“นุ่น” วัสดุธรรมชาติ และเส้นทางคืนชีพสู่ตลาดร่วมสมัย
Materials & Application

“นุ่น” วัสดุธรรมชาติ และเส้นทางคืนชีพสู่ตลาดร่วมสมัย

  • 10 Jul 2013
  • 81164
เรื่อง : สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์
 
kapok fiber.jpg

คุณทราบหรือไม่ว่า…ครั้งหนึ่งไทยเราเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกปุยนุ่น (Kapok Fiber) อันดับต้นๆ ของโลก และนุ่นไทยก็เคยได้รับการยอมรับว่าเป็น “นุ่นที่คุณภาพดีที่สุด” แต่ไม่นานตำแหน่งแชมป์อันนี้ก็ถูกโค่นลงอย่างรวดเร็วโดยประเทศอินโดนีเซีย …เพราะอะไร? 
 
สาเหตุหลักมิใช่ที่คุณภาพปุยนุ่นไทยด้อยคุณภาพลงแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะ “ความมักง่ายของผู้ประกอบการบางราย” ที่หวังแต่ผลกำไรตรงหน้า ขาดซึ่งจริยธรรม และนำสิ่งเจือปนต่างๆ เช่น ใยฝ้าย เศษผ้า นุ่นเก่า หรือแม้กระทั่งโฟม เข้าไปผสมกับปุยนุ่นเพื่อให้มีน้ำหนักมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ณ วันนี้ไทยเราแทบไม่สามารถส่งออกปุยนุ่นสู่ตลาดโลกได้อีกเลย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเองก็ตั้งอยู่ในแถบป่าฝนเขตร้อน อันเป็นภูมิประเทศที่ “เหมาะสมที่สุด”สำหรับการปลูกต้นนุ่นบนโลกใบนี้!
 
เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทีมงาน TCDCCONNECT และ Material ConneXion ได้เดินทางไปยังอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เพื่อพบกับคุณ วิญญู วรัญญู ทายาทรุ่นที่สองของครอบครัวผู้ผลิต “ที่นอนนุ่นจารุภัณฑ์” ของดีประจำจังหวัดราชบุรี ที่เคยโด่งดังมากในสมัยก่อน
 
คุณวิญญูเล่าว่า ทุกวันนี้ ที่นอนนุ่น หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนุ่นนั้น ไม่ได้รับความนิยมเหมือนเช่นในอดีตแล้ว สืบเนื่องมาจากภาพลักษณ์ของนุ่นไทยที่ถูกมองว่า “เป็นอันตรายต่อสุขภาพ” “ใช้งานได้ระยะสั้น” “มีสารปลอมปนเยอะ” รวมไปถึงการที่วัสดุเส้นใยโพลีเอสเตอร์ (สารสังเคราะห์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้แทนปุยนุ่น) ได้รุกคืบเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยด้วยกลยุทธ์หลายรูปแบบ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ “ตลาดบริโภคร่วมสมัย” ของไทย ทั้ง “หลงลืม” และ “ละเลย” คุณค่าของวัสดุธรรมชาติอย่างปุยนุ่นไปแล้ว…แทบจะโดยสิ้นเชิง
 
kapok fiber-3.jpg 
คุณสมบัติและศักยภาพที่แท้จริงของวัสดุนุ่น
หลังจากได้รับการติดต่อจากห้องสมุด Material ConneXion กรุงเทพฯ ในการส่งวัสดุ “นุ่น” เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวัสดุเส้นใยธรรมชาติของไทยในปีพ.ศ.2554 ทุกวันนี้เส้นใยนุ่นของแบรนด์ “จารุภัณฑ์” ได้รับการรับรองจากห้องสมุดเพื่อการออกแบบ Material ConneXion, Inc. ประเทศอเมริกา (ขึ้นทะเบียนเป็นวัสดุธรรมชาติ MC#: 6805-01) ว่ามีคุณสมบัติเฉพาะของเส้นใย ดังต่อไปนี้
 
- มีน้ำหนักเบากว่าเส้นใยฝ้ายถึง 5 เท่า 
- เป็นวัสดุที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม 
- ไม่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ ปราศจากกลิ่น 
- ลอยน้ำได้ และมีแรงต้านน้ำถึง 30 เท่าต่อน้ำหนักจริงของตัววัสดุ (หรือประมาณ 5 เท่าของแรงดีดตัวในน้ำเมื่อเทียบกับวัสดุไม้ก๊อก)
- เป็นฉนวนควบคุมอุณหภูมิได้ดีเยี่ยม 
- สามารถซึมซับคราบน้ำมันได้เป็นอย่างดี
 
