ตามติดโครงการ The Corporation 2 โดย Material Connexion Bangkok ตอนที่ 4 : เวิร์คชอปครั้งที่ 2 (Brainstorm and Research)
Materials & Application

ตามติดโครงการ The Corporation 2 โดย Material Connexion Bangkok ตอนที่ 4 : เวิร์คชอปครั้งที่ 2 (Brainstorm and Research)

  • 26 May 2014
  • 20101

เรื่อง : สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์ และ วิสาข์ สอตระกูล

page.jpg

2.jpg 
 

คู่ที่หนึ่ง นวัตกรรมไบโอเซลลูโลส VS แฟชั่นแนวทดลอง

ผู้ผลิตวัสดุ : สมบัติ รุ่งศิลป์ (บจก.ไทยนาโนเซลลูโลส) ผู้ผลิตวัสดุไบโอเซลูโลสแบบแห้ง
นักออกแบบ : กฤษณ์ เย็นสุดใจ

โจทย์ความเป็นไปได้ในการออกแบบ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มไลฟ์สไตล์ ความงาม และของตกแต่ง

นำเสนอแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดย กฤษณ์ เย็นสุดใจ
กฤษณ์กล่าวว่าในฐานะที่เขาทำงานออกแบบผ้าทอ วัสดุเซลลูโลสแบบแห้งนี้ดูจะเป็น “วัสดุในอุดมคติ”​ ของเขาเลยทีเดียว กฤษณ์เรียกมันว่า “เทคโนเท็กซไทล์” (Techno textile) เพราะมันก็มีลักษณะการสานของเส้นใยไม่ต่างจากสิ่งทอชนิดอื่นๆ เพียงแต่เส้นใยเซลลูโลสนี้จะถักทอตัวเองได้โดยการให้อาหาร (ใส่แบคทีเรีย) และมีข้อดีที่ไม่ต้องใช้เครื่องจักรใดๆ เข้าช่วยเลย ถือเป็นวัสดุชนิดใหม่ที่อาจเปลี่ยนวิธีคิดในการทำสิ่งทอและเสื้อผ้าไปได้แบบพลิกฝ่ามือ

ในช่วงแรกนี้กฤษณ์ขอใช้เวลา เล่นกับความเป็นไปได้ต่างๆ ให้มากที่สุดก่อน เขาย้ำว่าเขาจะยังไม่มุ่งเป้าไปที่ผลลัพธ์ใดๆ ที่เป็นรูปธรรม เพราะวิธีคิดในเชิงแฟชั่นนั้นจะต้อง เล่นให้หนำใจก่อนแล้วค่อยทำจริงในตอนท้าย ซึ่งกระบวนการแบบนี้มักนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ ดีกว่าเสมอ  ล่าสุดกฤษณ์ได้ส่งสระว่ายน้ำเป่าลมขนาดใหญ่ 2 สระไปให้คุณสมบัติ (ผู้ผลิตวัสดุ) ลองเลี้ยงแบคทีเรียเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้คุณสมบัติแปลกใจพอควร เพราะเส้นใยเซลลูโลสนั้นสามารถเติบโตและขยายขนาดขึ้นได้อีกมหาศาล เมื่อเปรียบเทียบกับสเกลปกติที่คุณสมบัติผลิตอยู่

ข้อควรระวังเกี่ยวกับตัววัสดุ

1.เซลลูโลสแบบแห้งติดไฟง่ายมาก เป็นเชื้อไฟชั้นดีจนบางทีน่ากลัว
2.เซลลูโลสถูกกับน้ำมาก พร้อมดูดซับความชื้นตลอดเวลา ดังนั้นถ้าทำเสื้อผ้าก็จะไม่กันน้ำ แถมพอเปียกแล้วจะ “ซีทรู” (see-through) ด้วย

แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์

1.ต่อยอดเซลลูโลสแบบแผ่น (แบบเปียกที่เคยผลิตเป็นมาสก์บำรุงหน้าอยู่แล้ว) ให้มีแพทเทิร์นที่แตกต่างออกไป อาจจะทำให้ละเอียดขึ้น ซับซ้อนขึ้น เพื่อเพิ่มความพรีเมี่ยมให้กับผลิตภัณฑ์เดิม หรืออาจปรับแพทเทิร์นเพื่อนำไปใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ สรุปคือแนวทางนี้จะเน้นในเรื่องการคิดค้น “แพทเทิร์น” เป็นหลัก

2.นำเซลลูโลสแบบแห้งมาใช้เป็นวัสดุทดแทนกระดาษในกระบวนการพิมพ์ดิจิตอล (Digital print) โดยอาจนำไปต่อยอดเป็นวัสดุปิดผิวสำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์บางอย่าง อาทิเช่น ของเล่น ของตกแต่ง หน้ากาก ฯลฯ กฤษณ์มองว่าด้วยผิวสัมผัสของเซลลูโลสที่มีความเนียนนุ่ม ละเอียดคล้ายผิวหนังคน น่าจะทำให้เกิด effect ใหม่ๆ ที่น่าสนใจกับผลิตภัณฑ์ได้ (นอกจากนั้นแผ่นเซลลูโลสยังมีคุณสมบัติสำคัญอีกข้อ คือ แม้ว่าจะทำให้แห้งแล้วก็กลับไปเปียกได้อีก เพราะมีอัตราการดูดความชื้นกลับคืนสูงมาก)

3.ทำวัสดุเซลลูโลสให้เป็นของเหลวด้วยปฏิกิริยาเคมี และนำไปขึ้นรูปในเบ้าพิมพ์ (Mold) เพื่อสร้างเป็นชิ้นงานใหม่ ในกระบวนการนี้สามารถย้อมวัสดุสีเซลลูโลสได้ ดังนั้นจึงสามารถออกแบบให้เป็นหลายสีหลายเลเยอร์ได้เช่นกัน ที่สำคัญปัจจุบันนี้มีเครื่องพิมพ์สามมิติให้ใช้กันแพร่หลายแล้ว การทำ mold เป็นเรื่องง่าย นักออกแบบสามารถทำได้เอง ซึ่งน่าจะช่วยเปิดจินตนาการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้อีกมาก

4.นำโครงสร้างบางอย่างใส่ไปในตัววัสดุเซลลูโลสขณะที่เป็นของเหลว เป็นลักษณะของการผสมผสานวัตถุชนิดอื่นเข้าไปเหมือนเป็นโครงกระดูก เช่น ใบไม้แห้ง ลูกไม้ ฯลฯ จากนั้นค่อยทำตัววัสดุเซลลูโลสให้แห้งและแข็งตัวขึ้น แนวทางนี้กฤษณ์เองก็ยังไม่ทราบว่าจะเหมาะกับผลิตภัณฑ์พวกไหน แต่ที่แน่ๆ การใส่โครงสร้างบางอย่างเพิ่มเข้าไปก็น่าจะทำให้วัสดุเซลลูโลสแบบแห้งมีความแข็งแรงและเปราะแตกยากขึ้น

 ข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมเวิร์คชอป

- นอกจากเป็นวัสดุปิดแผลแล้ว เซลลูโลสน่าจะใช้งานเหมือนเป็น “ตัวช่วยลดการเสียดสี” สำหรับผู้ป่วยที่ต้องนอนติดเตียงได้ เพราะสังเกตว่าหลายคนต้องสอดท่อ สอดเข็ม ฯลฯ พอนานวันเข้าก็มักจะทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง

- หากพัฒนาเป็นของเล่นเด็กก็น่าสนใจ เพราะเป็นวัสดุที่มีความเป็นธรรมชาติสูง แม้ใส่สีก็เป็นสีผสมอาหารที่เป็นธรรมชาติได้

- หากเพิ่มคุณสมบัติเรื่องการป้องกัน UV เข้าไปได้ก็น่าจะดี จะได้ประยุกต์ใช้กับไลฟ์สไตล์ Outdoor เช่น ในกรณีที่บางคนไปทำหน้าหรือผ่าตัดมาแล้วหมอสั่งห้ามโดนแสง เป็นต้น

