Shigeru Ban: จากแกนกระดาษ สู่สถาปัตย์เพื่อโลก
Materials & Application

Shigeru Ban: จากแกนกระดาษ สู่สถาปัตย์เพื่อโลก

  • 22 Apr 2014
  • 31702

หากพูดถึงสิ่งก่อสร้าง เรามักนึกถึงตึกรามบ้านช่องที่สร้างขึ้นด้วยวัสดุแข็งแรงทนทานอย่างคอนกรีต อิฐ หรือไม้ แต่ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งกระดาษแข็งจะสามารถนำมาสร้างสถาปัตยกรรมชิ้นใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ใช้งานได้จริง แต่ยังมีความคงทนถาวรและดีไซน์สวยงามแปลกตา ที่สำคัญคือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้คนมากมายในหลายพื้นที่ทั่วโลก

Shigeru Ban สถาปนิกไอเดียบรรเจิดชาวญี่ปุ่น เห็นว่าทุกครั้งที่เราส่งแฟ็กซ์จนกระดาษหมดม้วน แกนกระดาษที่เหลือใช้ก็ต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่แกนเหล่านั้นเป็นวัสดุที่แข็งมาก น่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านสถาปัตยกรรมได้ จึงไปติดต่อโรงงานผลิตแกนกระดาษและพบว่าสามารถสั่งผลิตแกนกระดาษให้มีขนาดกว้างยาวเท่าใดก็ได้ เขาจึงทดลองนำแกนกระดาษเหล่านี้มาใช้สำหรับงานตกแต่งภายในก่อน จนมั่นใจว่ามันแข็งแรงมากพอที่จะใช้เป็นโครงสร้างของตึกได้

Cardboard-interior.jpg 
© archdez.com

Shigeru Ban.JPG
© pritzkerprize.com

Shigeru สร้างอาคารจากแกนกระดาษสำเร็จครั้งแรกในปี 1995 โดยสร้างเป็นที่พักชั่วคราวให้กับผู้อพยพชาวเวียดนาม จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวโกเบ หลังจากนั้นเขาได้เดินทางไปยังสถานที่ประสบภัยพิบัติทั่วโลก เพื่อศึกษาถึงความต้องการของผู้ประสบภัย ไปจนถึงสภาพอากาศและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และนำมาพัฒนาสถาปัตยกรรมสำหรับผู้ประสบภัยที่สามารถรีไซเคิลได้และมีต้นทุนต่ำ โดยใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิในญี่ปุ่นในปี 2011 และสถานที่บรรเทาทุกข์อื่นๆ ในจีน เฮติ และรวันดา

ไม่เพียงเท่านี้ Shigeru ยังใช้แกนกระดาษแข็งขนาดยักษ์ในการสร้างโบสถ์รูปทรงสามเหลี่ยมที่สวยงาม ขนาดความจุถึง 700 คน เพื่อทดแทนโบสถ์เก่าที่พังทลายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองไครส์เชิร์ช นิวซีแลนด์ในปีเดียวกัน มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าอาคารที่สร้างจากแกนกระดาษจะอยู่ได้นานสักเท่าไหร่กัน เขาให้คำตอบว่าวัสดุที่คุณไม่เคยนึกถึงมาก่อน อาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงเช่นกัน และความคงทนของอาคารไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัสดุเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการวางแผนและความชาญฉลาดในกระบวนการออกแบบต่างหาก

church.jpg 
© architecturaldigest.com

Transitional-Cathedral.jpg
© warrenandmahoney.com
 
ผลงานการออกแบบเพื่อสังคมเหล่านี้ทำให้ Shigeru ได้รับรางวัลทรงเกียรติ Pritzker Architecture Prize 2014 ซึ่งมอบให้กับสถาปนิกเจ้าของผลงานที่มีคุณภาพระดับโลกและใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีดีเยี่ยมในการก่อสร้างเพียงปีละหนึ่งคนเท่านั้น โดย Shigeru จะเข้ารับรางวัลยิ่งใหญ่นี้ในเดือนมิถุนายน ที่พิพิธภัณฑ์ Rijksmuseum ในกรุงอัมสเตอร์ดัม

อ้างอิง: guardian.com, dezeen.com, pritzkerprize.com