Mental Health First Aid ติดอาวุธกลุ่มเปราะบางยุคโควิด ด้วยห้องเรียนปฐมพยาบาลทางใจ
Technology & Innovation

Mental Health First Aid ติดอาวุธกลุ่มเปราะบางยุคโควิด ด้วยห้องเรียนปฐมพยาบาลทางใจ

  • 16 Nov 2020
  • 17794

“ตอนนี้มีเรื่องอะไรกังวลใจบ้าง” 
คำถามง่าย ๆ ที่เรามักเอ่ยกับคนรอบตัวที่กำลังมีเรื่องหนักใจ แต่น้อยครั้งที่เจ้าของคำถามจะได้ฟังเรื่องราวจากคู่สนทนาอย่างเปิดอก

เหตุผลก็เพราะว่า คนเรามักเคยชินกับการฟังเพื่อโต้ตอบ เพื่อตัดสินถูกผิด หรือเพื่อหาทางแก้ปัญหา ดังนั้นเมื่อคู่สนทนาเริ่มเล่าความในใจ หลายคนจึงเผลอพูดแทรกหรือเปลี่ยนเรื่องทั้งที่ยังเล่าไม่จบ อดไม่ได้ที่จะเสนอทางออกจากมุมมองของตัวเองด้วยความหวังดี หรือตัดสินถูกผิดดีเลวจากสิ่งที่ได้ฟัง โดยไม่ทันระวังว่าท่าทีในการฟังแบบนี้จะปิดโอกาสไม่ให้อีกฝ่ายได้ปลดปล่อยความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงเพื่อคลี่คลายความกังวลอย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อสุขภาพจิตสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสุขภาพกาย และสำคัญมากในเวลานี้ที่เราทุกคนต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในเงื่อนไขใหม่ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ใครที่มีทรัพยากรน้อยกว่าก็มักจะปรับตัวได้ยากกว่า คำถามเดียวกันนี้จึงถูกเอ่ยขึ้นโดยวิทยากรในห้องเรียนทักษะปฐมพยาบาลทางใจ “Mental Health First Aid” ซึ่งจัดอบรมให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพฯ (อสส.) อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เพื่อเป็นคำถามนำเข้าสู่แบบฝึกหัด ‘Deep Listening’ หรือ ‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’ ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทางจิตวิทยาเพื่อการบำบัด คลี่คลายอาการวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า หรือท้อแท้

อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ วิทยากรประจำห้องเรียนอธิบายว่า แบบฝึกหัดนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าอบรมแต่ละคนได้ลองสำรวจใจตัวเอง และเล่าเรื่องกังวลที่อยู่ในใจออกมาให้เพื่อนร่วมกลุ่มฟัง โดยหวังว่าประสบการณ์สั้น ๆ นี้จะทำให้พวกเขาได้สัมผัสถึงคุณค่าของการฟังอย่างลึกซึ้งที่ช่วยพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา ทำให้ผู้เล่ามองเห็นความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น เป็นแรงบันดาลใจให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำชุมชนเหล่านี้ มีความพร้อมที่จะเรียนรู้แนวคิดและวิธีปฏิบัติตัวเพื่อเป็น ‘นักฟัง’ ที่ดีของชุมชนต่อไป นอกจากบทเรียนเรื่องการฟังแล้ว อาสาสมัครยังได้เรียนรู้หลักการและเทคนิคการพูดคุยที่ทำให้คู่สนทนารู้สึกเปิดใจ พร้อมที่จะเล่าปัญหาและความกังวลที่กำลังเผชิญอยู่ รวมถึงแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการฟัง พร้อมกับอบรมแนวทางการเฝ้าระวังและวิธีการส่งต่อผู้มีปัญหาทางจิต เพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้วย

4 เทคนิคเพื่อเริ่มต้นฟังอย่างลึกซึ้ง
  • ใช้คำถามปลายเปิด (Open-ended questions) 
    เพื่อให้คู่สนทนาได้อธิบายเรื่องราว ความคิด และความรู้สึกอย่างละเอียด ช่วยในการจัดลำดับความคิดในขณะเล่า ต่างจากคำถามปลายปิดที่ผู้ถามจะได้คำตอบแค่ ใช่หรือไม่ใช่
     
