างกรณีการปลดพนักงานออก ซึ่งเป็นบทสนทนาที่ยากต่อการสื่อสารและส่งผลต่อจิตใจมาใช้ฝึกทักษะการสื่อสารกับผู้บริหารหรือทีมทรัพยากรบุคคล โดยผู้ฝึกจะต้องสวมแว่นตาเสมือนจริงเพื่อเริ่มเข้าสู่โปรแกรมการฝึก เมื่อเข้าไปแล้วจะพบกับพนักงานเสมือนจริงที่จะต้องถูกไล่ออก ซึ่งผู้ฝึกจะต้องตอบโต้บทสนทนาให้สถานการณ์ออกมาดีที่สุด และยังเปิดให้ติดตามผลที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานเสมือนจริงได้ด้วย 

แม้จะมีการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในการพัฒนาองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม หัวใจหลักของการพัฒนาองค์กรก็คือ “บุคลากร” ผู้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันองค์กรสู่ความสำเร็จ ทำให้หน่วยงานด้านการจัดการทรัพยากรบุคคลต่างมุ่งหาแนวทางในการคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสมและสร้างคุณค่าให้กับองค์กรได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันผู้สมัครเองก็ควรจะมีสิทธิ์รับรู้ถึงความคาดหวังในการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร รวมถึงประสบการณ์ที่จะได้จากองค์กรอย่างแท้จริงเช่นกัน

ที่มา : 
บทความ “Become Better Human : Using Virtual Human Technology for Interpersonal Skill Development” โดย Kyle Jackson จาก talespin.company 
บทความ “How VR is Transforming HR” โดย Emma Kennedy จาก edition.cnn.com

เรื่อง : ณัฐณิชาต์ ศิริวัลลภ