วัสดุ การออกแบบ สร้างแรงบันดาลใจ – พัฒนาการของไม้วีเนียร์
Materials & Application

วัสดุ การออกแบบ สร้างแรงบันดาลใจ – พัฒนาการของไม้วีเนียร์

  • 04 Jan 2011
  • 41876

เรื่อง : อาศิรา พนาราม

การออกแบบและวัสดุนั้นเดินทางคู่เคียงกันมาตลอด และต่างมีส่วนในการเป็นแรงผลักดันซึ่งกันและกัน วัสดุที่มีประสิทธิภาพสามารถเอื้อให้งานออกแบบเป็นไปได้อย่างที่คิด ส่วนแนวคิดการออกแบบที่ก้าวหน้าก็สามารถผลักดันการคิดค้นวัสดุและเทคนิคใหม่เพื่อตอบสนองพัฒนาการด้านนวัตกรรมตลอดเวลา

สำหรับงานออกแบบตกแต่งภายในหรืองานเฟอร์นิเจอร์นั้น “งานปิดผิวหน้าวัสดุ” จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเน้นอารมณ์และความพิเศษ ปัจจุบันนี้ วัสดุปิดผิว (Decorative Surfacing) ในท้องตลาดมีทั้งวัสดุจากธรรมชาติ วัสดุสังเคราะห์ และการใช้เทคโนโลยีมาประดิษฐ์วัสดุธรรมชาติขึ้นใหม่ โดยหนึ่งในวัสดุที่เราได้สัมผัสกันบ่อยๆ แต่อาจไม่รู้จักชื่อหรือที่มาก็คือ “ไม้วีเนียร์” (Veneer)

ที่โชว์รูม SW สยามวู้ดแลนด์ (Siam Woodland) บริษัทผลิตและจำหน่ายวัสดุปิดผิวหน้าหลากชนิด (ตั้งแต่ไม้วีเนียร์, ลามิเนท, หินสังเคราะห์, หินอ่อนอัด ฯลฯ) เราได้พบกับคุณศิริ ศิริวงศ์วัฒนา ผู้จัดการทั่วไป ที่สละเวลามาให้ความรู้เกี่ยวกับวัสดุเหล่านั้นและขยายความเกี่ยวกับ “ไม้วีเนียร์” ซึ่งเป็นวัสดุตัวเด่นที่มีการใช้งานกว้างขวางที่สุด (และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ สยามวู้ดแลนด์ มีองค์ความรู้มายาวนานตั้งแต่รุ่นบิดา)

วีเนียร์คืออะไร
ไม้วีเนียร์ (Wood Veneer) คือ วัสดุปิดผิวที่ได้จากการฝานลำต้นไม้ออกมาเป็นแผ่นบางๆ หนาราว 0.5 ม.ม. แล้วนำไปปิดบนผิววัสดุที่ต้องการ ซึ่งปิดได้ทั้งบนพื้นผิวเรียบแบนและพื้นผิวโค้ง โดยมีความยาวได้ไม่จำกัด (เกิดจากการต่อแผ่นไม้และเก็บรายละเอียดอย่างประณีตจนแทบไม่เห็นรอยต่อ) ทุกวันนี้ไม้วีเนียร์มีหลายลักษณะเพื่อการใช้งานที่แตกต่างกัน ได้แก่

Natural Colour เป็นวีเนียร์สีธรรมชาติ ที่ไม่มีการย้อมสีใดๆ ลายไม้จะมีความเป็นธรรมชาติตามลักษณะเดิมของเนื้อไม้นั้นๆ ซึ่งอาจมีตาไม้ปรากฏอยู่ และไม่สามารถควบคุมความสม่ำเสมอของลายได้ ดังนั้นจึงเหมาะกับงานที่ต้องการความนุ่มนวลเป็นธรรมชาติ

