จุฬาฯ ไม่ล้าหลัง... บทบาทของมหาวิทยาลัยอายุเกินร้อยที่ใช้นวัตกรรมทันสมัยสู้โควิด-19
Technology & Innovation

จุฬาฯ ไม่ล้าหลัง... บทบาทของมหาวิทยาลัยอายุเกินร้อยที่ใช้นวัตกรรมทันสมัยสู้โควิด-19

  • 19 Jun 2020
  • 11886

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา QS World University Ranking ได้ทำการประกาศผล QS World University Ranking 2021 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่ได้ก้าวเข้าสู่ 100 อันดับแรกในด้านมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านวิชาการ (Academic Reputation) แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นจากตัวแทนนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษากว่า 100,000 คนทั่วโลก 

หากแต่ตัวเลขอันดับไม่อาจชี้ให้เห็นถึงรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความเชื่อมั่นเหล่านั้นได้ ในการนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงจัดงานเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เรื่อง “นวัตกรรมจุฬาฯ เพื่อสังคม” พร้อมอัปเดตให้เห็นถึงเรื่องราวรอบรั้วจุฬาฯ กับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 อันสอดคล้องกับหลัก 3 แกนที่จุฬาฯ ยึดมั่นพัฒนา ได้แก่ คน นวัตกรรม และความยั่งยืนทางสังคม

CU สู้โควิด ถอดงานวิจัยสู่นวัตกรรมต้านโรคระบาด
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สรรสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ โดยนวัตกรรมต่าง ๆ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งจากคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยและเครือข่ายพันธมิตร ส่งผลให้เกิดขึ้นเป็นชิ้นงานที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในปัจจุบัน ดังเช่นนวัตกรรมเพื่อทีมบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากที่สุด จุฬาฯ ก็ได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อลดความจำเป็นในการติดต่อโดยตรงระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยหรือบุคลากรในภาคส่วนอื่น เพื่อช่วยในการลดความเสี่ยงที่จะติดโรค รวมทั้งลดการใช้ทรัพยากรที่จำเป็นอย่างชุด PPE หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่จะต้องทำการเปลี่ยนหลังจากทีมแพทย์เข้าไปให้บริการคนไข้ในแต่ละโซน หุ่นยนต์ตระกูล CU-RoboCovid เป็นหนึ่งในนวัตกรรมประเภทนี้ โดยประกอบด้วย “หุ่นยนต์นินจา” ผู้ช่วยสื่อสารระยะไกลที่จะทำหน้าที่ช่วยบันทึกสัญญาณชีพ “หุ่นยนต์กระจก” ตัวกลางแห่งการสื่อสารผ่านการพูดคุยทาง video conference ที่ทีมแพทย์จะสามารถสังเกตอาการได้ผ่านจอ ส่วนผู้ป่วยเองก็สามารถพูดคุยกับทีมแพทย์ได้ทันที และ “หุ่นยนต์ปิ่นโต” ผู้ช่วยขนส่งเสบียงและเวชภัณฑ์อื่น ๆ แทนทีมพยาบาล ปัจจุบันหุ่นยนต์เหล่านี้ได้ปฏิบัติหน้าที่จริงในโรงพยาบาลต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้จุฬาฯ ยังผลิต Chula Covid-19 Strip Test เพื่อการตรวจคัดกรองสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 อย่างรวดเร็ว ซึ่งเครื่องมือนี้จะทำการตรวจจากภูมิคุ้มกันที่ร่างกายผลิตขึ้นเมื่อสัมผัสกับโรคที่บุกรุก โดยหากผลตรวจพบว่าในร่างกายมีภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็อาจอนุมานได้ว่าผู้ตรวจมีโอกาสติดเชื้อ และสามารถคัดกรองส่งตรวจในขั้นตอนต่อไป โดยกระบวนการตรวจขั้นต้นนี้สามารถรู้ผลได้ภายในเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น

