ภาชนะจากสารพัด “ใบ” ในยุคโลกร้อน
Materials & Application

ภาชนะจากสารพัด “ใบ” ในยุคโลกร้อน

  • 11 Jun 2009
  • 25418

mix.jpg

คุณเคยคิดไหมว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา จริงๆ แล้วมีคุณประโยชน์อย่างที่เราเคยเชื่อกันหรือไม่ เพราะยิ่งเวลาเคลื่อนผ่านไปหาอนาคตมากเท่าไหร่ ดูเหมือนเราจะวิ่งย้อนกลับไปหา "นวัตกรรมในอดีต" มากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น

แม้แต่คำว่า "นวัตกรรมในอดีต" เองก็ยังฟังดูขัดๆ ชอบกล เพราะ "นว" ซึ่งหมายถึง "ความใหม่" มันจะกลับไปอยู่ในอดีตได้อย่างไร แต่ถ้าลองพิจารณาภาชนะที่ทำจากใบปาล์มของ Naturesse - Kollektion Palmblatt® โดยบริษัท Pacovis AG สวิตเซอร์แลนด์ และ VerTerra จาก VerTerra Ltd. สหรัฐอเมริกาแล้ว จะพบว่าภาชนะจากวัสดุ "โบราณ" เหล่านี้ให้อรรถประโยชน์อย่างที่วัสดุยุคปัจจุบันต้องอายม้วนไปเลย

เริ่มจากเครื่องใช้และภาชนะต่างๆ บนโต๊ะอาหาร Naturesse - Kollektion Palmblatt® ซึ่งทำจากใบปาล์มพันธุ์เอดาก้าที่มีคุณสมบัติไม่เปื่อยยุ่ยง่ายๆ ผู้ผลิตจะนำเอาเจ้าใบปาล์มชนิดนี้มาล้างน้ำทำความสะอาด จากนั้น จึงไปแช่ในน้ำ และขึ้นรูปเป็นภาชนะที่ความร้อน 120 องศาเซลเซียส ซึ่งใช้เวลาประมาณ 45-90 วินาที แล้วแต่ขนาดและไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ช่วยทั้งสิ้น เมื่อสำเร็จเป็นรูปแล้ว จึงนำมาทำให้แห้งด้วยการอบในเตาเผา เป็นอันเสร็จกระบวนการ ภาชนะจากใบปาล์มชุดนี้สามารถทนความร้อนได้ถึง 220 องศาเซลเซียส และเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ -25 องศาเซลเซียสได้สบายๆ รวมทั้งสามารถใช้ได้ทั้งในเตาอบแบบธรรมดาและเตาอบไมโครเวฟ อย่างไรก็ตาม ภาชนะจากใบปาล์มชุดนี้เหมาะกับอาหารแห้งมากกว่าอาหารที่เป็นน้ำ และเหมาะแก่การใช้แบบครั้งเดียวทิ้งมากกว่า แต่ด้วยความที่มันเป็นวัสดุจากธรรมชาติ จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ได้ภายหลังด้วย

ส่วนของ VerTerra จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากใบปาล์มเช่นกัน ขึ้นรูปเป็นภาชนะโดยไม่มีการใช้วัสดุติดยึด สามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติภายในเวลาเพียง 2 เดือน และนำไปทำเป็นปุ๋ยได้ 100% การผลิตบรรจุภัณฑ์ใบปาล์มชนิดนี้ใช้ใบปาล์มแก่ที่ร่วงหล่นเองน้ำหนัก 100 ตัน (ซึ่งหากไม่ถูกนำมาแปรรูปเป็นภาชนะ ก็จะต้องถูกเผาไปอย่างไร้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย) การผลิตเริ่มจากการนำเอาใบปาล์มมาฉีดล้างด้วยน้ำแรงดันสูง จากนั้นนำไปอบด้วยไอน้ำ ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี และขึ้นรูปเป็นภาชนะ ทั้งนี้ น้ำประมาณ 80% ที่ใช้ในกระบวนการจะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

แม้ว่าการผลิตภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติจะเป็นเรื่องที่แสนธรรมดาสำหรับคนไทย เนื่องจากบรรพบุรุษของเราคุ้นเคยกับการสร้างสรรค์ศิลปะหัตถกรรม และเครื่องใช้ไม้สอยจากธรรมชาติกันมาเนิ่นนานแล้ว อย่างไรก็ตามวิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ทำให้บรรจุภัณฑ์ธรรมชาติอย่างกระทงใบตอง ตะกร้าจักสาน และอื่นๆ เริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำ หรือที่มีใช้กันอยู่ก็ไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร อาทิ กระทงขนมสานด้วยใบเตยและกระทงห่อหมกที่ทำจากใบตอง แต่กลับเย็บด้วยลวดเย็บกระดาษซึ่งอาจเป็นอันตราย เป็นต้น