ผลจากการวิจัยครั้งนั้นสะท้อนให้เห็นว่า อันที่จริงแล้ว “เส้นใยนุ่น” ของไทยมีศักยภาพสูงมากในทางเศรษฐกิจ หากนำไปผ่านกระบวนการออกแบบและพัฒนา ก็สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หมอน ที่นอน ถุงนอน เสื้อกันหนาว เสื้อชูชีพ ฯลฯ

kapok fiber-4.jpg

การพัฒนาอุตสาหกรรมนุ่นครั้งใหม่
ขณะนี้คุณวิญญูวางแผนที่จะทำธุรกิจปุยนุ่นครั้งใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ เริ่มตั้งแต่การทำเกษตรกรรมปลูกต้นนุ่น การผลิตเส้นใย เรื่อยไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นจากเส้นใยที่เก็บเกี่ยวได้ 
 
คุณวิญญูเริ่มต้นจากการลงทุนทำไร่นุ่นอีกครั้งในบริเวณพื้นที่โรงงานเก่า (ที่ถูกรื้อทิ้งไปหลังจากธุรกิจที่นอนนุ่นเริ่มซบเซา) พร้อมกันนั้นก็วางแผนจะสร้างโรงงานผลิตเส้นใยขึ้นใหม่ในพื้นที่เดียวกัน (ภายใต้ร่มเงาของต้นนุ่นนั่นเอง) นอกจากนั้นแล้ว เขายังจัดทำโครงการค้นคว้าวิจัยเพื่อหานุ่นพันธุ์ดีมาให้เกษตกรเพาะปลูก (เป็นเครือข่ายเกษตรกรรมในพื้นที่) โดยมีจุดยืนว่าจะซื้อผลผลิตกลับคืนในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มแจกต้นกล้าให้เกษตรกรแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ.2554 แล้ว 
 
kapok fiber-5.jpg
 
ต้นนุ่นเป็นไม้โตเร็ว ให้ร่มเงาสูง ปลูกง่าย ไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆในการปลูก ระยะเวลาในการให้ผลตอบแทนเร็ว และดีทุกปี ที่สำคัญเป็นไม้ที่มีรากลงลึกในดิน สามารถปลูกเพื่อกันดินถล่ม หรือกันตลิ่งพังได้
 
คุณวิญญูเล่าว่า ต้นนุ่นเป็นพืชที่เหมาะสมที่จะปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ (ที่เกษตกรปลูกอยู่แล้ว) ได้เป็นอย่างดี โดยสามารถปลูกในลักษณะ “วนเกษตร”(Agroforestry Farming*) ที่นำเอาหลักความยั่งยืนของ “ระบบป่าธรรมชาติ” มาเป็นแนวทางในการทำเกษตรกรรมได้
นอกจากนั้น ผลผลิตของ “นุ่นหนึ่งฝัก” ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ครบทุกส่วน เริ่มตั้งแต่ “ปุยนุ่น” ที่นำไปทำเป็นเส้นใยสำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ, “เมล็ดนุ่น” ที่นำไปทำเป็นอาหารสัตว์หรือไปสกัดน้ำมันได้, “แกนกลาง” สามารถนำไปใช้เพาะเลี้ยงเห็ด, กระทั่ง “เปลือกด้านนอก” เองก็สามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ได้อีก  
 
ที่น่าสนใจที่สุดคือ “ดอกนุ่น” ซึ่งมีรสหวานในตัวเอง โดยในขณะนี้คุณวิญญูกำลังวางแผนจับมือกับกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งในจังหวัดชัยภูมิ เพื่อพัฒนา “พื้นที่ปลูกนุ่น” ให้เป็น “พื้นที่เพาะเลี้ยงผึ้ง” แบบผสมผสานไปด้วยในฤดูที่นุ่นออกดอก
 
นุ่นธรรมชาติ กับ โอกาสในอนาคต
สืบเนื่องมาจากคุณสมบัติดั้งเดิมที่เป็นธรรมชาติ 100% ปราศจากเชื้อโรค ไม่มีไรฝุ่น ไม่ขึ้นรา ไม่ดูดซับน้ำ ไม่ดูดซับอุณหภูมิ น้ำหนักเบา ฯลฯ คุณวิญญูจึงมองว่าความท้าทาย ณ ปัจจุบันของเขา (และของชาวราชบุรี) อยู่ที่การนำศักยภาพแท้ๆ ของ “นุ่น 100%” ที่ปลูกได้ในท้องถิ่นนี้มาต่อยอดเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ (ทั้งประเภท Indoor และ Outdoor), กลุ่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (ประเภทเสื้อกันหนาว, ชุดเดินป่า) หรือแม้กระทั่งเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์กลุ่มออร์แกนิกส์ต่างๆ

kapok fiber-6.jpg
 
เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ คุณวิญญูและแบรนด์จารุภัณฑ์เองน่าจะมีความพร้อมเต็มที่ในฐานะผู้ผลิตวัสดุ จะขาดก็แต่พลังสร้างสรรค์ในแง่การออกแบบ การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อ “ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่” เท่านั้น ที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเฟ้นหาคู่แท้กันอยู่ …คงไม่นานเกินรอ เราคงได้พบกับ “ผลิตภัณฑ์นุ่นร่วมสมัยฝีมือคนไทย” กันอีกครั้ง
 
* สามารถศึกษาข้อมูลเรื่องวนเกษตรเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน - วนเกษตร