ตามติดโครงการ The Cooperation ปี 2 ตอน 8/8 “Final Product” with Material Connexion Bangkok
Materials & Application

ตามติดโครงการ The Cooperation ปี 2 ตอน 8/8 “Final Product” with Material Connexion Bangkok

  • 15 Jul 2014
  • 23940

เรื่อง : วิสาข์ สอตระกูล / สุวิทย์ วงศ์รุจิราวาณิชย์

page.jpg

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

_MG_4482.jpg

 

คู่ที่หนึ่ง : นวัตกรรมไบโอเซลลูโลส VS แฟชั่นแนวทดลอง
ผู้ผลิตวัสดุ : สมบัติ รุ่งศิลป์ (บจก.ไทยนาโนเซลลูโลส) ผู้ผลิตวัสดุไบโอเซลูโลสแบบแห้ง
นักออกแบบ : กฤษณ์ เย็นสุดใจ
โจทย์ความเป็นไปได้ในการออกแบบ : ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มไลฟ์สไตล์ ความงาม และของตกแต่ง

แม้จะได้แนวทางการออกแบบงานขั้นสุดท้ายแล้ว แต่ อ.กฤษณ์ ก็ยังไม่หยุดเล่นสนุกกับตัววัสดุ โดยล่าสุดเขาได้นำเศษเซลลูโลสแบบเปียกมาลองม้วนๆ ปั่นๆ ให้เป็นเหมือนเส้นด้ายกลมๆ ขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง จากนั้นก็ลองนำมาสานขัดกันและทุบให้แบนลงจนดูคล้ายกับ “หนังจรเข้ ซึ่ง อ.กฤษณ์ คิดว่าเขาจะลองนำเทคนิคนี้มาผลิตเป็น texture ชั้นบนสุดของกระเป๋า และตั้งใจจะลองขึ้นรูปกระเป๋าใบนี้แบบไร้ตะเข็บทั้งใบ (ด้วย mold เพียงชิ้นเดียว)

อ.กฤษณ์ หวังไว้ว่ากระเป๋าชิ้นสำเร็จใบนี้จะดูใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากหนังจรเข้เทียมมากที่สุด ส่วนกระเป๋าอีกใบที่กำลังผลิตอยู่ ก็หวังว่าจะออกมาใกล้เคียงกับ Hermes 'Birkin' ไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งอันนี้ก็คงต้องรอดูกันในนิทรรศการจริงว่าจะ “เหมือนแค่ไหน” และจะสมกับแนวคิดเรื่อง Sustainable Craft Replica ที่เขาวางไว้แต่ต้นรึเปล่า

 

ข้อคิดเห็นจากผู้ร่วมเวิร์คช็อป

ฝ่ายเจ้าของวัสดุแนะว่าการจะขึ้นรูปหรือสร้างลวดลายที่ชัดเจนบนผิวเซลลูโลสมีเทคนิคสำคัญอยู่ที่การสร้าง โครง”​ ให้มันในตอนแรก ดังนั้นนักออกแบบอาจต้องทำเซลลูโลสชั้นบนสุดให้แห้งและแข็งไว้ก่อนเพื่อเป็นโครง จากนั้นค่อยนำไปแปะกับเซลลูโลสแบบเปียกที่อยู่ในชั้นล่างๆ ลงไป

- น่าจะแต่งกลิ่นเพิ่มอีกเล็กน้อยก่อนจะนำไปผลิตจริง (ตัวอย่างวัสดุที่นำมาให้ดูในรอบนี้ไม่ได้บริสุทธ์ปลอดเชื้อ 100% จึงมีกลิ่นอับๆ)

- ถ้าใส่สีสรรหรือลวดลายอื่นเพิ่มลงไปในระหว่างการผลิตด้วย ก็น่าจะช่วยให้กระเป๋าใบนี้สื่อสารตัวเองง่ายขึ้น

 
_MG_4365.jpg

 

คู่ที่สอง: ปุยนุ่นธรรมชาติ VS งานออกแบบไลฟ์สไตล์โปรดักท์

ผู้ผลิตวัสดุ: วิญญู วรัญญู (หจก. ที่นอนจารุภัณฑ์) ผู้ผลิตนุ่นธรรมชาติ

นักออกแบบ: จุฑามาส บูรณะเจตน์ และ ปิติ อัมระรงค์ จาก O-D-A (Object Design Alliance)

โจทย์ความเป็นไปได้ในการออกแบบ: สินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่บอกเล่าเรื่องราวและคุณสมบัติพิเศษของนุ่น

ทีมงานคู่นี้ได้นำแนวคิดและข้อแนะนำจากเวิร์คชอปครั้งก่อนไปพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์จริง แต่ผลปรากฏว่าต้นแบบเก้าอี้ที่ทำขึ้นยังติดปัญหาสำคัญอยู่ 2 จุด คือ

1. นุ่นที่ยัดไว้ในแต่ละช่องมีความแข็งอัดกันแน่น ทำให้ไม่สามารถกดเป็นที่นั่ง Stool หรือเป็นเก้าอี้ในลักษณะ Bean Bag ได้

