เก้าอี้ที่สร้างลวดลายคล้ายเทคนิคการกัดกรดด้วยเส้นผมของมนุษย์ โดยสตูดิโอ Fabio Hendry และ Martijn Rigters
Materials & Application

เก้าอี้ที่สร้างลวดลายคล้ายเทคนิคการกัดกรดด้วยเส้นผมของมนุษย์ โดยสตูดิโอ Fabio Hendry และ Martijn Rigters

  • 21 Jun 2019
  • 37643

Fabio Hendry และ Martijn Rigters สองดีไซเนอร์จากลอนดอน นำเส้นผมมนุษย์มาเผาเพื่อสร้างลวดลายบนเก้าอี้นั่งที่ทำจากอะลูมิเนียม ผลงานชิ้นนี้ได้จัดแสดงในงานเฟอร์นิเจอร์ IMM Colonge เมื่อปี 2017

Hendry และ Rigters ได้คิดค้นเทคนิคนี้ขึ้นมาด้วยตนเอง โดยแปลงวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่มากมาย ให้กลายเป็นหมึกสำหรับพิมพ์ลวดลายลงบนโลหะ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 

ดีไซเนอร์ทั้ง 2 คน เลือกใช้เส้นผมมนุษย์ ซึ่งหาได้จากร้านตัดผมทั่วไป แล้วนำเทคนิคดั้งเดิมในการทำเซรามิก มาผสมผสานกับเทคนิคการพิมพ์สมัยใหม่ อย่างการกัดกรด (etching) และการสกรีนลวดลาย แล้วปรับให้เป็นเทคนิคของตนเอง


“สิ่งสำคัญที่สุดคือการใช้วัสดุที่หาได้ตลอด ไม่มีหมด” Hendry กล่าวกับ Dezeen “เนื่องจากร้านตัดผมมีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงรับประกันได้ว่าเราจะมีวัสดุอยู่เสมอ”

“เราพัฒนาเทคนิคนี้ขึ้น เพื่อสร้างลวดลายลงบนโลหะชนิดต่างๆ”
 
The Colour of Hair เก้าอี้ที่มีขอบที่นั่งโค้งมน และฐานเก้าอี้ที่เชื่อมกับที่นั่งทั้ง 2 ด้าน

ในระหว่างการผลิต ชิ้นส่วนทั้งหมดของเก้าอี้ถูกใส่เข้าไปในเตาย่างบาร์บีคิวระดับอุตสาหกรรมเป็นเวลา 10 นาที โดยเตานี้ได้ผ่านการตั้งค่าใหม่แล้ว 

จากนั้นจึงนำเส้นผมไปวางบนชิ้นส่วนเก้าอี้ที่ร้อนเป็นเวลา 5 – 10 วินาที เส้นผมจะเปลี่ยนเป็นคาร์บอน และกลายเป็นหมึกที่ให้ลวดลายคล้ายกับการกัดกรด (etching) และการชุบผิวโลหะ (anodizing) ในทันที หลังจากนั้นจึงค่อยนำไปล้าง แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น


 
ปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นจากเคราติน ซึ่งเป็นโปรตีนหลักในเส้นผม การเปลี่ยนแปลงของเคราตินที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้จะคงอยู่อย่างถาวรและไม่ลบเลือน

“เราใช้โปรตีนเพื่อพิมพ์ลวดลาย สาเหตุที่เราเลือกใช้เส้นผมก็เพราะว่าเส้นผมเป็นโปรตีน และโปรตีนที่มากที่สุดในเส้นผมก็คือ เคราติน ซึ่งให้ผลดียิ่งขึ้นไปอีก” Hendry อธิบาย

“เราทำชิ้นส่วนอะลูมิเนียมให้ร้อนประมาณ 5 นาที หลังจากนั้นก็วางเรียงเส้นผมลงไป เมื่อเส้นผมสัมผัสกับพื้นผิวที่ร้อน เส้นผมจะกลายสภาพเป็นคาร์บอน ซึ่งจะหลอมละลายและซึมเข้าไปในเนื้ออะลูมิเนียม และเกิดเป็นลวดลายขึ้นมา ในขั้นตอนนี้เส้นผมได้ละลายเข้าไปในอะลูมิเนียม ตอนนี้จึงไม่มีเส้นผมหลงเหลืออยู่อีกต่อไป” เขากล่าวเสริม

