เปิดที่มาสุดแปลกของสีในประวัติศาสตร์
Technology & Innovation

เปิดที่มาสุดแปลกของสีในประวัติศาสตร์

  • 01 Nov 2020
  • 8304

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมนุษย์มักเลือกใช้ “สี” ในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นตัวตน ฐานะ ความรู้สึก รวมถึงยังแฝงความหมายผ่านกลไกการสื่อสารได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้ทุกวันนี้เทคโนโลยีจะช่วยให้เราเลือกใช้เฉดสีต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้าย้อนกลับไปหลายร้อยปีก่อน กว่าจะหาสีที่เฉพาะเจาะจงหนึ่งสีได้นั้น อาจต้องเดินทางข้ามทวีปเพื่อตามหาแหล่งสีจากธรรมชาติที่ตรงเฉดกันทีเดียว 

นารายัน กานดีการ์ (Narayan Khandekar) นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์อาวุโส ผู้ดูแล Forbes Pigment Collection ภายในพิพิธภัณฑ์ศิลปะฮาร์วาร์ด (Harvard Art Museums) สหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมข้อมูลสารสี (Pigment) จากทั่วทั้งโลกกว่า 2,700 ชนิด พร้อมอธิบายถึงการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแยกแยะองค์ประกอบทางเคมีของสารสีได้อย่างละเอียดด้วยเทคนิค Raman Spectroscopy, Mass Spectrometry, Gas Chromatography และ Electron Microscopy เพื่อศึกษาวิจัยถึงประวัติความเป็นมาของสารสีในการอนุรักษ์งานศิลปะอันทรงคุณค่า รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ๆ และนี่คือเรื่องราวอันน่าเหลือเชื่อเบื้องหลังสีหายากที่น่ารู้

สีเหลืองจากฉี่วัว
บันทึกจากปี 1883 เล่าไว้ว่า ที่หมู่บ้านมีรซาปุระ ในรัฐพิหารของอินเดีย เลี้ยงวัวโดยให้กินใบมะม่วงเป็นอาหาร แล้วเก็บฉี่วัวสีเหลืองสดมาทำเป็นสีย้อม โดยได้แปรรูปเป็นก้อนทรงกลมขนาดเท่าลูกกอล์ฟเพื่อขาย แต่เมื่อปี 2001 นักประวัติศาสตร์ศิลป์ วิกตอเรีย ฟินเลย์ (Victoria Finlay) ได้เดินทางไปมีรซาปุระเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม และพบว่าในตอนนี้ไม่มีใครในหมู่บ้านทำสีย้อมสีเหลืองจากฉี่วัวอีกแล้ว ฟินเลย์ ยังได้อธิบายไว้ในหนังสือด้วยว่า “ชาวบ้านหัวเราะจนน้ำตาไหลเมื่อได้ยินวิธีการทำสีจากฉี่วัว”

สีน้ำเงินที่ราคาแพงกว่าทองคำ
สีน้ำเงินอัลตรามารีนเคยเป็นเครื่องหมายบ่งบอกสถานะทางสังคมในยุคหนึ่ง เนื่องจากในศตวรรษที่ 14 และ 15 แร่นี้ต้องขุดจากเหมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถาน ก่อนใช้ลาแบกลงมาจากภูเขา แล้วขนส่งต่อทางเรือไปยังจุดหมาย ด้วยความเป็นของหายาก ทำให้ราคาสูงอย่างไม่น่าเชื่อ คือมีราคาแพงกว่าทองคำ จนบางครั้งศิลปินต้องผสมสารเติมแต่งเข้าไปเพื่อลดปริมาณการใช้อัลตรามารีนลง แต่ในที่สุดยุคสมัยที่อัลตรามารีนมีมูลค่ามากกว่าทองก็สิ้นสุดลงในปี 1826 เมื่ออุตสาหกรรมสามารถสังเคราะห์สีน้ำเงินนี้ขึ้นมาทดแทนได้ในที่สุด

หอย 12,000 ตัวต้องสังเวยชีวิตเพื่อสร้างสีม่วงปริมาณ 1.4 กรัม
สีม่วงไทเรียนก็เป็นอีกสีหนึ่งที่เกิดมาพร้อมกับตำนาน ว่ากันว่าสีม่วงนี้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อสุนัขของวีรบุรุษโบราณชาวกรีกอย่างเฮอร์คิวลิสกินหอยสังข์หนาม (Murex Shells) บนชายหาดและวิ่งกลับไปหาเจ้านายด้วยจมูกที่เปื้อนไปด้วยสีม่วง การจะได้สีม่วงไทเรียนมา จะต้องเค้นของเหลวที่มีลักษณะเป็นครีมข้นสีแดงออกจากตัวหอย ซึ่งจะกลายเป็นสีม่วงเมื่อโดนแสงแดด และมีราคาที่แพงอย่างน่าขนลุก เพราะต้องใช้หอยถึง 12,000 ตัวในการผลิตสารสีนี้ออกมาให้ได้ในปริมาณ 1.4 กรัม ในอาณาจักรโรมโบราณ เหล่าวุฒิสมาชิกจะย้อมเสื้อผ้าเป็นสีม่วงเพื่อถึงแสดงความมั่งคั่ง แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อนักเคมีสามารถสกัดสีม่วงแบบเดียวกันได้จากน้ำมันถ่านหินด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ามากในปี 1856

สีแดงชาด...ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงของจักรวรรดิสเปน
ในยุโรปยุคกลาง สีแดงเคอร์เมสนั้นทำมาจากแมลงที่อาศัยอยู่บนต้นโอ๊กเคอร์มิสในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นสีที่หาได้ยาก จึงไม่มีใครได้ใช้สีแดงมากนักในยุคนั้น แต่หลังจากประเทศสเปนค้นพบว่าชาวพื้นเมืองอย่างชาวแอซเท็กเลี้ยงและใช้แมลงที่อาศัยอยู่ในกระบองเพชรมาผลิตสีแดงสำหรับใช้ในสิ่งทอและในเชิงอุตสาหกรรม กระทั่งมีการจ่ายบรรณาการแก่ผู้ปกครองจักรวรรดิด้วยแมลงดังกล่าวจนได้รับความนิยมแพร่หลาย โดยกลายเป็นสินค้าที่ทำกำไรได้มากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเครื่องเงิน เนื่องจากมีการใช้สีแดงจากแมลงนี้ไปทั่วโลกยกตัวอย่างเช่น สีแดงที่ปรากฏอยู่บนลิปสติกหรือแม้แต่เค้กเรดเวลเวตสีแดงสดด้วย

และถึงแม้ว่าทุกวันนี้อุตสาหกรรมจะสามารถผลิตเฉดสีขึ้นมาได้หลากหลายด้วยราคาที่เป็นมิตรมากเพียงใด แต่ทว่าเทรนด์ในการใช้งานสีที่ผลิตขึ้นจากธรรมชาตินั้นกลับมีบทบาทมากขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะสีที่ได้จากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวอย่างดอกไม้ ใบไม้ ราก และจากภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อลดการใช้สารเคมีอันตราย รวมไปถึงเพื่อสรรหานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สีจะตอบโจทย์ในการใช้งานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น 

ที่มาภาพ : Caitlin Cunningham Photography จาก harvardartmuseums.org

ที่มา : บทความ “The Crazy Stories Behind 6 Of The World’s Rarest Colors” โดย Katharine Schwab จาก fastcompany.com
บทความ “Pigment Collection Colors All Aspects of the Museums” จาก harvardartmuseums.org

เรื่อง : มนต์นภา ลัภนพรวงศ์