สำรวจตลาดคน “เลือก” กิน
Technology & Innovation

สำรวจตลาดคน “เลือก” กิน

  • 02 Sep 2020
  • 16416

“มนุษย์ไม่เคยหยุดกิน”

ตั้งแต่อดีตเราออกหาอาหาร เก็บของป่า และล่าสัตว์ เพื่อประทังชีวิต เราเริ่มเพาะปลูกเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี นอกจากอาหารจะเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายแล้ว วิถีการกินของเรายังส่งผลต่อสุขภาพอย่างเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญกับการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ อีกทั้งพฤติกรรมการกินของของมนุษย์ยังมีความหลากหลายและละเอียดอ่อน บางคนเลือกกินเพราะอยากมีสุขภาพดี อีกหลายคนเลือกกินเนื่องจากความเชื่อและวัฒนธรรม เราลองมาสำรวจดูว่า ทุกวันนี้ผู้คนมีพฤติกรรมการกินอย่างไร และเราจะสร้างโอกาสจากตลาดอาหารเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

ตลาดคนเลือกกินตามความเชื่อและศาสนา

  • อาหารฮาลาล (Halal)
    อาหารที่ผ่านกรรมวิธีในการปรุงอย่างถูกต้องตามหลักบัญญัติของศาสนาอิสลาม ไม่มีส่วนผสมที่ต้องห้าม เช่น เนื้อหมู ซึ่งตลาดอาหารฮาลาลมีผู้บริโภคชาวมุสลิมทั่วโลกถึงประมาณ 2,000 ล้านคน มีมูลค่าการค้าประมาณ 162,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับ 9 ของโลก
     
  • อาหารเจ
    เทศกาลถือศีลกินผัก (และอาหารที่มีกลิ่นฉุน เช่น กระเทียม หอม หรือกุยช่าย) เพื่อบูชาเทพเจ้า ตามความเชื่อของชาวจีนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งเฉพาะในกรุงเทพฯ อย่างเดียว ค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเทศกาลกินเจมีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึงเกือบ 5 พันล้านบาทต่อปี 

ความเชื่อเรื่องวัว ๆ
“ทำไมคนไทยเชื้อสายจีนถึงไม่กินเนื้อวัว ในขณะที่คนจีนในประเทศจีนกินเนื้อวัวกันปกติ” ความเชื่อเรื่องการไม่กินเนื้อวัวของคนไทยเชื้อสายจีนนั้นไม่ปรากฏหลักฐานที่มาแน่ชัด บางแหล่งข้อมูลบอกว่าความเชื่อนี้เริ่มแพร่หลายในประเทศไทยจากอิทธิพลของซีรีส์กำเนิดเจ้าแม่กวนอิมที่ออกอากาศช่วง พ.ศ. 2528 ในขณะที่บางกลุ่มก็เชื่อว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีนโบราณ (ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากรากวัฒนธรรมฮินดู) ที่เคารพวัวเพราะเป็นสัตว์ที่คอยให้ความช่วยเหลือในการทำงานเพาะปลูก

วัวถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอินเดีย ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่บริโภคเนื้อสัตว์น้อยที่สุดเป็นอันดับสองของโลก (รองจากบังกลาเทศ) แต่ในขณะเดียวกันอินเดียก็เป็นประเทศที่ส่งออกเนื้อ มากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกเช่นกัน โดยในปี 2560 ทำมูลค่าไปกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

ตลาดคนเลือกกินผัก 
การสำรวจของ Euromonitor International พบว่า ปัจจุบันมากกว่า 40% ของผู้บริโภคในตลาดโลกเริ่มหลีกเลี่ยงที่จะรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเนื้อสัตว์บางชนิด เนื่องจากหลากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นเหตุผลด้านสุขภาพ ราคาเนื้อที่แพงขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปศุสัตว์และภาวะโลกร้อน  ส่วนคนไทยเองก็กินเนื้อสัตว์น้อยลงเช่นกัน โดยข้อมูลโดยสัดส่วนของคนไทยที่ไม่กินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านคนในปี 2552 เป็น 7.4 ล้านคน ในปี 2560 