2.  เมื่อทีมงานลองลดปริมาณนุ่นลง ตัวเก้าอี้ก็กลับยวบเกินไปจนไม่สามารถรักษารูปทรงในขณะที่นั่งได้

ด้วยเหตุนี้ทีมงานจึงจำเป็นต้องปรับปรุงรูปทรงและแพทเทิร์นของเก้าอี้ใหม่อีกครั้ง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.  แทนที่จะม้วนชิ้นงานเป็นวงกลม (รูปโดนัท) แล้วผูกเชือกเพื่อขึ้นรูปเป็นเก้าอี้ ทีมนักออกแบบได้ปรับแพทเทิร์นใหม่โดยเย็บเก้าอี้ให้เป็นรูปโดนัทตั้งแต่ต้น รวมทั้งมีการเดินด้ายเสริมเพื่อจะสร้างอยพับเป็นไกด์ให้กดปรับรูปทรงเป็นเก้าอี้ได้ง่ายขึ้น (ซึ่งเมื่อพับแล้วก็จะมีส่วนรองนั่งพร้อมพนักพิงที่ชัดเจน) สังเกตว่าแพทเทิร์นที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้สามารถควบคุมรูปทรงของเก้าอี้ได้ดีขึ้นมาก ไม่เกิดปัญหาการยุบตัวเหมือนเก่า

2. สำหรับการยัดนุ่น ทีมงานยังคงแนวคิดเรื่องการแบ่งห้องที่แยกเป็นอิสระ แต่ชิ้นงานตามแพทเทิร์นใหม่จะไม่สามารถถอดนุ่นแต่ละห้องออกมาซักได้ ต้องอาศัยวิธีทำความสะอาดแบบทั้งตัวแทน
 

ข้อคิดเห็นจากผู้ร่วมเวิร์คช็อป

- หลายท่านชอบแพทเทิร์นแบบเดิมมากกว่า เพราะดูแปลกใหม่น่าสนใจและมีประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลาย เช่น สามารถปรับเป็นที่นอนได้ด้วย
- อยากให้ทีมงานนำรูปทรงแบบเก่ากลับมาศึกษาอีกครั้ง และลองหาวิธีแก้ปัญหาเรื่องการยัดนุ่นและการพับเพิ่มเติม

 
_MG_4404.jpg
 

คู่ที่สาม : ไม้อัดปิดผิว VS ดีไซน์เพื่อคุณภาพชีวิต

ผู้ผลิตวัสดุ : บจก.ลีโอวูด อินเตอร์เทรด ผู้ผลิตวัสดุไม้แปรรูปและไม้เอ็นจีเนียร์
นักออกแบบ : นิพิฐพนธ์ ภูริชบุญทรัพย์ จาก Millennium Ducks Design Store
โจทย์ความเป็นไปได้ในการออกแบบ : พัฒนาลวดลายและรูปแบบของวัสดุเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานที่หลากหลาย

นิพิฐพนธ์พยายามจะเล่นสนุกกับ วงปี ในท่อนซุงที่เขาม้วนขึ้นใหม่ โดยเริ่มจากการลองสร้างลวดลายแปลกๆ ที่ไม่ใช่แค่วงกลมหรือวงรีธรรมดาๆ (เช่น รูปทรงดอกไม้ ฯลฯ) ทั้งนี้เพื่อจะเน้นย้ำความพิเศษ หรือความ unique ของตัววัสดุนี้ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น นอกจากนั้น เขายังอยากจะเพิ่ม สีสรรที่แปลกตาเข้าไปในเนื้อไม้แต่ละชั้นด้วย (เช่น ใส่สีฟลูออเรสเซนต์, สี glow in the dark) เพราะเขาคิดว่าองค์ประกอบใหม่ๆ เช่นนี้แหละที่จะครีเอท Wow Factor ให้กับการนำวัสดุตัวนี้ไปประยุกต์ใช้งานในอนาคตได้  ความคาดหวังของนิพิฐพนธ์ต่อวัสดุตัวใหม่นี้คือ เขาอยากให้มีใครนำมันไปต่อยอดเป็น architecture products ที่เล่นกับเรื่องแสงหรือเรื่องบรรยากาศ เช่น อาจจะเป็นขั้นบันไดหรือราวบันไดที่เกรนไม้เรืองแสงได้ (ให้ประโยชน์ด้านความปลอดภัย) หรืออาจจะเป็นผนังตกแต่ง หรือเป็น wood feature ในสวนที่ทำให้เกิดบรรยากาศใหม่ๆ เป็นต้น 

สำหรับในนิทรรศการที่จะเกิดขึ้นต่อไป นิพิฐพนธ์คิดว่าจะลองนำวัสดุตัวใหม่นี้ไปออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น เป็นโต๊ะหรือประตู ทั้งนี้เพื่อจะทำให้ตัววัสดุดูมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น ผู้ชมสามารถเห็น สัจจะของวัสดุอย่างชัดเจน และที่สำคัญคือสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับตัวชิ้นงานได้ด้วย

 