  • เผยมุมเปราะบางของตัวเองก่อน (Be vulnerable) 
    เพราะธรรมชาติของคนเรามักไม่แสดงความอ่อนแอให้คนอื่นเห็น แต่หากเราเป็นฝ่ายเล่าเรื่องที่เผยให้เห็นมุมเปราะบางของตัวเองก่อน อีกฝ่ายก็จะกล้าเปิดใจเล่าเรื่องและความรู้สึกของตัวเองออกมาเช่นกัน
     
  • เข้าใจ ไม่ใช่แค่เห็นใจ (Empathize, not sympathize) 
    ‘Empathy’ หรือ ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ เป็นคีย์เวิร์ดที่ขาดไม่ได้เมื่อพูดถึงการฟังอย่างลึกซึ้ง เพราะการที่เราจะเปิดใจฟังอย่างไม่ตัดสินและเปิดกว้างได้ เราต้องไม่พิจารณาเรื่องที่ได้ฟังจากมุมมองของตัวเอง แต่ต้องวางตัวตนลง แล้วมองเรื่องนั้นจากสายตาของเจ้าของเรื่อง เพื่อเกิดความเข้าอกเข้าใจ 
     
  • สะท้อนความรู้สึก (Reflection of Feeling)
    สังเกตน้ำเสียง สีหน้า แววตา ท่าทาง ของอีกฝ่ายขณะเล่าเรื่อง จับความรู้สึกของผู้เล่าที่มีต่อเหตุการณ์ แล้วสะท้อนกลับด้วยคำพูด เช่น “สีหน้าคุณดูกังวลมากตอนที่พูดถึงเขา” หรือ “ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ที่คุณเล่านี้จะทำให้คุณรู้สึกเศร้ามาก” เพื่อให้อีกฝ่ายตระหนักถึงความรู้สึกที่แท้จริงมากขึ้น และสามารถจัดการกับความรู้สึกได้ดีขึ้น 


การอบรม Mental Health First Aid เป็นกิจกรรมช่วยเหลือในเฟสที่สองที่จัดโดยกลุ่ม “Covid Relief Bangkok” ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรเพื่อสังคมที่มีจิตอาสาและความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก โดยในเฟสแรก ศูนย์วิจัยอิสระด้านชุมชนเมือง Urban Study Lab หนึ่งในพันธมิตรหลักของกลุ่มได้วิเคราะห์ข้อมูลประชากรเพื่อระบุพิกัดชุมชนในกรุงเทพฯ ที่มีความเปราะบางสูง (รายได้ต่ำ, ประชากรสูงอายุ, ความหนาแน่นของประชากรสูง) ก่อนที่ทีมงานจะเปิดรับบริจาคอาหารและของใช้จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ ฯลฯ และนำไปแจกจ่ายให้แก่ชุมชนเหล่านั้น โดยได้รับความช่วยเหลือด้านการขนส่งจากมูลนิธิ Scholars of Sustenance และการประสานงานในพื้นที่จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพฯ (อสส.) รวมอาหารทั้งหมดที่บริจาคมากกว่า 1 ล้านมื้อภายในเวลา 5 เดือน

ปัจจุบัน การอบรมทักษะปฐมพยาบาลทางใจนี้จัดขึ้นทุกวันเสาร์ต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ที่ 20 แล้ว โดยเพิ่งขยายห้องเรียนให้รองรับอาสาสมัครได้รอบละ 35 คน และตั้งเป้าว่าจะจัดอบรมให้แก่ อสส. ในกรุงเทพฯ ให้ได้จำนวน 1,000 คน เพื่อสร้างเครือข่ายดูแลสุขภาพจิตให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางได้ 20,000 ครัวเรือน หรือ 26% ของกลุ่มเปราะบางทั้งหมดในกรุงเทพฯ (อาสาสมัครแต่ละคนทำหน้าที่ดูแลเฝ้าระวังสุขภาพของคนในชุมชนเฉลี่ย 20 ครัวเรือนต่อคน)