- ไอเดียหน้ากาก (มาสก์) ที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ดิจิตอลน่าสนุกดี เข้าถึงง่าย เหมาะกับตลาดแมส

- ในกรณีต่อยอดจากมาสก์บำรุงหน้า อาจทำให้มีหลายไซส์ หลายแบบ และมีลวดลายให้เลือกมากขึ้น

- ด้วยคุณสมบัติพื้นฐานของวัสดุที่มีความบริสุทธ์และเป็นธรรมชาติมากๆ ยังไงก็น่าจะสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มความงามเป็นหลัก

 4.jpg
 

คู่ที่สอง ปุยนุ่นธรรมชาติ VS งานออกแบบไลฟ์สไตล์โปรดักท์

ผู้ผลิตวัสดุ วิญญู วรัญญู (หจกที่นอนจารุภัณฑ์ผู้ผลิตนุ่นธรรมชาติ
นักออกแบบ : จุฑามาส บูรณะเจตน์ และ ปิติ อัมระรงค์ จาก O-D-A (Object Design Alliance)

โจทย์ความเป็นไปได้ในการออกแบบ สินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่บอกเล่าเรื่องราวและคุณสมบัติพิเศษของนุ่น

นำเสนอแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยทีมงาน O-D-A

ทีมงาน O-D-A ได้รับข้อมูลองค์ความรู้เรื่องวัสดุนุ่นจากผู้ผลิตวัสดุ ทำให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงคุณสมบัติของนุ่นมีความโดดเด่นมาก นอกจากนี้นุ่นยังสามารถปลูกง่าย โตเร็ว ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี และสามารถเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่ปีที่ 3 หลังจากการปลูก แต่สาเหตุหลักที่นุ่นหายไปจากท้องตลาดก็เพราะผู้ผลิตบางรายนำสารเจือปนเข้าไปผสม เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ส่งผลให้นุ่นไม่เป็นที่ยอมรับ ประกอบกับการพัฒนาเส้นใยสังเคราะห์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในระบบอุตสาหกรรม เช่น เส้นใยโพลีเอสเตอร์ เป็นแรงส่งที่ทำให้นุ่นหายไปจากท้องตลาดและกลายเป็นวัสดุที่ไม่มีคนนิยมใช้ ทั้งๆ ที่คุณสมบัติของนุ่นดีกว่าเส้นใยโพลีเอสเตอร์มากในราคาที่เท่าเทียมกัน

O-D-A วางเป้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยมุ่งหวังให้นุ่น”​ สามารถกลับเข้าสู่ตลาดได้อีกครั้ง โดยพวกเขาจะประสานศักยภาพของทั้ง 3 ฝ่ายเข้าด้วยกัน คือ

1.ตัววัสดุ : จะต้องดึงศักยภาพและคุณสมบัติของนุ่นมาใช้อย่างสูงสุด
2.ฝ่ายที่นอนจารุภัณฑ์ มีองค์ความรู้และเป็นผู้ผลิตวัสดุนุ่นอยู่แล้ว มีตลาดเครื่องนอนเดิมอยู่บ้าง และเป็นผู้เชี่ยวชาญในกระบวนการผลิตเครื่องนอน เช่น เตียง หมอน หมอนข้าง ฯลฯ
3.ฝ่าย O-D-A มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีช่องทางการขายผ่าน HAT Project (นำเสนอผลิตภัณฑ์ตามงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น TIFF, BIG+BIH) มีช่องทางการนำเสนอผลงานผ่านแบรนด์ Katoji ประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งปัจจุบัน O-D-A ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ด้วย) พร้อมทั้งมีทักษะการผลิตชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์ได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ ทีมงาน O-D-A ได้กำหนดขอบเขตของงานออกแบบไว้ เพื่อใช้ตรวจสอบความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยคำนึงถึง

1.ผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะต้องใช้นุ่นเป็นวัสดุหลัก โดยวางเป้าหมายสูงสุดไว้ที่ราว 80%
2.ร่างกายคนจะต้องสัมผัสกับผลิตภัณฑ์จากนุ่นให้มากที่สุด เพื่อตอกย้ำถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นของนุ่น
3.สอดคล้องกับความถนัดของผู้ผลิตวัสดุและทีมออกแบบ
4.เหมาะสมกับแนวทางการขายในท้องตลาด

จากการแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ตามหน้าที่การใช้งาน เช่น นั่ง นอน ถือ สวมใส่ และการแบ่งตามลักษณะชิ้นงานสุดท้าย เช่น นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ การแปรรูปวัสดุ ฯลฯ  ทีมงาน O-D-A ได้ตัดสินใจเลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่ม เตียงนอนเพราะสามารถตอบโจทย์เรื่องขอบเขตของงานได้มากที่สุด (เพราะร่างกายต้องสัมผัสกับที่นอนตลอดการนอนหลับ ผู้ผลิตที่นอนจารุภัณฑ์มีจุดแข็งด้านการผลิต และ O-D-A เองก็มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาสินค้ากลุ่มนี้อยู่แล้ว)

ข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมเวิร์คชอป

- น่าจะมองกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น เด็กหรือคนชราที่จำเป็นต้องนอนบนที่นอนในระยะเวลานานๆ เพื่อเน้นคุณสมบัติความเป็นธรรมชาติของนุ่น ปราศจากสารเจือปนที่เป็นพิษ พร้อมระบายอากาศได้ดี อีกทั้งตลาดกลุ่มนี้เป็นตลาดที่คนยอมจ่ายเงินสูงเพื่อแลกกับคุณสมบัติที่ดีเยี่ยม

- ถ้าเราสามารถสื่อสารให้ผู้บริโภคทราบว่านุ่นสามารถแก้ปัญหาอะไรได้บ้างก็จะทำให้คุณสมบัติของนุ่นมีความชัดเจนมากขึ้น

- จากรูปแบบการยัดนุ่นที่เป็นลักษณะเส้นใย ส่งผลให้การซ่อมแซมหรือการบำรุงรักษาเป็นไปได้ยาก ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ดังนั้นถ้าเราสามารถออกแบบถุงใส่นุ่นเป็นส่วนๆ แล้วค่อยนำถุงเหล่านี้ไปยัดลงในผลิตภัณฑ์ เราก็จะสามารถสร้างระบบโมดูล (Modular system) ในการยัดนุ่นเข้าที่นอน เก้าอี้ เบาะนั่ง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้

 

3.jpg

 

 

คู่ที่สาม ไม้อัดปิดผิว VS ดีไซน์เพื่อคุณภาพชีวิต

ผู้ผลิตวัสดุ : บจก.ลีโอวูด อินเตอร์เทรด ผู้ผลิตวัสดุไม้แปรรูปและไม้เอ็นจีเนียร์
นักออกแบบ : นิพิฐพนธ์ ภูริชบุญทรัพย์ จาก Millennium Ducks Design Store

โจทย์ความเป็นไปได้ในการออกแบบ พัฒนาลวดลายและรูปแบบของวัสดุเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานที่หลากหลาย

 

 

นำเสนอแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดย นิพิฐพนธ์ ภูริชบุญทรัพย์

หลังจากที่ได้ศึกษาทำความรู้จักกับวัสดุและกระบวนการผลิตของโรงงานลีโอวูดมาพักหนึ่ง นิพิฐพนธ์พบว่าโรงงานแห่งนี้มีศักยภาพในการพัฒนาวัสดุหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น