  • มังสวิรัติประเภท Vegetarian
    กลุ่มคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ เน้นกินผักเป็นหลัก แต่สามารถกินอาหารที่มีส่วนประกอบของนมและไข่ หรือเรียกว่ากลุ่ม “Lacto-Ovo Vegetarian” ซึ่งในประเทศไทยมีสัดส่วนของคนที่เลือกกินอาหารประเภทนี้อยู่ประมาณ 4.1%
     
  • มังสวิรัติประเภท Vegan 
    การกินมังสวิรัติที่เคร่งครัดกว่ากลุ่ม Vegetarian โดยจะไม่กินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์ทุกประเภท จากการสำรวจพบว่า ในประเทศไทยมีสัดส่วนคนที่กินอาหารแบบ Vegan อยู่ 5.3%
     
  • มังสวิรัติประเภท Flexitarian 
    การกินมังสวิรัติแบบเป็นครั้งเป็นคราว เป็นการลดปริมาณการกินเนื้อสัตว์ แต่ยังไม่ได้เลิกแบบถาวร โดยอาจจะเลือกกินเฉพาะเนื้อสัตว์บางชนิด หรือ เลือกกินมังสวิรัติเป็นบางวันหรือบางเดือน ซึ่งในประเทศไทยมีสัดส่วนคนที่กินอาหารประเภทนี้อยู่ถึง 9.4%

ตลาดคนเลือกกินตามสุขภาพ

  • อาหารออร์แกนิก
    อาหารที่ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี ใช้วัตถุดิบ และสารสกัดจากธรรมชาติ ปลอดภัยต่อการบริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากเทรนด์ที่ผู้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกขยายตัวตามไปด้วย มีการประเมินว่าในปี 2560 - 2567 ทั่วโลกจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 14.45%
     
  • นมไร้แลคโตส (Lactose-Free)
    คนที่ดื่มนมวัวแล้วมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาจเป็นเพราะร่างกายมีเอนไซม์แลคเตสไม่เพียงพอต่อการย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม ซึ่ง 98% ของคนไทยอยู่ในภาวะนี้ ทำให้ตลาดของผลิตภัณฑ์ปราศจากแลคโตสกำลังเป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาปี 2557-2562  มีก็อัตราการเติบโตถึง 36.8%
     
  • แป้งไร้กลูเตน (Gluten-Free)
    กลูเตน คือ โปรตีนชนิดหนึ่งในแป้งสาลีที่พบในแป้งสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ เป็นตัวช่วยทำให้ขนมปังฟู และเนื้อนุ่ม แต่หลายคนเกิดอาการแพ้เมื่อรับประทาน แม้ผลิตภัณฑ์ไร้กลูเตนจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก แต่ในตลาดโลกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 7 % ต่อปี

ที่มาภาพเปิด : กวีพัฒน์ ผุยเจริญ

ที่มา : 
รายงาน “Lifestyles Survey: Dietary Restrictions” โดย Euromonitor International
รายงาน “Driving Forces Behind Plant-Based Diets: Climate Concern and Meat Reduction” โดย Euromonitor International 
รายงาน “’Free From’ Food Movement: Driving Growth in Health and Wellness Space” โดย Euromonitor International 
รายงาน “Free From in Thailand” โดย Euromonitor International
บทความ “อิทธิพลของ Flexitarian (การทานมังสวิรัติเป็นครั้งคราว) ต่อวงการธุรกิจอาหาร” โดย ภัทรานิษฐ์ เอี่ยมศิริ จาก scbeic.com
รายงาน “โอกาส SME ไทยชิงตลาดฮาลาลโลก” โดย K SME Analysis จาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 
รายงาน “SME ไม่จำเจ ปรับกลยุทธ์รับ เทศกาลกินเจ” โดย K SME Analysis จาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
บทความ “คนจีนในเมืองไทยไม่กินเนื้อวัว เพราะซีรีส์ฮ่องกงเรื่อง ‘กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม’ จริงหรือ?” โดย อดิเทพ พันธ์ทอง จาก gmlive.com
บทความ “Revealed: The world's most vegetarian country” โดย Oliver Smith จาก telegraph.co.uk 
บทความ “เทรนด์ออร์แกนิคยังมาแรงตลาดโลกเติบโตสูงทุกปี” โดย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จาก ismed.or.th 
บทความ “Unpacking Opportunities นมแลคโตสฟรี ทำไมคนแพ้นมถึงดื่มได้” จาก tetrapak.com 

เรื่อง : ณัฐชา ตะวันนาโชติ