ข้อคิดเห็นจากผู้ร่วมเวิร์คช็อป

ฝ่ายผู้ผลิตชื่นชมกับผลงานที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มาก และขอบคุณผู้ร่วมเวิร์คชอปทุกคนที่คอยให้คำแนะนำมาตลอด เพราะหลายๆ ความเห็นนั้นถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาผลงานในครั้งนี้

-  สำหรับไอเดียการผลิตชิ้นงานแสดงเป็น โต๊ะแนะนำให้ทำเป็นลักษณะ ฟรีฟอร์ม’ (เลียนแบบไม้ซุงจริง) เพราะคิดว่าน่าจะสื่อสารถึงเอกลักษณ์ของวัสดุนี้ได้ดียิ่งขึ้น

- ชื่นชมการแปรรูปเศษวัสดุครั้งนี้อย่างมาก เพราะถือเป็นผลงานที่มีจุดขายชัดเจน และน่าจะมีศักยภาพเชิงพาณิชย์ที่สูงทีเดียว

- นอกจากการแต่งสีเกรนไม้แล้ว ถ้าสามารถแต่งกลิ่นไม้ได้ด้วยก็น่าจะทำให้ผลงานนี้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก

_MG_4442.jpg

 

คู่ที่สี่: ผ้าผสมเส้นใยธรรมชาติ VS งานศิลปะเท็กซ์ไทล์

ผู้ผลิตวัสดุ: บัณฑิต พงศาโรจนวิทย์ (บริษัท ไทยนำโชคเท็กซ์ไทล์ จำกัด) ผู้ผลิตวัสดุผ้าผสมเส้นใยธรรมชาติ
นักออกแบบ: ขนิษฐา นวลตรณี
โจทย์ความเป็นไปได้ในการออกแบบ: นำวัสดุเส้นใยธรรมชาติไปประยุกต์ใช้ในแอพลิเคชั่นอื่นๆ

ขนิษฐาได้นำแพทเทิร์นลายผ้าทั้ง 3 แบบไปทดลองทอที่โรงงานไทยนำโชคฯ โดยมีช่างผู้เชี่ยวชาญช่วยร้อยเส้นด้ายยืนพร้อมป้อนคำสั่งวิธีการยกตะกอบนเครื่องจักรอุตสาหกรรม เธอเล่าว่ากระบวนการนี้ใช้เวลาไปเกือบ 3 วัน เนื่องจากแพทเทิร์นที่ออกแบบไว้มีความละเอียดซับซ้อนมาก

ส่วนในรายละเอียดด้านการเลือกเส้นใยนั้น ขนิษฐาใช้เส้นใยฝ้ายมาตั้งเป็นเส้นยืนทั้งหมดเพื่อความแข็งแรง แต่ส่วนของเส้นพุ่งเธอได้เลือกเส้นใยธรรมชาติที่มีอยู่ในโรงงานมาทดลองทอ เช่น เส้นใยสับปะรด เส้นใยข่า เส้นใยบัว เส้นใยผักตบ เส้นใยไผ่ เส้นใยฝ้ายเขียว เส้นใยฝ้ายน้ำตาล ฯลฯ

ซึ่งจากการทดลองก็พบว่าเส้นใยที่มีขนาดใหญ่และหนาจะทำให้เกิดลวดลายที่ชัดเจนกว่าเส้นใยที่มีขนาดเล็ก และการใช้เส้นใยที่แตกต่างกันนี้ก็ทำให้ผ้าทอทั้งผืนมีผิวสัมผัสที่ต่างกันไปด้วย

นอกจากนั้น ขนิษฐายังให้ความสำคัญกับการทำทรีตเม้นท์ผ้าในตอนจบ โดยเธอกล่าวว่าขั้นตอนนี้จะปรับผิวสัมผัสสุดท้ายของผ้าทอให้นุ่มลง เหมาะกับการนำไปใช้งานมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญการทำทรีตเม้นท์ผ้านี้อาจช่วยเสริมให้เส้นใยธรรมชาติบางชนิดดูสวยงามขึ้นอีก อาทิเช่น ใยฝ้ายเขียวเมื่อนำมาผ่านการทรีตเม้นท์ก็จะเห็นสีเขียวที่ชัดเจนยิ่งขึ้น (การทำทรีตเม้นท์ผ้ามีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ด้านประโยชน์ใช้สอยและความงาม)

ข้อคิดเห็นจากผู้ร่วมเวิร์คช็อป

- ฝ่ายผู้ผลิตกล่าวว่าการทำงานร่วมกับนักออกแบบช่วยฉีกภาพลักษณ์ของผ้าทอเดิมๆ ไปได้มาก และพวกเขาเชื่อว่าผลงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนี้จะช่วยสร้างโอกาสเชิงพาณิชย์ให้กับธุรกิจที่ทำอยู่ได้อย่างแน่นอน

- นอกจากผ้าทอชิ้นใหญ่ที่จะนำเสนอในนิทรรศการแล้ว ขนิษฐาน่าจะนำผ้าทอนี้ไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น กระเป๋า หมอนอิง ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการใช้งานของผ้าด้วย