ไม้เอ็นจีเนียร์กันปลวก ที่มีข้อดีทั้งในด้านความประหยัด ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การติดตั้งและการควบคุมคุณภาพที่ง่าย รวมทั้งยังให้ความรู้สึกเหมือนไม้จริงด้วย
พื้นไม้ทนน้ำ 100% (WTC) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นจากพลาสติกและปิดผิวด้วยฟิล์มลายไม้
Wood Panel ผิวไม้จริงที่สามารถตัดแบ่งเป็นชิ้นๆ เพื่อการใช้งานที่สะดวกและหลากหลาย
ไม้แปรรูป วงกบประตู พื้นสำเร็จรูป ฯลฯ

นิพิฐพนธ์ให้ข้อสรุปว่าที่ผ่านมาโรงงานลีโอวูดจะเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้สอยภายใน (Interior use) เป็นหลัก แต่ที่เขาสนใจเป็นพิเศษก็คือเรื่องของ “ปรัชญาทางธุรกิจ” ที่โรงงานแห่งนี้มีความตั้งใจที่จะสร้าง “นวัตกรรมใหม่บนจิตสำนึกรักษ์โลก” ส่วนตัวเขาคิดจะจับประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นโจทย์ในการออกแบบ และตั้งใจที่จะทำผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้กรอบ “ความถนัด” ของทางโรงงานเท่านั้น

ปัจจุบันนี้โรงงานลีโอวูดมีกำลังการผลิตต่อปีประมาณ 3 ล้านตารางเมตร ซึ่งนิพิฐพนธ์มองว่ามีศักยภาพสูงมาก เขาได้เสนอให้ทางลีโอวูดลองพัฒนาสินค้าในกลุ่ม Outdoor use เพิ่มมากขึ้น (เพราะเห็นว่าเป็นกลุ่มที่ทางโรงงานยังไม่ได้ผลิตมากนัก)  โดยแนวคิดหลักของการพัฒนาครั้งนี้ก็คือ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นเพื่อทดแทนของที่มีอยู่เดิมในตลาด โดยผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบนี้ควรจะมีคุณสมบัติที่ดีกว่าในด้านการใช้งาน มีความสอดคล้องกับทักษะการผลิตของลีโอวูด คงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และท้ายสุดคือต้องเหมาะสมกับการทำตลาดเชิงพาณิชย์ด้วย

เมื่อตกลงร่วมกันได้ว่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่มีคุณสมบัติเพื่อการใช้งานภายนอก (Outdoor use) ทางลีโอวูดก็ได้นำเสนอวัตถุดิบ 2 ชนิดให้นิพิฐพนธ์กลับไปศึกษา นั่นก็คือ ไม้ยูคาลิปตัส และ ไม้ทาราวูด (ซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อนทั้งคู่ และถือว่าใช้งานค่อนข้างยากสำหรับงาน Outdoor)  อย่างไรก็ดี นิพิฐพนธ์มองว่าจุดเด่นของการทำไม้เอ็นจีเนียร์นั้นอยู่ที่กระบวนการประกอบและการใช้กาว เขาจึงคิดว่าอาจจะลองนำวัตถุดิบทั้งสองชนิดนี้เข้ามาผสมผสานในกระบวนการผลิตได้ นอกจากนั้น เขายังเล็งไปถึงการนำ “ขยะและเศษวัสดุ” ที่เหลือจากการผลิตของโรงงานมาพัฒนาร่วมด้วย อาทิเช่น อาจจะนำเศษขยะมาผสมเป็นแกนกลางของไม้เอ็นจีเนียร์ตัวใหม่ และใช้กาวที่พัฒนาให้มีคุณสมบัติสูงขึ้นเป็นตัวเชื่อม ฯลฯ

ท้ายสุดนิพิฐพนธ์ได้สรุปเป้าหมายคร่าวๆ ให้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไว้ 3 ข้อ คือ

1.ไม้เอ็นจีเนียร์ตัวใหม่นี้จะมีคุณสมบัติเท่าเทียมหรือใกล้เคียงที่สุดกับไม้เนื้อแข็ง สามารถใช้ทดแทนไม้เนื้อแข็งในงาน Outdoor ได้ และต้องกันปลวกด้วย
2.การผลิตต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ลีโอวูดทำได้เลย ไม่ต้องเพิ่มเครื่องจักรหรือตั้งไลน์การผลิตใหม่
3.สามารถนำไปต่อยอดใชักับงานเฟอร์นิเจอร์ งานก่อสร้างผนัง พื้น และอื่นๆ ภายนอกอาคารได้อย่างหลากหลาย มีโอกาสเติบโตเชิงพาณิชย์สูง

