เปิดตัวหนังสือ “สินทรัพย์(วัสดุ) ถิ่นอีสาน”
Materials & Application

เปิดตัวหนังสือ “สินทรัพย์(วัสดุ) ถิ่นอีสาน”

  • 04 Nov 2013
  • 27062
กิจกรรม เปิดตัวหนังสือ “สินทรัพย์(วัสดุ) ถิ่นอีสาน”

เวลา วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2556 / 14.00 – 16.30 น.
สถานที่ ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ Material ConneXion® Bangkok

โดย ผศ.ธนสิทธิ์ จันทะรี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คุณพลอย ศรีสุโร บรรณาธิการเล่ม หนังสือสินทรัพย์(วัสดุ) ถิ่นอีสาน

เปิดตัวหนังสือ “สินทรัพย์(วัสดุ) ถิ่นอีสาน” “ที่ราบลุ่มภาคอีสานดูจะแห้งแล้ง ทว่าความจริงนั้นอุดมไปด้วยสินทรัพย์จากภูมิปัญญา” มาร่วมหาคำตอบจาก “วัสดุ” ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ผนวกกับการจัดการสิ่งที่มีอยู่ด้วยภูมิปัญญาจนกลายเป็นสินทรัพย์อันล่ำค่า จากโครงการสรรหาวัสดุจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่กว่า 13 จังหวัด ผ่านกระบวนการลงพื้นที่สำรวจและรวบรวมข้อมูล เพื่อค้นหาแหล่งวัสดุที่น่าสนใจต่อการนำเสนอข้อมูลในเชิงลึกของวัสดุถิ่นอีสานที่มีอยู่หลากหลาย และสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาพื้นถิ่นอันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทยอีสาน รวมถึงการนำวัสดุท้องถิ่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการที่จะต่อยอดและพัฒนาวัสดุถิ่นอีสานให้มีเอกลักษณ์ ไปพร้อมๆ กับการยกระดับวัสดุไทยสู่มาตรฐานสากล

พบกับ ผศ.ธนสิทธิ์ จันทะรี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวหน้าโครงการสรรหาวัสดุจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะร่วมถ่ายทอดประสบการณ์จากการสัมผัสและพัฒนางานออกแบบร่วมกับผู้ผลิตชุมชนในภาคอีสานจากมุมของนักออกแบบ เพื่อตอบคำถามที่ว่า ความเข้าใจในวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของตน กอปรกับภูมิปัญญาที่มีอยู่จะช่วยทำให้การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์สำเร็จได้อย่างไร คุณพลอย ศรีสุโร บรรณาธิการเล่ม จะมาบอกเล่าวิธีการทำงาน และการจัดการข้อมูล ตั้งแต่ปรับเนื้อหาต้นฉบับ การจัดหมวดหมู่ ซึ่งทุกวัสดุที่ได้รับคัดเลือกต่างมีที่มา ต้นกำเนิด และเรื่องราวที่ชวนให้ค้นหาติดตามแตกต่างกันไป จนสามารถนำมาเล่าใหม่ให้น่าสนใจ และครบถ้วนด้วยกระบวนการผลิตในแต่ละวัสดุ ยกตัวอย่าง กรรมวิธีการย้อมเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย “คราม” ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาที่โดดเด่นของชาวอีสานที่ตกทอดและสืบต่อกันมาหลายรุ่น เพราะนอกจากจะต้องอาศัยความวิริยะอุตสาหะในกระบวนการผลิตแล้ว ยังต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญที่สั่งสมจากประสบการณ์อันยาวนานของแต่ละชุมชนที่ต่างก็สร้างสรรค์สูตรการย้อมขึ้นใหม่ เพื่อสร้างให้เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น และประเด็นที่ว่า วัสดุที่ดีต้องควบคู่กับงานฝีมืออันทรงคุณค่า ที่เห็นได้จาการทำงานฝีมืออย่าง “ประเกือม” เครื่องเงินที่แกะสลักลวดลายสุดประณีตจากภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือ “ขี้ผึ้งทำเทียนพรรษา” อันลือชื่อของชาวอีสาน ที่ไม่ว่าจะเป็นแบบแกะสลักหรือแบบติดพิมพ์ ก็นับว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยทั้งฝีมือและการฝึกฝนเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทั้งหมดนี้ คุณจะได้ทำความรู้จักกับวัสดุถิ่นอีสานมากขึ้น เหมาะอย่างยิ่งกับนักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของวัสดุแต่ละประเภทแล้ว ยังทำให้เข้าใจถึงภูมิปัญญาของชาวอีสานได้อย่างลุ่มลึก ทั้งเรื่องการออกแบบและการพัฒนาวัสดุ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองทุกประโยชน์ใช้สอย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไม่จำกัด