แต่กระนั้นก็ยังมีชุมชนอีกหลายแห่งที่ยึดถือภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ มาปรับใช้ไปพร้อมๆ กับชีวิตยุคปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น "ชุมชนบ้านคล้า" จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รวมกลุ่มกันสานหมวกใบตาล ด้วยฝีมืองดงามประณีต ทนแดดทนฝน และขายกันในราคาไม่แพง มีทั้งชนิดปีกกว้างที่เหมาะกับงานเกษตรกรรม และชนิดจ็อกกี้ที่มีรูปทรงทันสมัย แถมยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น หมวกสานใบจิ๋ว ใช้ทำโมบายหรือประดับตกแต่งอีกด้วย (สนใจติดต่อ กลุ่มสานหมวกใบตาล หมู่ 8 บ้านคล้า ต.สัมฤทธิ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา โทร. 044 481113)

นอกจากชุมชนบ้านคล้าแล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์จากใบตองแห้งของอาจารย์วราลักษณ์ ขุนอักษร อาจารย์ภาคคหกรรม โรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์ (ต.หารเทา อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง) ที่เป็นอีกตัวอย่างของการนำเอาของเหลือจากธรรมชาติมาแปรรูปเพื่อประโยชน์ใช้สอย อ.วราลักษณ์ ได้ใช้ความรู้เรื่องผ้า ผสมกับวัสดุที่มีในท้องถิ่นซึ่งก็คือใบตองแห้ง (ที่ได้จากโครงการรณรงค์ให้ปลูกกล้วยเป็นอาหารกลางวัน) มาทดลองทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยการนำเอาใบตองแห้งมาแช่น้ำเพื่อให้นิ่มและเหนียว จากนั้นนำมาฟั่น และขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และประดิษฐ์เป็นชิ้นงานต่างๆ อาทิ เครื่องประดับตกแต่ง เครื่องใช้ในครัวเรือน และของชำร่วย สามารถสร้างรายได้ตั้งแต่ชิ้นละ 25-2,500 บาทเลยทีเดียว

ปัจจุบันการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์จากใบตองแห้งได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน ของโรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์เรียบร้อยแล้ว ภายใต้ชื่อ "ชุดวิชางานผลิตภัณฑ์ใบทิพย์" โดยเปิดสอนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนอยู่ในโครงการประมาณ 45 คน นักเรียนในโครงการนี้จะได้รับค่าตอบแทนตามชิ้นงานที่ทำได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ (ราว 2,000 บาท ต่อเดือนต่อคน)

จะเห็นได้ว่าการเลือกพัฒนาและบริโภคผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาตินั้น นอกจากจะปลอดภัยกับคนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนวิถีการพัฒนาแบบยั่งยืน สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วย เชื่อว่าหากเราใช้ความคิดสร้างสรรค์และศึกษาวิจัยกันอย่างจริงจังต่อเนื่อง ความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติของเมืองไทยก็จะยิ่งเอื้อประโยชน์แก่คนไทยได้มากยิ่งขึ้นอีก ที่สำคัญ "โดยที่เราไม่ต้องไปเบียดเบียนทำลายมันเลย"

ข้อมูลจำเพาะด้านผลิตภัณฑ์จากใบปาล์ม
- คุณสมบัติ กึ่งแข็ง กึ่งอ่อน มีพื้นผิวด้าน ลักษณะทึบแสง มีโครงสร้างแบบปิด บรรจุของได้
- การใช้งาน ไม่ทนไฟ ทนความร้อนได้ต่ำ แต่กันรังสียูวีได้ พื้นผิวขีดข่วนได้ปานกลาง-ง่าย กันน้ำ/กันการฉีกขาดได้ปานกลาง มีการดูดซึมต่ำ ทนต่อสารเคมีได้ปานกลาง
- ด้านสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่เป็นพิษเลย สามารถทำเป็นปุ๋ยได้ นำมาใช้ใหม่ได้

ข้อมูลจาก:
http://www.materialconnexion.com/ProductPage/tabid/178/Default.asp... ...
http://www.tourvtthai.com/home/index.php?option=com_content&view=article&id=624:2008-10-23-13-14-56&catid=39:2008-08-24-06-49-39&Itemid=70
http://library.dip.go.th/multim5/News/N01557.doc

เครดิตภาพ:
http://www.greenbusinessinnovators.com/wp-content/uploads/2008/07/verterra-bowls.jpg
http://www.outblush.com/women/images/2008/10/verterra-dinnerware.gif
http://www.tourvtthai.com/home/index.php?option=com_content&view=article&id=624:2008-10-23-13-14-56&catid=39:2008-08-24-06-49-39&Itemid=70
http://library.dip.go.th/multim5/News/N01557.doc