VIRTUAL MUSEUM EXPERIENCES การเสพศิลป์จากพิพิธภัณฑ์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม EP.1
Technology & Innovation

VIRTUAL MUSEUM EXPERIENCES การเสพศิลป์จากพิพิธภัณฑ์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม EP.1

  • 26 May 2020
  • 12778

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกต้องรับมือกับวิกฤตการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โรคระบาดนี้ไม่เพียงทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 3.5 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่า 2 แสน 5 หมื่นคน หากยังส่งผลกระทบต่อทุกด้านของชีวิต รวมทั้งระบบเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนที่ล้มครืน ด้วยเหตุจากนโยบายล็อกดาวน์ที่ทำให้หลายอย่างต้องหยุดชะงัก

นอกจากธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และสายการบิน จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก พิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีศิลปะก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เพราะต้องปิดให้บริการเพื่อให้สอดรับกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จึงสูญเสียรายได้ก้อนโตในเวลาไม่นาน วิกฤตนี้ทำให้พิพิธภัณฑ์ได้รับผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร อะไรคือวิธีรับมือและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และภาครัฐควรดำเนินนโยบายใดเพื่อช่วยเหลือพิพิธภัณฑ์บ้าง

©Michał Parzuchowski/Unsplash

โรคระบาดแห่งยุคสมัยกับผลกระทบยิ่งใหญ่ที่มีต่อพิพิธภัณฑ์
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) และสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ (International Council of Museums: ICOM) ตระหนักถึงปัญหาที่พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกกำลังเผชิญ จึงจัดสัมมนาออนไลน์ (เว็บบินาร์) เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ในหัวข้อ “Coronavirus (COVID-19) and Museums: Impact, Innovations and Planning for Post-Crisis” โดยเชิญบุคคลสำคัญจากแวดวงพิพิธภัณฑ์ชื่อดังทั่วโลก รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและท้องถิ่นจำนวน 9 คน ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถึงผลกระทบและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่พิพิธภัณฑ์ทั้งหลายอาจลองนำไปปฏิบัติได้ในช่วงที่คลื่นโควิด-19 ถาโถมและผ่านพ้นไปแล้ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและบทบาททางสังคมของพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกทั้งที่บริหารงานโดยรัฐและเอกชน ต่างต้องปิดให้บริการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ทำให้รายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดและความมั่นคงทางการเงินอยู่ในความเสี่ยง นอกจากรายได้ที่ลดลง พิพิธภัณฑ์ยังได้รับการสมทบทุนจากองค์กรการกุศลและการบริจาคน้อยลงตามไปด้วย American Alliance of Museums (AAM) ประเมินว่าเกือบร้อยละ 30 ของพิพิธภัณฑ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็กหรืออยู่ในต่างจังหวัดของอเมริกา จะยังไม่กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งจนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินอย่างทันท่วงที

รายได้ที่ลดลงส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงานต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์และระบบนิเวศของพิพิธภัณฑ์ จากการสำรวจข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก พบว่าพิพิธภัณฑ์หลายแห่งต้องลดเงินเดือนและปลดพนักงานออก โดยเฉพาะพนักงานชั่วคราวและผู้รับจ้างจากภายนอกที่มีส่วนร่วมในการจัดพิมพ์ จัดนิทรรศการ ทำสื่อโฆษณา ฯลฯ รวมทั้งอาจมีการจ้างงานบริษัทเล็ก ๆ และผู้รับจ้างอิสระน้อยลง ซึ่งแม้คนเหล่านี้ไม่ได้ทำงานในพิพิธภัณฑ์โดยตรง แต่ก็นับเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่อาจพักโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับชุมชนไว้ก่อน และในระยะกลาง อาจมีศักยภาพในการสร้างสรรค์โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับชุมชนน้อยลง

ชางอินคยอง (Chang In-kyung) ผู้อำนวยการก่อตั้ง Iron Museum ในเกาหลีใต้ เผยผลสำรวจที่จัดทำโดย Korean Museum Association (KMA) ซึ่งสอบถามจากพิพิธภัณฑ์จำนวน 122 แห่ง พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์เดือนเดียวทุกที่มีรายได้ลดลง พิพิธภัณฑ์เอกชนสูญเสียรายได้มากถึงราว 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่พิพิธภัณฑ์เอกชนขนาดเล็กประสบปัญหาในการประคับประคองธุรกิจ ขาดกระแสเงินสด ไม่มีสภาพคล่องทางการเงิน เป็นเหตุให้ต้องเลิกจ้างพนักงานหรือให้พักร้อนโดยไม่ได้รับเงินเดือน "ผลสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าธุรกิจพิพิธภัณฑ์อ่อนแอหนักเข้าขั้นฉุกเฉิน แม้จะปิดบริการมาแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม" ชางอินคยองกล่าว