Fashion Colour คือ วีเนียร์ที่นำมาย้อมเป็นสีสันต่างๆ ใช้สำหรับงานตกแต่งที่ต้องการความหวือหวา ทันสมัย

Recomposed คือ วีเนียร์ที่เกิดจากการจัดเรียงองค์ประกอบของลายใหม่ เป็นองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่อราว 30 ปีที่แล้วในประเทศอิตาลี ซึ่งผู้คิดค้นได้ทดลองนำวีเนียร์สีต่างๆ มาจัดเรียงให้เกิดลวดลายและบีบอัดให้ได้รูปแบบตามต้องการ จากนั้นเมื่อนำมาฝานด้านตัดขวางก็จะเกิดลวดลายใหม่ๆ ขึ้น ทั้งที่เลียนแบบลายไม้ธรรมชาติ (สามารถควบคุมความสม่ำเสมอของลายได้) และลวดลายสีสันแปลกใหม่ที่ไม้ธรรมชาติไม่มี

Woven คือ แผ่นวีเนียร์สานที่มีลวดลายและพื้นผิวใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เกิดจากการนำวีเนียร์มาตัดเป็นเส้นเหมือนริบบิ้น แล้วนำมาสานกันเป็นลายต่างๆ งานสไตล์ Woven จะให้อารมณ์เรื่องความเป็นไม้และพื้นผิวที่แปลกใหม่ รวมทั้งสามารถออกแบบลวดลายการสานได้ตามที่ต้องการ เหมาะกับงานออกแบบที่ต้องการความแตกต่างเฉพาะตัว

Inlay ไม้เส้นอินเลย์ เกิดจากการนำไม้จริงมาย้อมสีแล้วต่อกัน ซ้อนทับจัดลวดลาย อัดกัน จากนั้นนำมาผ่าให้เกิดลวดลายตรงหน้าตัดขวาง เหมาะกับงานที่ต้องการจบขอบ หรืองานประดับบนผนังหน้าบาน

Marquetry – ศิลปะของช่างไม้
นอกจากวีเนียร์ 5 รูปแบบข้างต้นแล้ว ยังมีศิลปะ “งานไม้ตัดต่อลาย” ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า Marquetry หมายถึงการนำวีเนียร์ต่างสี ต่างลาย มาตัดและต่อลายใหม่ให้เกิดเป็นรูป ซึ่งมีทั้งรูปเรขาคณิต ลวดลายอิสระ หรือแม้กระทั่งภาพเหมือนจริง ที่บริษัทสยามวู้ดแลนด์มีช่างฝีมือที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างน้อย 1-2 ปีเป็นผู้ดูแลงานในส่วนนี้ ซึ่งที่ผ่านมางานที่ได้รับความนิยมมากก็คือ พระบรมฉายาลักษณ์ รูปวัด หรือรูปภาพในงานแต่งงาน ซึ่งสามารถกำหนดรายละเอียดได้ โดยราคาก็จะขึ้นอยู่กับความละเอียดของภาพ


แรงบันดาลใจใหม่ๆ จากวัสดุเดิมๆ
วัสดุไม้วีเนียร์ประเภทต่างๆ นั้นให้อารมณ์ที่หลากหลาย แต่โดยภาพรวมแล้วความเป็น “ผิวไม้จริง” จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติ อบอุ่น และนุ่มนวล โดยคุณศิริให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การออกแบบที่อิงกับธรรมชาตินั้นอยู่ในกระแสมาตลอด โดยเฉพาะงานตกแต่งประเภทที่อยู่อาศัย อย่างเช่นบ้านพัก โรงแรม หรือรีสอร์ท เพราะเหล่านี้เป็นงานออกแบบที่ใกล้ชิดกับ “ชีวิต” ของคน ดังนั้นงานวีเนียร์จึงได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานออกแบบตกแต่งที่อยู่อาศัยมากเป็นพิเศษ แต่ในช่วงหลังๆ นี้ ก็มีงานประเภทภัตตาคารเข้ามาด้วยเช่นกัน และเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันนี้ “วัสดุไม้” ถูกนำมาออกแบบเป็นงานสไตล์โมเดิร์นมากขึ้นมาก ต่างจากสมัยก่อนที่เมื่อพูดถึงไม้ก็จะนึกถึงแต่งานสไตล์คลาสสิค

คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า ในหลายๆ ครั้งคุณสมบัติของวัสดุก็เป็นตัวนำให้เกิดการออกแบบใหม่ๆ ขึ้น ในส่วนของ SW สยามวู้ดแลนด์ พวกเขามองเห็นศักยภาพของวัสดุในฐานะ “แรงบันดาลใจของนักออกแบบ” โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คุณศิริได้ทำการ Re-Branding สยามวู้ดแลนด์ใหม่ให้เป็นมากกว่าผู้จัดหาวัสดุคุณภาพดี โดยเขาได้หันมาเน้นเรื่อง “ดีไซน์” ทั้งในการเลือกสินค้าและการออกแบบสินค้า เพื่อกระตุ้นความคิดของนักออกแบบ (เราจะเห็นว่าการออกแบบโชว์รูมของ SW สยามวู้ดแลนด์ ที่ CDC จะเน้นโชว์ความเป็นไปได้ทางการออกแบบกับวัสดุอย่างเต็มที่)

คุณศิริเสริมว่า “เนื่องจากเศรษฐกิจยุคนี้อยู่ในเส้นทางของ Creative Economy ความสามารถในการแข่งขันจึงอยู่ที่ว่าใครจะสามารถ “Create” ได้มากกว่ากัน เราได้ปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ไปในเรื่องการสร้างสรรค์และการสร้างแรงบันดาลใจแล้ว การเปิดโชว์รูมก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเสริมภาพลักษณ์ด้านดีไซน์ ทำให้มันเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น นอกจากนี้เรายังทำนิตยสารแจกฟรี Surfacing Dec. ซึ่งก็เป็นการสื่อสารกับลูกค้าที่ตรงกลุ่มและตรงจุด” “ผมมองว่ายุคนี้เรื่องของคุณภาพ การบริการที่ดีและรวดเร็ว เราคงไม่ต้องมาพูดถึงกัน เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้เราจะแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ ได้ก็คือ การมีส่วนสร้างแรงบันดาลใจให้กับการสร้างสรรค์ผลงานครับ”

คำถามคาใจ – สุดท้ายหลายคนอาจสงสัยว่า ไม้ที่นำมาผลิตเป็นวีเนียร์นั้นมีที่มาจากไหน ต้องทำลายป่าหรือเปล่า?

คุณศิริเฉลยให้ฟังว่า ผลิตภัณฑ์ไม้วีเนียร์ที่นำเข้ามาจากอิตาลี จะมาจากแหล่ง “ป่าปลูก” ที่มีการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยได้รับการรับรองจาก FSC ซึ่งเป็นองค์กรอิสระระหว่างประเทศ ที่รับประกันว่าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ได้รับตราประทับ FSC เป็นไม้จากแหล่งป่าธรรมชาติหรือป่าปลูกที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องตามหลักสากล

เขายังเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าพูดถึงวัสดุปิดผิวแล้วไม้วีเนียร์จัดเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ตั้งแต่เรื่องแหล่งที่มา ซึ่งมาจากป่าที่ปลูกทดแทนได้ (ไม่เหมือนทรัพยากรอื่น เช่น น้ำมัน ที่ผลิตทดแทนไม่ได้) กระบวนการผลิตก็ใช้พลังงานน้อยที่สุด หากมีคนมาปรึกษาเกี่ยวกับวัสดุปิดผิวเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้วล่ะก็ คุณศิริก็จะแนะนำให้ใช้ไม้วีเนียร์ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้เสมอ

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
www.siamwoodland.com
www.fsc.org/