ข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมเวิร์คชอป
ในกรณีที่วัสดุนี้จะถูกต่อยอดไปใช้งานในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น อาจถูกตัดต่อ ดัดงอ ฯลฯ จึงควรต้องทดสอบเรื่องการทนน้ำให้ดี เกรงว่าคุณสมบัติข้อนี้จะลดถอยลงเมื่อวัสดุถูกแปรรูป
น่าจะมีโอกาสพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กหรือสินค้า D.I.Y. สำหรับชีวิตแนวตั้งด้วย เพราะคนอยู่คอนโดล้วนอยากมีพื้นที่ Outdoor ไว้สัมผัสธรรมชาตินิดๆ หน่อยๆ แต่ที่สำคัญคือต้องไม่เจอปลวกจริงๆ เพราะอาจทำให้เดือดร้อนเพื่อนบ้าน
ถ้าเป้าหมายในการพัฒนาครั้งนี้จะออกมาเป็น Raw material (วัตถุดิบ) ก็ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มนักออกแบบ/สถาปนิก ลูกค้ากลุ่มนี้คงตอบรับดีแน่นอน
ในเรื่องของขนาด น่าจะทำความหนาของตัววัสดุนี้ให้หลากหลายหรือแปลกประหลาดจากทั่วไปด้วย ผู้ใช้จะได้เลือกนำไปต่อยอดได้หลายรูปแบบ หลายวัตถุประสงค์ ฯลฯ

 

1.jpg 

 

 

คู่ที่สี่ ผ้าผสมเส้นใยธรรมชาติ VS งานศิลปะเท็กซ์ไทล์

ผู้ผลิตวัสดุ : บัณฑิต พงศาโรจนวิทย์ (บริษัท ไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ จำกัดผู้ผลิตวัสดุผ้าผสมเส้นใยธรรมชาติ
นักออกแบบ : ขนิษฐา นวลตรณี

โจทย์ความเป็นไปได้ในการออกแบบ นำวัสดุเส้นใยธรรมชาติไปประยุกต์ใช้ในแอพลิเคชั่นอื่นๆ

 

 

นำเสนอแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดย ขนิษฐา นวลตรณี
หลังจากศึกษาแนวทางการประกอบธุรกิจ การใช้งานวัสดุธรรมชาติ และได้เรียนรู้กระบวนการผลิตของไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ ขนิษฐาค้นพบว่าหัวใจหลักในการสร้างความยั่งยืนของโรงงานนี้ ก็คือ การนำแนวความคิดเรื่อง “Eco Trend” มาปรับใช้เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาด โดยเฉพาะกับ ตลาดญี่ปุ่นและตลาดยุโรปซึ่งเป็นตลาดพรีเมี่ยมที่มีความต้องการพิเศษเฉพาะตัว (Niche Market)

หลายปีที่ผ่านมา โรงงานไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ได้ค้นคว้าวิจัยวัสดุจากธรรมชาติเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกับเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น สับปะรด กล้วย ใยตาล ต้นข่า ฯลฯ นอกจากนั้นทางโรงงานยังได้ทดลองพัฒนาเครื่องปั่นเส้นใยแบบแห้ง” (Dry Spinning) ขึ้นใหม่ ทำให้สามารถผสมเส้นใยธรรมชาติเข้ากับเส้นใยฝ้าย และเส้นใยที่ปั่นออกมาใหม่จะมีผิวสัมผัสไม่สม่ำเสมอ อันเป็นเอกลักษณ์ของเส้นใยผสมคล้ายกับการปั่นด้ายด้วยมือ