“เราเชื่อมั่นในศักยภาพของคณาจารย์และบุคลากรของจุฬาฯ แต่มหาวิทยาลัยก็ต้องมีช่องทางให้อาจารย์ได้นำเสนอผลงานวิจัยของตนเองออกมาในรูปแบบที่นำมาใช้ได้จริง ไม่ใช่แค่งานวิจัยที่หลายคนมองว่าอยู่แต่บนหิ้ง ล่าสุดมหาวิทยาลัยได้ปรับเปลี่ยนโมเดลในการผลักดันงานวิจัยต่าง ๆ ออกสู่สังคม เช่น การสนับสนุนให้มี CU Enterprise บริษัทสตาร์ตอัพภายใต้การบ่มเพาะของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) หรือการก่อตั้ง Siam Innovation District (SID) เพื่อให้เหล่าสตาร์ตอัพยุคใหม่ได้มีพื้นที่แสดงผลงานเต็มที่ สามารถต่อยอดและแลกเปลี่ยนความรู้สู่การสร้างความร่วมมือทางธุรกิจด้านต่าง ๆ กับเครือข่ายพันธมิตร ภาครัฐและเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ส่งนวัตกรรมมากมายออกสู่สังคม เป็นนวัตกรรมที่ขายได้หรือมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ด้วย โดยหวังว่าจะสร้างประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจให้ประเทศไทยในอนาคต และเป็นส่วนสำคัญในการบ่มเพาะสตาร์ตอัพไทยให้เติบโตสู่ระดับยูนิคอร์นทัดเทียมกับระดับสากลได้ในที่สุด” ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้รักษาการแทนอธิการบดีจุฬาฯ กล่าว

ไม่เพียงเท่านี้ จุฬาฯ ยังผลิตนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยทั่วไป เช่น ชีลด์พลัส โพรเทคติ้ง สเปรย์ (Shield+ Protecting Spray) สเปรย์ใช้พ่นหน้ากากผ้าเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกรองของหน้ากากผ้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัส น้ำ และละอองสารคัดหลั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผลงานดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการผลิตออกจำหน่ายจริง หลังภาคเอกชนให้ความสนใจร่วมผลิตนวัตกรรมดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์สู่ตลาด ซึ่งนอกจากจะทำให้หน้ากากผ้าทั่วไปมีประสิทธิภาพในการป้องกันผู้สวมใส่จากเชื้อโรคมากขึ้นแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาหน้ากากที่ขาดแคลน และยังช่วยในเรื่องของการลดขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งที่มากขึ้นจนเริ่มกระทบต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติอีกด้วย การลดการใช้ทรัพยากรดังกล่าว สอดคล้องกับแกนหลักเรื่องการพัฒนาด้านความยั่งยืนทางสังคมที่ทางจุฬาฯ ยึดมั่นและพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมมาโดยตลอด 

Blended Learning รูปแบบการศึกษาในทศวรรษใหม่
ศ.ดร.บัณฑิต ให้ความเห็นว่า “สถานการณ์โควิด-19 นั้นส่งผลกระทบไปถึงทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ภาคการศึกษา ในวันนี้สถาบันการศึกษาทั่วโลกต้องเร่งสร้าง ‘คุณค่าใหม่’ ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ให้ได้ ครูอาจารย์จะไม่ทำหน้าที่เป็นเพียง “ผู้สอน” แต่จะต้องมีลักษณะการเรียนการสอนแบบ Blended Learning คือรวมเอาจุดแข็งของการสอนภายในห้องเรียน และการเรียนรู้ออนไลน์เข้าด้วยกัน อาจารย์ทำหน้าที่เป็นโค้ชช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้องค์ความรู้ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน รวมถึงในโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมหาวิทยาลัยต้องเป็น Connector หรือผู้ที่เชื่อมต่อคุณค่าใหม่จากการสอน การเรียนรู้ ไปสู่โลกแห่งการทำงานและการประยุกต์ใช้ความรู้จริงให้ได้” 

ในการจัดอันดับปีหน้านั้น ศ.ดร.บัณฑิต คาดหวังว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะได้อยู่ในอันดับที่สูงขึ้น และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะยังคงยึดมั่นทำหน้าที่ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ มีคุณค่า เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ดีขึ้นได้อีก ไม่ใช่เพียงเพื่ออันดับที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่เพื่อการสร้างคนที่มีคุณภาพ มีทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการของศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นและยั่งยืนขึ้นในทุกด้าน และเพื่อสะท้อนถึงบทบาทของจุฬาฯ ในการเป็นเสาหลักทางด้านวิชาการและต้นแบบทางนวัตกรรมเพื่อสังคม (School of Integrated Innovation) พร้อมขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง

เรื่อง : พัชรินทร์ พัฒนาบุญไพบูลย์ และ บุษกร บุษปธำรง