ข่าวดีของคนแพ้...การรักษาแนวใหม่ของคนแพ้ถั่ว
Technology & Innovation

ข่าวดีของคนแพ้...การรักษาแนวใหม่ของคนแพ้ถั่ว

  • 02 Sep 2020
  • 10559

ปัจจุบันทางการแพทย์มีวิธีรักษาการแพ้อาหารอยู่หลายวิธี เช่น รักษาโดยการรับประทาน (Oral Immunotherapy) คือการรับประทานอาหารที่ผู้ป่วยแพ้ในปริมาณน้อยเพื่อเฝ้าดูอาการ แล้วจึงเพิ่มปริมาณอาหารจนร่างกายสามารถทนได้และหายจากการแพ้อาหาร หรือ รักษาโดยอมใต้ลิ้น (Sublingual Immunotherapy) เป็นการหยอดสารก่อภูมิแพ้ที่สกัดจากอาหารในรูปแบบของเหลวใต้ลิ้นของผู้ป่วยเป็นเวลา 3 – 7 วัน ต่อสัปดาห์ แต่การรักษาประเภทนี้ได้ผลน้อยกว่าการรักษาแบบรับประทาน ทั้งยังใช้เวลานานถึง 3 – 5 ปี เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันอย่างสมบูรณ์ 

บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์จากฝรั่งเศส DBV Technologies วิจัยการรักษาแบบใหม่คือ การรักษาแบบติดผิวหนัง (Epicutaneous Immunotherapy) โดยออกผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า Viaskin™ Peanut สำหรับการรักษาการแพ้ “ถั่วลิสง” ในรูปแบบของแผ่นยาขนาดเท่าเหรียญทรงวงกลมที่มีพลาสติกเคลือบสารโปรตีนของถั่วลิสงสำหรับติดบนหลังของผู้ป่วยเพื่อให้ความชื้นและเหงื่อจากผิวหนังจะค่อย ๆ ละลายโปรตีนบนแผ่นพลาสติกและซึมเข้าสู่ผิวหนัง จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกันที่จะเข้ามาตอบสนอง โดยเฉพาะ Langerhans Cells เซลล์บริเวณชั้นผิวหนังกำพร้าที่ดูดซับแอนติเจน (Antigen-Presenting Cell) ซึ่งคอยกำจัดสิ่งแปลกปลอมบริเวณผิวหนังและขจัดภูมิไวของโปรตีนที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้แม้ว่าโปรตีนเหล่านี้จะเดินทางไปทั่วร่างกาย แต่ก็ไม่ส่งผลให้ระบบร่างกายดูดซึมโปรตีนถั่ว จึงไม่สร้างผลข้างเคียงหรืออาการแพ้ โดยการรักษาด้วยวิธีนี้นับเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่แพ้ถั่วอย่างรุนแรง ทำให้วิธีนี้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาแบบรับประทาน ด้วยศักยภาพของผิวหนังที่ช่วยทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กอายุ 4 -11 ปี พบว่า ตลอดการใช้การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นเวลา 3 ปี ผู้ป่วยจำนวน 54% สามารถบริโภคถั่วลิสงได้อย่างน้อย 1,000 มิลลิกรัมจึงจะแสดงอาการแพ้ แต่ก็มีผู้เข้ารับการรักษาหลายรายที่ได้รับผลข้างเคียงและต้องหยุดการรักษาไป ด้าน ท็อดด์ กรีน (Todd Green) หัวหน้าทีมวิจัยแห่ง DBV Technologies ได้อธิบายถึงการรักษาวิธีนี้ว่า “สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือเป้าหมายการรักษา ไม่ใช่เพื่อให้เราออกไปรับประทานถั่วลิสงหรือผลิตภัณฑ์ที่มีถั่วได้อย่างอิสระ แต่เป็นสร้างภูมิคุ้มกันให้แพ้น้อยลง” 

แม้ล่าสุด Viaskin™ Peanut จะยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ในประเด็นด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และการต้องปรับปรุงแผ่นยาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทางทีมวิจัยก็ยังคงเร่งพัฒนาต่อไป พร้อมเดินหน้าวิจัย Viaskin สำหรับการรักษาอาการแพ้ไข่และนม เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้ที่ต้องเผชิญกับอาการแพ้อาหารในอนาคต

ที่มาภาพเปิด : snacksafely.com

ที่มา :
บทความ “Epicutaneous Immunotherapy (EPIT)” จาก foodallergy.org
บทความ “Food immunotherapy: the future of food allergy treatments?” โดย Medical News Bulletin จาก Medical News Bulletin 
บทความ “Viaskin™ Peanut’s Long-Term Phase III Updates and What the FDA Has to Say About Them” โดย Chelsea Weidman Burke จาก biospace.com

เรื่อง : นพกร คนไว