ขนิษฐาท้าทายโจทย์ของเธอโดยเสนอแนวคิดการนำเส้นใยธรรมชาติ 100% มาสร้างสรรค์ผลงาน แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีเครื่องจักรที่สามารถปั่นเส้นใยธรรมชาติ 100% ด้ (เพราะต้องใช้ระบบการปั่นแบบเปียก หรือ Wet Spinning) เธอจึงสรุปกับทางไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ว่าจะนำเส้นใยธรรมชาติไปปั่นที่ประเทศจีนเพื่อให้ได้เส้นใยจากธรรมชาติ 100% และขอเลือก เส้นใยจากใบสับปะรดมาเป็นโจทย์ในการทำงาน (แม้ว่าเมืองไทยจะมีพืชที่มีเส้นใยเซลลูโลสแบบยาว เช่น ใยบัวหรือใยข่า แต่เมื่อพิจารณาถึงแหล่งวัตถุดิบ การขนส่ง และอื่นๆ แล้ว ทีมงานเห็นว่าเส้นใยสับปะรดมีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบในปริมาณมาก หาได้ง่ายเมื่อเทียบกับเส้นใยจากพืชชนิดอื่น)

หัวใจของการออกแบบสิ่งทอ
ขนิษฐากล่าวว่าหัวใจในการออกแบบสิ่งทอนั้นประกอบไปด้วย 3 เรื่องหลัก คือ

1.Technology : หมายรวมถึงการค้นคว้าวิจัยเพื่อค้นหาศักยภาพสูงสุดของเส้นใยก่อนนำไปใช้งาน เช่น การหาแนวทางในการผลิตเส้นด้าย กระบวนการย้อมสีชิ้นผ้าหลังจากการทอ ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้นักออกแบบทราบถึงคุณสมบัติและคุณลักษณะของเส้นใยๆ นั้นๆ ก่อนการออกแบบ
2.Aesthetic : คือการนำเส้นใยธรรมชาติมาออกแบบลวดลาย (Pattern) สร้างผิวสัมผัส (Texture) และเลือกสีที่เหมาะสม (Colour) เพราะการเพิ่มลูกเล่นในกรรมวิธีย้อมสี การกำหนดโครงสร้างการทอ ฯลฯ นี้ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเอกลักษณ์ให้กับเส้นใยนั้นๆ
3.Function : หมายถึงการนำคุณลักษณะ คุณสมบัติ รวมไปถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเส้นใยมาจับคู่กับรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ขนิษฐามองเห็นความเป็นไปได้ ก็มีเช่น กลุ่มสินค้า Accessories เช่นกระเป๋า กลุ่มสิ่งทอเพื่องานตกแต่งภายใน (Interior Textile) เช่นแผ่นปิดผนัง (Wall Covering) พรม ม่าน และของใช้ภายในบ้าน

ท้ายสุดขนิษฐาวางเป้าว่าจะพยายามสร้างงานจากเส้นใยสับปะรด 100% เพราะต้องการให้ผลิตภัณฑ์นี้มีความเป็นธรรมชาติสูงสุด โดยจะพยายามหลีกเลี่ยงการเคลือบผิวผ้า (Fabric Treatment) และมุ่งหวังให้เส้นใยสับปะรดได้โชว์คุณลักษณะและคุณสมบัติแบบเต็มๆ

ข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมเวิร์คชอป
ชอบผิวสัมผัสของเส้นใยที่มีเปลือกไม้ซ่อนอยู่ แต่ให้ระวังเรื่องผิวสัมผัสกับการใช้งาน ดังนั้นการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
เนื่องจากผิวสัมผัสของเส้นใยมีความสาก จึงอาจจะไม่เหมาะกับการทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสกับร่างกาย เช่น เสื้อหรือกางเกง
แนวคิดการย้อมสีเส้นใยก่อนทอเป็นผ้าผืน น่าจะสร้างลูกเล่นและสีสันได้โดดเด่นกว่าการย้อมผ้าเมื่อเสร็จเป็นผืนแล้ว