©Ståle Grut/Unsplash

พิพิธภัณฑ์จะไปต่อได้อย่างไร  
แต่ละประเทศมีมาตรการในการช่วยเหลือพิพิธภัณฑ์แตกต่างกันไป เช่น การช่วยเหลือทางการเงินอย่างเร่งด่วน การช่วยเหลือเรื่องรายได้ การใช้มาตรการจูงใจทางภาษี ฯลฯ นาตาลี บอนดิล (Nathalie Bondil) ผู้อำนวยการทั่วไปจาก Montreal Museum of Fine Arts (MMFA) พิพิธภัณฑ์เอกชนในแคนาดาเผยว่า สถานการณ์ที่แต่ละพิพิธภัณฑ์เผชิญย่อมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทและขนาดของพิพิธภัณฑ์ เช่น เป็นพิพิธภัณฑ์ของรัฐหรือเอกชน มีขนาดใหญ่หรือเล็ก สำหรับ MMFA ที่แม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ และได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น แต่ก็เผชิญกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงินเช่นกัน จึงต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนเรื่องพนักงานอย่างยากลำบาก 

แม้แต่พิพิธภัณฑ์ของรัฐที่หลายคนคิดว่าน่าจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ในหลายประเทศ รายได้ของพิพิธภัณฑ์มาจากการจำหน่ายบัตรเข้าชมหรือกิจกรรมโฆษณาอื่น ๆ ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังต้องจ่ายค่าเช่าสถานที่อีกด้วย จึงเห็นได้ว่าพิพิธภัณฑ์ของรัฐก็ต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ยากจะรับมือเช่นกัน 

มัตเตีย อาเยตติ (Mattia Agnetti) ผู้อำนวยการบริหารจาก Fondazione Musei Civici di Venezia (MUVE) กล่าวว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เมืองเวนิสในอิตาลีเผชิญปัญหาน้ำท่วม และตอนนี้ยังต้องรับมือกับความท้าทายใหม่ที่ยากยิ่งกว่า คือโควิด-19 ที่อิตาลีกลายเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จะส่งผลกระทบต่อพิพิธภัณฑ์นานหลายเดือน และคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10-12 เดือนถึงจะกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติอีกครั้ง "สิ่งที่น่าสนใจคือกลายเป็นว่าตอนนี้การนำเสนอผลงานศิลปะผ่านสื่อดิจิทัล เป็นกิจกรรมเดียวที่พิพิธภัณฑ์สามารถมอบให้แก่ผู้เสพงานศิลปะได้" นี่นำมาสู่คำถามที่ชวนให้พิจารณาไปไกลกว่านั้น ว่าการเข้าชมผลงานศิลปะทางออนไลน์ ควรเป็นบริการที่ผู้เข้าชมต้องจ่ายค่าบริการหรือไม่หากมาตรการล็อกดาวน์ยังคงดำเนินต่อไปอีก 

สำหรับในระยะกลาง ปัญหาอีกข้อที่พิพิธภัณฑ์มีแนวโน้มต้องรับมือ คือการมีข้อจำกัดในการสร้างสรรค์โปรเจ็กต์ทางวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมีทรัพยากรที่จะนำมาสร้างสรรค์ผลงานน้อยลง อาเยตติให้ความเห็นว่า "นอกจากเราควรมีทรัพยากรในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังจำเป็นต้องเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศกับพิพิธภัณฑ์ องค์กร หรือสถาบันทางศิลปะอื่นๆ ให้มากขึ้น ซึ่งความร่วมมือนี้นอกจากจะยังประโยชน์เรื่องการสร้างสรรค์โปรเจ็กต์ทางวัฒนธรรม ยังช่วยให้ทีมงานทุกคนได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆ เสริมสร้างศักยภาพ และฝึกฝนทักษะให้ตัวเอง" 

จวน โรคา (Joan Roca) ผู้อำนวยการของ Museum of the History of Barcelona (MUHBA) ถึงขั้นย้ำให้เรามองว่าตอนนี้พิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอันซับซ้อน เปรียบเป็นสปีชีส์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ทีเดียว พิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะด้านอนุรักษ์และบูรณะชิ้นงานศิลปะ การวิจัย การจัดทำนิทรรศการ การจัดทำโสตทัศนูปกรณ์ การจัดทำแอพพลิเคชัน การจัดทำหนังสือ ฯลฯ แต่ในภาวะวิกฤต ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ต้องถูกเลิกจ้าง  จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อปกป้องเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ โรคากล่าวว่าพิพิธภัณฑ์กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลง และวิกฤตโควิด-19ที่เผชิญอยู่ อาจนำไปสู่โอกาสในการสร้างสรรค์หรือใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ และทำอะไรที่แตกต่างจากเดิม “การถูกจำกัดขอบเขตยิ่งช่วยลับจินตนาการให้แหลมคม และนี่ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การคิดเพื่ออนาคต" เขาสรุป

และเมื่อศิลปะต้องเปลี่ยนมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ หน้าตาและฟังก์ชันจะเป็นอย่างไร ศิลปินและผู้ทำงานเบื้องหลังจะสร้างสรรค์พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรีของพวกเขาไปในทิศทางไหน รสชาติของการเสพงานศิลป์จะสนุกกว่าเดิมหรือไม่ ติดตามต่อใน EP.2 ในบทความ VIRTUAL MUSEUM EXPERIENCES

ที่มา : 
บทความ “COVID-19: Culture and Museums” จาก veilletourisme.ca
สัมมนาออนไลน์ “Coronavirus (COVID-19) and Museums: Impact, Innovations and Planning for Post-Crisis” โดย OECD จาก oecd.org

เครดิตภาพเปิด : กวีพัฒน์ ผุยเจริญ

เรื่อง : ศันสนีย์ เล้าอรุณ