Air-te-na-tive Protein: โปรตีนทางเลือกจากอากาศ
Technology & Innovation

Air-te-na-tive Protein: โปรตีนทางเลือกจากอากาศ

  • 01 Sep 2020
  • 25786

“ถึงจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เวลาที่มีเรื่องลำบากใจ กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ไม่ใช่ด้วยจิตใจ” คังซุนด็อก

หนึ่งในประโยคเด็ดจากซีรีส์เรื่อง It’s Okay to Not Be Okay ที่กำลังได้รับความนิยม แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ “อาหาร” ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ และด้วยเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการ “เลือกกิน” นั้นเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางของการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของความสะอาดและคุณประโยชน์จากอาหารในแต่ละมื้อ ทำให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางอาหารจึงยังถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชากรโลกที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ภายใต้ความท้าทายของการใช้ทรัพยากรอันมีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาทุพโภชนาการและปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคต 

นักวิจัยได้นำหลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาผสมผสานกับศาสตร์แห่งการทำอาหาร จนเกิดเป็นนวัตกรรมแห่งการกินต่าง ๆ ขึ้น เช่น เจลบอลน้ำผลไม้ กระดาษกินได้จากแป้งและถั่ว เครื่องดื่มวิตามินน้ำใส หรือแม้แต่เทรนด์อาหารอนาคต (Future Food) ที่เริ่มได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคมากขึ้นอย่าง เนื้อสัตว์จากโปรตีนทางเลือก หรือเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based Meat) ที่เข้ามาทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วไป เพราะเป็นโปรตีนทางเลือกที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อน มีสารอาหารครบถ้วน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน 

ปัจจุบันเทคโนโลยีเกี่ยวกับโปรตีนทางเลือกได้ก้าวหน้าเพิ่มไปอีกขั้น ล่าสุดบริษัท Air Protein ได้เปิดตัว “โปรตีนจากอากาศ” โดยมีลักษณะเป็นผงโปรตีน ซึ่งสังเคราะห์ได้จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง สามารถนำไปแปรรูปเป็นเมนูอาหารได้หลากหลายเพื่อการบริโภคที่ยั่งยืน เทคโนโลยีที่ว่านี้ถูกพัฒนาขึ้นจากแนวคิดของนาซา (NASA) ในการผลิตอาหารให้กับนักบินอวกาศที่ต้องอยู่ภายใต้พื้นที่และทรัพยากรอันจำกัด โดยใช้หลักการพื้นฐานคล้ายกับการทำโยเกิร์ต เริ่มต้นด้วยการหมักองค์ประกอบที่ได้จากอากาศอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน และไนโตรเจน พร้อมกับน้ำและแร่ธาตุอาหาร โดยใช้พลังงานหมุนเวียนและกระบวนการผลิตโปรไบโอติก (Closed Loop Carbon Cycle) ภายในถังหมักจุลินทรีย์จนได้เป็นโปรตีนที่อุดมไปด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นทั้ง 9 ชนิด ซึ่งกระบวนการนี้ช่วยลดพื้นที่ในการทำฟาร์มปศุสัตว์ รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

และถึงแม้ว่าโปรตีนที่สังเคราะห์ขึ้นมานั้นจะมีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วนเพียงใด ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าในส่วนของ รูปลักษณ์และรสชาติ นั้นมีผลต่อจิตใจเช่นกัน ดังนั้นแล้วเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้เต็มรูปแบบจึงได้มีการนำเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติเข้ามาประยุกต์ใช้ในการเตรียมวัตถุดิบจากโปรตีนทางเลือก สำหรับเตรียมทำเมนูอาหารที่คุ้นเคยได้สมจริงมากยิ่งขึ้น โดยทาง Redefine Meat บริษัทสตาร์ตอัพจากอิสราเอล ได้เปิดตัวสเต็กเนื้อสามมิติจากพืชชนิดแรกที่มีหน้าตาและรสชาติเหมือนของจริง ผลิตภัณฑ์นี้จำลองโครงสร้างกล้ามเนื้อของเนื้อวัวได้อย่างสมบูรณ์แบบ มีโปรตีนสูง และไม่มีคอเลสเตอรอล ทางบริษัทจะเริ่มทดสอบเนื้อแปรรูปทางเลือกที่ร้านอาหารระดับไฮเอ็นด์ในอิสราเอลเร็ว ๆ นี้ เช่นเดียวกันกับเครือข่ายร้านอาหารยักษ์ใหญ่อย่าง KFC ที่มีแพลนเปิดตัวเมนูนักเก็ตไก่ชีวภาพสามมิติในปลายปีนี้ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย โดยได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์อย่างบริษัท 3D Bioprinting Solutions ที่ได้พัฒนาเซลล์ไก่ร่วมกับโปรตีนจากพืช เพื่อสร้างหน้าตา เนื้อสัมผัส และรสชาติที่เหมือนกับนักเก็ตไก่ของจริง 

ในอนาคตเราอาจได้เห็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีร่วมกับการพัฒนาอาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ไม่ใช่สำหรับเพื่อใครเพียงคนเดียว แต่เป็นเพื่อพวกเราและโลก จึงเป็นการดีที่เราจะมาลองเปิดใจและปรับตัวรับสิ่งใหม่เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนร่วมกัน 

ที่มา :
บทความ “NASA technology put to use to make ‘meat’ from air” โดย IFTNEXT จาก ift.org
บทความ “Sustainability Bulletin: August 2020: 3D-printed meat is an emerging trend” โดย Annie Johnstone จาก wgsn.com

เรื่อง : มนต์นภา ลัภนพรวงศ์