พลังอีสาน...สู่พลังงานสะอาดที่ช่วยโลก
Technology & Innovation

พลังอีสาน...สู่พลังงานสะอาดที่ช่วยโลก

  • 01 Mar 2020
  • 12632

ทุกวันนี้ ชีวิตเราต่างขับเคลื่อนด้วยพลังงานปริมาณมหาศาลเกินกว่าที่โลกจะผลิตทดแทนได้ทัน การพัฒนาที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทั้งด้านเทคโนโลยี ความเป็นอยู่ การคมนาคม และจำนวนประชากร ทำให้ความต้องการด้านพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติที่มีส่วนในการผลิตพลังงานก็เริ่มลดน้อยลง ทำให้เราต้องหันกลับมาหาทางออกให้กับประเด็นดังกล่าว เกิดเป็นการค้นคว้าแหล่งพลังงานใหม่ ๆ โดยเฉพาะ “พลังงานสะอาด” ที่เป็นอีกหนึ่งการคิดค้นซึ่งจะช่วยให้ทรัพยากรบนโลกยังคงหมุนเวียนอยู่ได้ตลอดไป

พลังงานสะอาดที่เรารู้จักกันนั้นมีอยู่หลากหลาย ทั้งพลังงานลม น้ำ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ แต่อีกหนึ่งแหล่งพลังงานที่เราสร้างขึ้นเองได้และน่าสนใจอย่างมากก็คือ “พลังงานจากขยะ” หรือพลังงานชีวมวลจากเศษวัสดุเหลือใช้ที่มาจากแกลบ ชานอ้อย เศษไม้ กากปาล์ม กากมันสำปะหลัง หรือจากพืชพลังงานจำพวกต้นกระถิน หญ้าเนเปียร์ ไผ่ เป็นต้น ซึ่งสามารถนำไปผ่านกระบวนการเผาไหม้เพื่อให้เกิดพลังงานความร้อนและนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้

ในประเทศไทย ภูมิภาคนำร่องที่มีการริเริ่มจัดการกับพลังงานชีวมวลประเภทนี้ก็คือ “ภาคอีสาน” ซึ่งได้สร้างความร่วมมือกับประชาชนในท้องถิ่นให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ประชาชนก็จะได้รับการส่งเสริมให้มีอาชีพและรายได้ไปด้วย โดยโครงการล่าสุดที่ชาวอีสานได้ร่วมด้วยช่วยกันผลิตก็เช่น โครงการโรงไฟฟ้าของกระทรวงพลังงานที่นำพืชพลังงานหรือเศษเหลือจากการเกษตรของชาวบ้านใน 6 จังหวัดของภาคอีสาน ได้แก่ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ขอนแก่น สุรินทร์ มหาสารคาม และอุบลราชธานี รวบรวมนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า และประชาชนก็ยังได้รายได้จากการขายวัตถุดิบเหล่านี้ส่งให้โรงไฟฟ้า และโครงการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก ที่นำร่องลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ส่งเสริมให้ประชาชนจัดการขยะอย่างบูรณาการ โดยจัดตั้งธนาคารขยะพลาสติกแลกน้ำมัน ให้ประชาชนนำขยะพลาสติก 7-8 กิโลกรัมต่อการนำมาแลกน้ำมันดีเซล 1 ลิตรและเบนซิน 1 ลิตร เพื่อให้ประชาชนรู้จักการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ โดยพลาสติกใช้แล้วเหล่านี้จะถูกนำมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำมันเครื่องยนต์ที่สามารถนำกลับไปใช้ได้เองหรือนำไปขายเพื่อสร้างรายได้อีกต่อหนึ่ง

พลังงานสะอาดที่ผลิตได้ในภาคอีสานเหล่านี้คือพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ก่อผลร้ายต่อโลก และประชาชนในละแวกใกล้เคียงก็ยังได้มีส่วนร่วมในการผลิต นับเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน และยังกระตุ้นให้ผู้บริโภคยุคใหม่ได้ใกล้ชิดและทำความเข้าใจกับเรื่องพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนได้ง่ายมากขึ้นด้วย

ที่มาภาพ : Unsplash/Matthew Henry

ที่มา : บทความ “โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” จาก กรุงเทพธุรกิจ / บทความ “น้ำมันจากขยะพลาสติก” จาก กรุงเทพธุรกิจ / สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน / บทความ “ของเสียในชุมชนเปลี่ยนรูปไปสู่พลังงานทดแทนในอนาคต (Waste to Energy)” โดย Nitthinan Borirak จาก ete.eng.cmu.ac.th และวารสารพลังงานสะอาด (Green energy) โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

เรื่อง : สุธิตา ลิบูลย์