Natural Material and Process
Materials & Application

Natural Material and Process

  • 01 Dec 2013
  • 4727
วัสดุธรรมชาติอย่างไม้ อิฐ หรือหินที่นำมาใช้เพื่อการก่อสร้างในปัจจุบัน ดูผิวเผินอาจคล้ายวัสดุที่มีมาดั้งเดิมแต่ปัจจุบันกลับได้รับการพัฒนาให้มีวิธีการใช้งานและรูปแบบที่ทั้งหลากหลายและแตกต่างไปจากเดิม ด้วยเทคโนโลยีล้ำยุคที่เข้ามาช่วยทำให้วัสดุมีประสิทธิภาพ สวยงาม และมีมูลค่าเพิ่ม ทั้งยังคงคุณสมบัติและประโยชน์ใช้สอยที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
 
Res_Daylighting_Hero2.jpg

จากเพียงการนำไม้ยางจากต้นยางที่หมดอายุการให้น้ำยางแล้วมาเป็นวัสดุหลักในการสร้างบ้าน เทคโนโลยีปัจจุบันได้เข้ามาช่วยปรับปรุงคุณสมบัติของไม้ยางเหล่านี้ใหม่ ด้วยการนำมาผ่านการอบความร้อนโดยไม่ใช้สารเคมีเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างภายในเนื้อไม้ให้มีความทนทาน ความเสถียรด้านขนาด ไม่หดตัว และทำให้เนื้อไม้แข็งขึ้นอย่างน้อยหนึ่งระดับ ทั้งยังทำให้เนื้อไม้สีเข้มขึ้นคล้ายสีของไม้สัก นอกจากนี้ยังเป็นการปรับคุณสมบัติช่วยกันความชื้น ทำให้ไม้มีความชื้นต่ำลง บิดตัวจากความชื้นน้อยลง และทนทานต่อสภาพลมฟ้าอากาศได้ดี นอกจากนี้ ยังมีการผลิตไม้ประกอบใหม่สำหรับปูพื้นที่ทำจากไม้โอ๊กซึ่งมีแผ่นแกนกลางกันปลวก ประกอบด้วยชั้นวัสดุ 3 ชั้นหลักที่อัดประกบเป็นแผ่นเดียวกันด้วยความร้อน ได้แก่ ผิวเคลือบชั้นนอกสุดเป็นอะคริลิกแลกเกอร์กันยูวีทำหน้าที่ปกป้องสีของเนื้อไม้ ชั้นวีเนียร์ไม้จริงเกรดเอ และชั้นไม้เนื้อแข็งหกชั้นที่ปรับสภาพให้ต้านทานปลวกซึ่งรับประกันนานถึง 5 ปี ประกอบติดกัน 2 ชิ้นเพื่อทำเป็นระบบติดตั้งแบบเซาะร่องรางลิ้น คุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้ไม้แปรรูปสามารถนำมาใช้ทดแทนไม้จริงได้อย่างดีเยี่ยม และยังสามารถใช้งานภายนอกอาคารได้ทั้งบริเวณพื้นไม้ระเบียง และริมสระว่ายน้ำ     
   
นอกจากประเด็นเรื่องวัสดุในการก่อสร้างอย่างไม้แปรรูปที่เพิ่มคุณสมบัติแล้ว แสงธรรมชาติที่ช่วยให้แสงสว่างภายในบ้านก็เป็นเรื่องที่สำคัญ บริษัท โซลาทิวบ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Solatube International, Inc.) ได้คิดค้นระบบที่มีประสิทธิภาพในการดักจับแสงอาทิตย์ให้ส่องผ่านท่ออะลูมิเนียมซึ่งเคลือบภายในด้วยพื้นผิวที่สะท้อนแสงให้เข้าสู่พื้นที่ภายในบ้าน โดยการทำงานของท่อและอุปกรณ์กระจายแสงที่ฐานท่อจะช่วยกำหนดทิศทางของแสงภายในห้อง เพียงติดตั้งชุดอุปกรณ์ดังกล่าวบนหลังคา ก็สามารถใช้แทนหลอดไฟได้อย่างดี นอกจากนี้ท่อดังกล่าวยังสามารถนำแสงได้ยาวถึง 12 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางท่อตั้งแต่ 10, 14 และ 21 นิ้ว เหมาะสำหรับใช้ในที่พักอาศัย ทางเดิน ห้องที่อยู่ในมุมอับแสงหรือพื้นที่เชิงพาณิชย์ นับเป็นการปฏิวัติเรื่องการใช้แสงธรรมชาติเพื่อที่อยู่อาศัยและลดการใช้พลังงานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
   
แม้รูปแบบการดำเนินชีวิตในสังคมเมืองจะทำให้ผู้คนถอยห่างจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าไปทุกที แต่มนุษย์และธรรมชาติต่างก็เป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกัน ส่งผลให้ในระยะหลังผู้คนจำนวนมากหันมาเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการออกแบบที่พักอาศัย ซึ่งสามารถทำให้ทั้งคนอาศัยและอาคารบ้านเรือนกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบได้อย่างลงตัวและมีประสิทธิภาพสูงสุด

เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และ ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข

ที่มา
leowood.com
solatube.com