ตามติดโครงการ The Cooperation 2 โดยห้องสมุด Material Connexion ตอนที่ 3 “การพัฒนาผ้าทอเส้นใยธรรมชาติ”
Materials & Application

ตามติดโครงการ The Cooperation 2 โดยห้องสมุด Material Connexion ตอนที่ 3 “การพัฒนาผ้าทอเส้นใยธรรมชาติ”

  • 01 May 2014
  • 58157

เรื่อง : สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์

DSC_5360.jpg

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ทีมงานและผู้เข้าร่วมโครงการ “The Cooperation 2” มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโรงงานทอผ้าของบริษัท ไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ จำกัด (จังหวัดสมุทรปราการ) เพื่อเรียนรู้ถึงที่มาและการพัฒนาผ้าทอเส้นใยธรรมชาติจากคุณบัณฑิต พงศาโรจนวิทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ผู้ซึ่งมาอธิบายถึงรายละเอียดในการวิจัยค้นคว้า การพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า และการสร้างโอกาสใหม่ในการตลาดด้วยตนเอง

ที่มาของบริษัท
บริษัท ไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ จำกัด เดิมชื่อ ซุ่น ฮั่ว หลี การทอ มีงานหลักคือการทอผ้า โสร่งพม่าสำหรับผู้ชาย และทอผ้าผืนเพื่อจำหน่ายในตลาดสำเพ็ง ปัจจุบันไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ดำเนินธุรกิจในตลาดสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก เช่น ผ้าทอสำหรับอุปกรณ์กีฬา ยานยนต์ หนังเทียม ผ้าทอที่เป็นชิ้นส่วนประกอบเพื่อเสริมความแข็งแรง รวมไปถึงกลุ่มสินค้าเครื่องนุ่มห่ม เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ฯลฯ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หัวเรือใหญ่อย่างคุณบัณฑิต พงศาโรจนวิทย์ ไม่เคยหยุดที่จะทำการวิจัยพัฒนาเส้นใยใหม่ๆ ด้วยมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นจะตอบสนองให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจอย่างสูงสุด โครงการที่คุณบัณฑิตมีส่วนขับเคลื่อนอย่างจริงจัง มีอาทิเช่น การร่วมวิจัยพัฒนาผ้าทอเพื่อใช้สำหรับงานก่อสร้าง Buildtech” (Construction Textiles), พัฒนาสิ่งทอที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “Ecotech” (Environmental-friendly Textiles), สิ่งทอสำหรับการกีฬา “Sporttech” (Sports Textiles), สิ่งทอสำหรับบรรจุภัณฑ์ “Packtech” (Packaging Textiles) นอกจากนั้น ยังผสานความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อพัฒนาเครื่องปั่นด้ายต้นแบบ “Pilot Spinning Machine” ที่ให้ผลลัพธ์คล้ายกับเครื่องปั่นด้ายด้วยมืออีกด้วย

ในช่วง 4-5 ปีให้หลังนี้ ทางบริษัทเราเริ่มค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการย้อมสีธรรมชาติ และการนำเส้นใยธรรมชาติมาผสมกับเส้นใยฝ้าย โดยเรามุ่งหวังว่าแนวทางการพัฒนาสิ่งทอเช่นนี้ จะช่วยสร้างเอกลักษณ์ใหม่ให้กับธุรกิจของเรา และเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดโลก

ที่ผ่านมาคุณบัณฑิตได้นำองค์ความรู้แที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของเมืองไทยมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการค้นคว้าทดลอง ซึ่งวิธีการเช่นนี้นอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุทางการเกษตรแล้ว ยังถือเป็นการต่อลมหายใจให้กับภูมิปัญญาชั้นยอดในหลายๆ ท้องถิ่น ซึ่งตัวเขาเองมองว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญในการสร้างสรรค์ธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วย

DSC_5237.jpg 

 

โรงงานที่เข้าเยี่ยมชมในวันนี้อยู่ในส่วนขั้นตอนการทอผ้าด้วยเครื่องจักรแบบมีกระสวย โดยริมขอบทั้งสองด้านของผ้าจะถูกเก็บชายให้เรียบ (ไม่มีขุยสามารถทอผ้าได้ทั้งสิ้น 6 ตะกอ พร้อมมีแผนกตรวจสอบคุณภาพผ้าทอทุกชิ้นก่อนนำส่งถึงมือลูกค้า


