นวัตกรรมเส้นใยต้านภัยหนาว สิ่งทอหัวก้าวหน้าจากนิวซีแลนด์ถึงญี่ปุ่น
Materials & Application

นวัตกรรมเส้นใยต้านภัยหนาว สิ่งทอหัวก้าวหน้าจากนิวซีแลนด์ถึงญี่ปุ่น

  • 16 Jul 2012
  • 3568

เรื่อง: ชัชรพล เพ็ญโฉม

คุณอาจแปลกใจที่เราจับ Icebreaker เสื้อผ้าแนวสปอร์ตสำหรับเมืองหนาว มาชนกับ Uniqlo สตรีทแวร์แบรนด์ดังระดับโลก ทั้งๆ ที่ทั้งสองแบรนด์นี้ก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งทางการตลาดกันแต่อย่างใด และหากมองในแง่ของภาพลักษณ์แล้ว Icebreaker และ Uniqlo แทบจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลย แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากในแง่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็คือ ทั้งสองแบรนด์มีโนว์ฮาวเรื่อง “เทคโนโลยีการผลิตเส้นใยต้านสภาพอากาศหนาวเย็น”

ต่อยอดวัตถุดิบสู่ธุรกิจเลือดใหม่
Icebreaker เป็นแบรนด์เสื้อผ้าสไตล์ Outdoor เจ้าแรกของโลกที่ผลิตขึ้นจากขนแกะพันธุ์เมอริโน่ (Merino) ซึ่งอาศัยอยู่บนเทือกเขา “เซาท์เธิร์น แอลป์ส” ของนิวซีแลนด์ (New Zealand’s Southern Alps) เทือกเขานี้มีอุณหภูมิในฤดูร้อนกับฤดูหนาวต่างกันแบบสุดขั้ว ด้วยสภาพอากาศเช่นนั้น เส้นใยจากขนแกะพันธุ์เมอริโน่นี้จึงมีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถให้ความอบอุ่นได้ท่ามกลางอากาศหนาวจัด แต่ก็สวมใส่สบายในยามอากาศร้อน อีกทั้งยังมีสัมผัสที่เนียนละเอียดต่างจากผ้าขนสัตว์ทั่วไป

แบรนด์ Icebreaker ถือกำเนิดขึ้นในปีค.ศ.1994 เมื่อนาย “เจเรมี่ มูน” ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ได้ตัวอย่างเสื้อที่ทอจากขนแกะพันธุ์เมอริโน่และค้นพบว่าเส้นใยชนิดนี้มีคุณสมบัติที่น่าอัศจรรย์ คือ มีเนื้อเนียน ละเอียด นุ่ม เบา ใส่แล้วไม่คัน (ต่างจากเสื้อผ้าขนสัตว์ทั่วไปที่มีน้ำหนักมาก ใส่แล้วคัน) ที่สำคัญสามารถป้องกันกลิ่นอับชื้นและซักได้ด้วยเครื่องซักผ้า

เจเรมี่เกิดแรงบันดาลใจอยากจะสร้างธุรกิจเครื่องแต่งกายขึ้นจากขนแกะเมอริโน่นี้ แม้เขาจะถูกปฏิเสธอย่างหนักในช่วงแรก แต่เขาก็ไม่ละความพยายามจนกระทั่งวันหนึ่งที่ “เซอร์ปีเตอร์ เบลค” เซียนเรือยอร์ชมือหนึ่งของแดนกีวีได้ลองใส่เสื้อและเล็กกิ้งของ Icebreaker ในการล่องเรือรอบโลก (เพื่อทำสถิติติดต่อกันเป็นเวลาถึง 40 วัน) ผลปรากฏว่า เซอร์ปีเตอร์ประทับใจในเสื้อผ้าของเจเรมี่อย่างมาก และสนับสนุนให้เขาพัฒนาธุรกิจนี้ให้เติบโตต่อไป

ในช่วงเริ่มต้น เจเรมี่กู้เงินจากธนาคารจำนวน 20,000 เหรียญ (ราว 600,000 บาท) โดยบอกธนาคารว่า จะนำเงินไปซ่อมครัว (!) จากนั้นเขาก็ชวนผู้ร่วมลงทุนอีก 8 คน ให้ลงขันกันอีกคนละ 25,000 เหรียญเพื่อตั้งบริษัทขึ้น แบรนด์ Icebreaker ในยุคแรกนั้นประสบปัญหานานัปการ กว่าจะเริ่มตั้งตัวได้ก็ปาเข้าไปปีที่ 3 ที่ธุรกิจสามารถทำกำไรได้เป็นครั้งแรก (เป็นเงินทั้งสิ้น 800 เหรียญ)

เจเรมี่คิดว่า คุณภาพของสินค้าคือ สิ่งที่โฆษณาตัวเอง และมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเขาอยู่รอดได้ นอกจากนั้นแล้ว ทาง Icebreaker ยังทำการประชาสัมพันธ์สินค้าด้วยการเป็นสปอนเซอร์หลักให้กับทีมนักกีฬา “วิ่งวิบาก” (ผู้เข้าแข่งขันต้องแข่งวิ่ง ปั่นจักรยาน และปีนเขาในสภาพอากาศหฤโหด) ซึ่งนั่นถือเป็นการพิสูจน์คุณลักษณะพิเศษของเส้นใยชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี

ขนแกะมหัศจรรย์พันธุ์เมอริโน่
การคัดเลือกขนแกะเริ่มจากการกำหนดคุณสมบัติของเส้นด้ายที่ต้องการ โดยขนแกะที่ดีต้องมีขนาด 13-25 ไมครอนส์ (หนาประมาณหนึ่งในสามของเส้นผมมนุษย์) จากนั้นจึงผลิตเส้นใยตามวัตถุประสงค์การใช้งาน อาทิเช่น เส้นใยน้ำหนักเบาสำหรับเสื้อใส่วิ่ง ฯลฯ ขั้นตอนสุดท้ายคือ การใส่ “ลูกเล่น” ตามพฤติกรรมการสวมใส่ อาทิ ผสมลามิเนตเพื่อให้เสื้อกันลมและฝนได้ดีขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ด้วยความที่สินค้าของ Icebreaker ถูกออกแบบให้ใส่เป็นชั้น (layers) ดังนั้นเสื้อผ้าทุกชิ้นจึงต้องคำนึงเสมอว่า “จะใส่กับตัวอื่นอย่างไร”

เคล็ดลับประการหนึ่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Icebreaker ก็คือ การศึกษาแหล่งที่มาและกระบวนการในการนำขนแกะมาแปรรูปเป็นเส้นใย โดยพวกเขายึดหลักว่า ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด นอกจากนั้น Icebreaker ยังซื้อเส้นใยจากเกษตรกรผู้เลี้ยงแกะโดยตรง และใช้ระบบ Barcode ที่สามารถตรวจสอบกลับไปยังซัพพลายเออร์ได้ว่า เส้นใยที่สวมใส่อยู่นั้นมาจากแกะที่เลี้ยง ณ แหล่งหนตำบลใด

ปัจจุบัน Icebreaker มีหน้าร้านถึง 3,000 สาขาใน 43 ประเทศทั่วโลก โดยมีราคาเริ่มต้นสำหรับเสื้อ T-shirt อยู่ที่ราว 1,900 บาท และ 6,000 บาทสำหรับเสื้อแจ็คเก็ต


Uniqlo HeatTech นวัตกรรมกันหนาวจากไฟเบอร์และนม
อาจฟังดูแปลกหากมีคนบอกว่า เสื้อกันหนาวของคุณมีส่วนผสมของนม (!) แต่ถ้าคุณเป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Uniqlo แล้วล่ะก็ เชื่อว่าคุณคงเคยได้ยินมาบ้าง

 

HeatTech คือ ชื่อเทคโนโลยีเส้นใยกันความหนาวของแบรนด์ Uniqlo ที่ใช้เส้นใยไฟเบอร์ลักษณะกลวง ทำให้อากาศภายในเส้นใยช่วยป้องกันความหนาวได้ นอกจากนั้นมันยังมีส่วนผสมของ “ผ้าเรยอง” อันเป็นฉนวนคอยดูดซับความชื้นจากร่างกายแล้วเปลี่ยนเป็นความร้อนเพื่อช่วยรักษาความอบอุ่นแก่ผู้สวมใส่ ยังไม่พอแค่นั้น วัสดุ HeatTech ของ Uniqlo ยังผสมกรดอะมิโนจากโปรตีนนมเพื่อให้เส้นใยมีความอ่อนนุ่ม สวมใส่สบายอีกด้วย ปัจจุบันสนนราคาของเสื้อชั้นในเทคโนโลยี HeatTech นี้ตกอยู่ที่ตัวละ 300-500 บาท เลยทีเดียว


 

วัตถุดิบท้องถิ่นพัฒนาเส้นใยไทย
แม้ขนแกะและเส้นใยไฟเบอร์ผสมนมอาจฟังดูไม่จำเป็นสำหรับภูมิอากาศเมืองไทย แต่ถึงกระนั้น นักออกแบบไทย หลายท่านก็ได้นำเอาเส้นใยธรรมชาติคุณภาพสูงอย่างเช่น “ใยกัญชง” ไปพัฒนาจนเกิดเป็น โอกาสทางธุรกิจ มากมาย ซึ่งนอกจากใยกัญชงแล้ว เส้นใยธรรมชาติอื่นๆ ของไทยที่มีประวัติความเป็นมายาวนานอย่างไหม ฝ้าย ใยบัว ฯลฯ ก็ดูจะมีอนาคตไกลไม่แพ้กัน เรื่องราวของแบรนด์ Icebreaker และเทคโนโลยี HeatTech ข้างต้นนี้ น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับนักออกแบบและนักธุรกิจไทย ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดโลก

ข้อมูลจาก:
http://nz.icebreaker.com/on/demandware.store/Sites-IB-NZ-Site/en/Home-Show?Country=NZ
http://www.guardian.co.uk/lifeandstyle/2008/nov/24/uniglo-undergarments-fashion
http://www.ecouterre.com/uniqlos-heattech-clothing-creates-heat-from-yoursweat/

เครดิตภาพ:
http://www.ecouterre.com/wp-content/uploads/2009/11/uniqlo-heattech-1.jpg
http://sakura-hotel-ikebukuro.com/blog/images/uniqlo-heattech.jpg
http://www.uniqlo.com/global_images/uk/store/clothing/heattech/women/100908_uk_bnr-heattech_w.jpg
http://www.designboom.com/cms/images/ridcue/heattech01.jpg
http://www.alternativeconsumer.com/wp-content/uploads/2010/12/Icebreaker1.jpg
http://blog.runningwarehouse.com/wp-content/uploads/2011/10/blogib101711.jpg
http://sfcitizen.com/blog/wp-content/uploads/2011/11/home2-copy1.jpg