เสกสรร รวยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ SATI และ Covid Relief Bangkok เล่าว่า ขณะนี้ (ตุลาคม 2020) มีอาสาสมัครเข้ารับการอบรมครั้งแรกไปแล้วประมาณ 500 คน พวกเขากำลังวางแผนเปิดอบรมครั้งที่สองสำหรับอาสาสมัครหน้าเก่า เพื่อติดตามผลลัพธ์จากการอบรมและเพิ่มเติมทักษะที่จำเป็น เพราะการปฐมพยาบาลทางสุขภาพจิตนั้นเป็นทักษะที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าหากโครงการเป็นไปได้ด้วยดี หน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะให้การสนับสนุนเพื่อขยายผลไปยังเครือข่าย อสม. ในต่างจังหวัด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพจิตให้แก่ชุมชนกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ “ตอนนี้เรายังติดปัญหาในการขยายการอบรม เพราะถ้าใช้ระบบการสอนแบบออนไลน์ ก็อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับกลุ่ม อสส. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี ส่วนการจัดอบรมในห้องเรียนก็มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเข้าอบรมที่เราต้องจ่ายให้อาสาสมัครทุกคน เนื่องจากแต่ละคนก็เป็นคนในชุมชนเปราะบางด้วย ที่ผ่านมาเราใช้เงินทุนที่เหลือจากโครงการแจกจ่ายถุงยังชีพในเฟสแรก และกำลังจะเปิดระดมทุนสำหรับโครงการนี้อย่างเป็นทางการผ่านทางแพลตฟอร์มของ Socialgiver เร็วๆ นี้”

นอกเหนือจากการช่วยเหลือด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของชุมชนกลุ่มเปราะบางแล้ว ทีมงาน Covid Relief Bangkok ยังกำลังเตรียมโครงการพัฒนาทักษะเพื่อการทำงานให้คนในชุมชนอีกด้วย “ก่อนหน้านี้ที่เราทำโครงการแจกถุงยังชีพเพราะเป็นช่วงวิกฤตที่คนไม่ได้ออกไปทำงาน แต่ตอนนี้ประเทศเริ่มเปิด เงินเดือนของเขาเริ่มก็กลับมาแต่กลับมาไม่ถึงครึ่ง ส่วนใหญ่รายได้หายไปเฉลี่ย 60-70% ดังนั้นเราต้องทำให้เขาเข้าใจว่าสถานการณ์จะไม่กลับไปเหมือนเดิมในเร็ว ๆ นี้ แล้วเขาจะพัฒนาทักษะและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเพื่อไปต่ออย่างไรได้บ้าง ตอนนี้เรากำลังเตรียมทำ Business Bootcamp ร่วมกับ Rise Impact ให้คนใน 10 ชุมชนที่มีพื้นฐานการทำธุรกิจอยู่แล้ว เช่น บางคนขายก๋วยเตี๋ยว เขาอาจจะอยากใช้ Grab แต่ใช้ไม่เป็น บางคนทำปลาแห้งขาย ก็อาจจะอยากบรรจุกระป๋องแล้วทำแบรนด์ เราอยากจะเสริมทักษะการคิดเชิง Design Thinking เพื่อให้เขาได้คิดต่อว่า ในเมื่อในชุมชนมีสิ่งนี้อยู่ เขาจะต้องทำอย่างไรต่อเพื่อให้ขายได้ เราหวังไว้ว่าถ้าโครงการไปได้ดีก็อาจจะมีเงินทุนเริ่มต้นมอบให้ในรูปแบบของ Community Funding ด้วย นั่นเป็นแผนระยะยาวที่เรามองไว้” เสกสรรกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่ Facebook Group : Covid Relief Bangkok

สำหรับผู้มีปัญหาทางใจและต้องการผู้รับฟัง 
โทร.1323 สายด่วนกรมสุขภาพจิต (24 ชั่วโมง) และออนไลน์แชททางเฟซบุ๊ก
หรือ 02-713-6793 สายด่วนสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย (12.00 - 22.00 น.)
*ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ภาพประกอบ : วรารัตน์ สังข์ศาสตร์

เรื่อง : ณัฏฐนิช ตัณมานะศิริ