 
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักออกแบบนำเส้นผมมนุษย์ที่ไม่มีใครต้องการมารีไซเคิล ก่อนหน้านี้ Zsofia Kollar เคยนำเส้นผมมาสร้างเป็นวัตถุที่มีกลิ่นหอม รวมไปถึงวัสดุแขวนผนังและผ้าพันคอรูปตัว U ส่วน Ola Giertz ก็นำเส้นผมใส่เข้าไปในที่นั่งแทนการบุนุ่น 

Hendry และ Rigters พัฒนาเทคนิควิธีต่างๆ ขึ้นมา 5 เทคนิค ซึ่งแตกต่างกันตามความยาวของเส้นผม เพื่อสร้างลวดลายที่หลากหลายให้กับเก้าอี้ รวมไปถึงเคาน์เตอร์ ชั้นวางของ และแผ่นกระเบื้อง
หนึ่งใน 5 เทคนิคนี้คือ การตัดเส้นผมให้ละเอียด จนกลายเป็นผง ซึ่งสามารถนำไปโรยในแผ่นวัสดุที่มีรูเล็กๆ ลักษณะเดียวกับวิธีการสกรีนลงบนพื้นผิว จึงเกิดลวดลายที่เหมือนกับต้นแบบ

“เราตัดเส้นผมให้ละเอียด จนกลายเป็นผง แล้วนำมาใช้เป็นหมึก” Hendry อธิบาย “เราโรยผงนี้ลงไปบนแผ่นสเต็นซิล ผงจะลอดผ่านแผ่นสเต็นซิลลงไปบนพื้นผิว ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือฟิล์มเนกาทีฟของภาพต้นแบบ”

“นำรูปภาพดิจิทัลมาแปลงให้เป็นจุดเว็กเตอร์ (vector) หรือจุดพิกเซลที่เรียงต่อกัน (bitmap) แล้วนำไปตัดด้วยเลเซอร์ หรือทาน้ำยาอิมัลชันบนตาข่ายโลหะ เพื่อทำเป็นลายฉลุ (stencil)”

เรานำเส้นผมที่ตัดแล้วมาร่อนลงไปในตาข่ายที่มีความกว้างของรูไม่เท่ากัน ยิ่งเส้นผมยาวเท่าไหร่ ลายที่พิมพ์ออกมาก็จะมีสีเข้มมากขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดการไล่สีอ่อนเข้มที่หลากหลาย

เราสามารถนำเส้นผมที่ยาวปานกลางมาใช้สร้างลายหินอ่อนได้ โดยนำมาวางให้เท่ากันบนแผ่นกระดาษ แล้วฉีดด้วยส่วนผสมของเจลแต่งผมและน้ำ


 
จากนั้นใส่กระดาษเข้าไปในเครื่องรีดร้อน (heat press) ประมาณ 2 นาที เจลแต่งผมจะมีความแข็งขึ้น ส่วนน้ำก็จะละลายออกไป ส่งผลให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างเส้นผมที่มาบรรจบกัน 

ยิ่งโรยเส้นผมลงไปให้เต็มแน่นมากเท่าไหร่ ลายหินอ่อนก็จะเด่นชัดขึ้นเท่านั้น แผ่นผ้าจากเส้นผมที่ได้มีขนาดประมาณ 40 x 40 เซนติเมตร เราเรียกแผ่นผ้านี้ว่า “กระดาษจากเส้นผม”

อีกหนึ่งเทคนิคคือ การนำเส้นผมที่มีขนาดยาวกว่าเทคนิคแรกมาผูกเข้าด้วยกัน แล้วเชื่อมต่อกับด้ามจับให้กลายเป็นแปรงหลายๆ แบบ แต่ละแบบจะสร้างลวดลายที่แตกต่างกัน เพราะแปรงมีหน้ากว้างจึงสามารถวาดลวดลายลงบนกระเบื้องขนาดใหญ่ โดยครอบคลุมพื้นผิวได้ทั้งหมด
 

“สิ่งที่สำคัญในกระบวนการนี้คือ ต้องดำเนินขั้นตอนสำคัญๆ อย่างรวดเร็ว เรามีแผ่นกระดาษที่ทำจากเส้นผม แล้วก็มีแผ่นที่ต้องกดเส้นผมลงไป จึงจะได้ลายหินอ่อนออกมา” Hendry กล่าว

เรายังสามารถนำผมที่ตัดจากทรงหางม้ามาทำเป็นลายกุญแจได้ โดยนำมาวางลงบนแผ่นเหล็กโดยตรง ทำให้เกิดเป็นลายวงกลม

อ้างอิง: บทความ “Burnt hair creates etch-like patterns on stools by Fabio Hendry and Martijin Rigters” จากเว็บไซต์ https://www.dezeen.com