ตัวอย่างการพัฒนาสิ่งทอที่ต่อยอดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น
1. การทอเส้นใยจากพืชธรรมชาติผสมกับเส้นใยฝ้าย 
ส่วนใหญ่แล้วเส้นใยที่มาจากธรรมชาติ เช่น เส้นใยกล้วย เส้นใยนุ่น เส้นใยสับปะรด เส้นใยบัว ฯลฯ จะมีคุณสมบัติที่นุ่ม อ่อนตัว ม้วนเป็นเกลียวได้ง่าย หากผ่านกระบวนการปั่นเส้นใยแบบเปียก (Wet Spinning) แต่ด้วยว่าในประเทศไทยยังไม่มีเครื่องปั่นเส้นใยชนิดนี้

ดังนั้นการพัฒนาเบื้องต้นจึงมุ่งเน้นไปที่การนำเส้นใยจากพืชธรรมชาติมาหั่นให้สั้นลง” (ให้มีขนาดความยาว 1.5 – 2.5 มิลลิเมตร) แล้วนำมาปั่นผสมกับเส้นใยฝ้ายโดยวิธีการปั่นแบบแห้ง (Dry Spinning) และใช้อัตราส่วนของเส้นใยธรรมชาติประมาณ 10%-40% (ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของเส้นใยนั้นๆ)

นอกจากนั้น ในกระบวนการพัฒนายังต้องคำนึงถึงประเภทเส้นใยที่หาได้ง่ายในประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ (เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมภาพลักษณ์ให้นวัตกรรมสิ่งทอไทย)

เส้นใยธรรมชาติที่ผสมผสานกับเส้นใยฝ้ายนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มคุณสมบัติให้กับผ้าทอได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อนำเส้นใยกล้วยมาผสมกับไหมและฝ้าย ก็จะได้ผ้าทอที่มีสัมผัสอ่อนนุ่ม สวมใส่สบาย และเมื่อแสงตกกระทบก็จะสังเกตเห็นเลื่อมบนผิวผ้าได้อย่างชัดเจน หรืออย่างเส้นใยนุ่นหากนำมาผสมกับฝ้าย ก็จะให้ผลลัพธ์เป็นผ้าทอที่มีความนุ่ม เบาสบาย เพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย และช่วยระบายความชื้นได้ดี อะไรอย่างนี้เป็นต้น

DSC_5288.jpg 

2. การย้อมสีธรรมชาติ
จากต้นตอองค์ความรู้ของชาวบ้าน เช่น การนำพืชธรรมชาติไปต้มกับน้ำ ใส่สารเร่งช่วยให้สีติดทน ย้อมเส้นด้ายในอุณหภูมิที่เหมาะสม นำไปตากแห้ง ฯลฯ บริษัทไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ได้นำกรรมวิธีเหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอด สร้างมาตรฐานการ ชั่ง-ตวง-วัด เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ว่าคุณภาพของสีจากการย้อมธรรมชาตินั้นจะไม่ติดทนนานเหมือนกับการย้อมสีเคมี แต่วิธีการดังกล่าวก็สามารถลดปริมาณการปล่อยสารพิษสู่แหล่งน้ำได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกได้ด้วย (ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณบัณฑิตแนะว่าหากเราเรียนรู้วิธีการถนอมรักษาผ้าอย่างถูกต้อง สีย้อมจากพืชธรรมชาติก็จะติดแน่นทนนานได้เช่นกัน
 

สีที่ได้จากการย้อมด้วยพืชธรรมชาตินั้นมักจะเป็นสีในกลุ่มเอิร์ธโทน ไม่ฉูดฉาด เช่น สีเหลืองจากดอกดาวเรืองหรือขมิ้น สีดำจากผลมะเกลือ สีฟ้าหรือน้ำเงินจากต้นคราม สีแดงจากดอกกระเจี๊ยบ ฯลฯ

ถึงวันนี้ บริษัทไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ ยังคงทำงานค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยให้ก้าวหน้ามากขึ้น ทั้งในเรื่องของเส้นใยธรรมชาติ กระบวนการย้อมสีธรรมชาติ รวมไปถึงการให้ความร่วมมือกับสถาบันต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสให้กับสิ่งทอไทย

สำหรับโครงการ The Corporation 2 โดย Material Connexion® Bangkok ครั้งนี้ บริษัทไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ ได้จับคู่กับ ขนิษฐา นวลตรณี ศิลปิน / นักออกแบบสิ่งทอรุ่นใหม่ เพื่อร่วมกันพัฒนาวัสดุเส้นใยธรรมชาติ ที่จะตอบสนองต่อการใช้งานที่หลากหลาย (และแปลกใหม่) ได้ดียิ่งขึ้น

 DSC_5348.jpg

DSC_5322.jpg

DSC_5306.jpg

DSC_5336.jpg DSC_5279.jpg

** ติดตามก้าวต่อไปของโครงการ The Cooperation 2 ได้ทุกเดือนที่ www.tcdcconnect.com