หลังคาไม้ไผ่ลอนลูกฟูก และ คอนกรีตผสมเถ้าจากแกลบ นวัตกรรมแปลงขยะทางการเกษตรเป็นวัสดุก่อสร้าง
Materials & Application

หลังคาไม้ไผ่ลอนลูกฟูก และ คอนกรีตผสมเถ้าจากแกลบ นวัตกรรมแปลงขยะทางการเกษตรเป็นวัสดุก่อสร้าง

  • 01 Oct 2014
  • 7240
จากการพัฒนางานด้านวิศวกรรมโยธาที่เฟื่องฟูในอินเดีย ทำให้เกิดความท้าทายอย่างมากในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ผนวกกับความต้องการในด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และประเด็นปัญหาด้านมลพิษ โดยทั้งหมดล้วนเป็นแรงผลักให้เกิดนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างที่แตกต่างไปจากเดิม


ย้อนกลับไปในปี 1990 รัฐบาลกลางของอินเดียได้จัดตั้ง "สภาส่งเสริมเทคโนโลยีและวัสดุก่อสร้าง (BMTPC: Building Material & Technology Promotion Council)" ขึ้น เพื่อส่งเสริมการใช้วัสดุก่อสร้างและเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีต้นทุนที่เหมาะสม โดยวัสดุจากธรรมชาติที่ BMTPC พิจารณาว่ามีศักยภาพในการผลิตวัสดุก่อสร้างนั้นมีถึง 27 ชนิด ตั้งแต่เศษเหลือใช้จากอุตสาหกรรมการเกษตร ไม้จากป่าปลูก ฟางข้าว ข้าวสาลี ชานอ้อย ใยมะพร้าว ไปจนถึงเส้นใยกัญชง  ซึ่งในปัจจุบัน BMTPC ยังได้มีการนำเอานวัตกรรมเข้าไปจับกับวัสดุตั้งต้นเหล่านี้เพื่อพัฒนาเป็นวัสดุก่อสร้างที่โดดเด่นและมีศักยภาพด้วยคุณสมบัติด้านความทนทาน ราคาที่คุ้มค่า และยังหาง่ายในท้องถิ่น

จากที่ BMTPC พบว่ามีเศษเหลือใช้จากอุตสาหกรรมเกษตรที่มีศักยภาพมากมายในอินเดีย และได้ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่ทำงานวิจัยเฉพาะด้าน อาทิ สถาบันวิจัยอุตสาหกรรมไม้อัดแห่งอินเดีย (IPIRTI: Indian Plywood Industries Research & Training Institute) เพื่อพัฒนาวัสดุที่สามารถนำมาผลิตเป็นวัสดุระบบอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ ได้จริง หนึ่งในนั้นคือ การนำไม้ไผ่มาแปรรูป เป็น "แผ่นไม้ไผ่ลอนลูกฟูก" สำหรับหลังคาเพื่อใช้ทดแทนแผ่นแร่ใยหิน (Asbestos) และแผ่นเหล็กเคลือบสังกะสี โดยไม้ไผ่ลอนลูกฟูกแต่ละแผ่นจะผ่านกระบวนการนำลูกกลิ้งมาอัดแผ่นไม้ไผ่ที่เคลือบด้วยเรซินฟีนอลฟอร์มัลดีไฮด์ผ่านความร้อน แปรสภาพจนเป็นแผ่นไม้ไผ่ลอนลูกฟูกที่ทนทานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังต้านทานไฟได้ดี ปัจจุบันได้มีการนำแผ่นไม้ไผ่ลอนลูกฟูกไปใช้สำหรับการสร้างบ้านราคาถูกในรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่มักเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง  

 

thehindu.jpg

นอกจากนี้ อีกหนึ่งวัสดุที่นำมาใช้งานจริงในอุตสาหกรรมก่อสร้างของอินเดีย คือ "คอนกรีตผสมเถ้าจากแกลบ"  โดยนำเถ้าจากแกลบ (RHA-Rice Husk Ash) มาผสมลงในคอนกรีตเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของคอนกรีตให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นและการแข็งตัวเป็นไปได้ดี  เพราะเมื่อซิลิก้าที่อยู่ในเถ้าแกลบเข้าไปผสานกับแคลเซียมไฮดรอกไซด์ที่เป็นส่วนประกอบของคอนกรีตจะช่วยเพิ่มความทนทานในสภาวะแวดล้อมที่เป็นกรดได้ดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังเพิ่มความแข็งแรง โดยเพิ่มความหนาแน่นระหว่างชั้น จึงมีความทนทานสูง ป้องกันการซึมผ่านของน้ำและอากาศอากาศ ลดปฏิกิริยารวมตัวของด่างซึ่งช่วยลดการขยายตัวและขนาดของรูพรุน  คอนกรีตผสมเถ้าแกลบจึงนับเป็นวัสดุใหม่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในอุตสาหกรรมก่อสร้างของอินเดีย ทั้งยังเป็นการนำเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรมาบูรณาการเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพได้เป็นจำนวนมาก

เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และ ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข 
 
พบกับวัสดุต้นคิดที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ Material ConneXion® Bangkok
 
glass tile.jpg
 
Hybrid Wood                                        
หมายเลขวัสดุ MC# 6822-01
ผลิตโดย บริษัท โซลูแมท จำกัด ประเทศไทย
แผ่นคอมโพสิตไม้และพลาสติก (WPC: Wood plastic composite) ประกอบด้วยโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูงร้อยละ 60 และเซลลูโลสจากไม้เนื้อแข็งร้อยละ 40 มีคุณสมบัติทนทานต่อสภาพอากาศ ทนความชื้นและต้านรังสียูวีได้โดยไม่ต้องทาสีรองพื้น ไม่ลามไฟตามมาตรฐาน UL 94 HB นำไปรีไซเคิลได้ ทั้งยังนำไปแปรรูปโดยใช้เครื่องมืองานไม้ทั่วไปและง่ายต่อการติดตั้ง มี 4 สีให้เลือก (ไม้สัก โอ๊ค โอ๊คแดง และโอ๊คเข้ม) และ 3 รูปแบบพื้นผิว (เรียบ ลายขนแปรง และลายไม้) เหมาะสำหรับปูพื้น ผนัง ทำบานประตู และเฟอร์นิเจอร์ ใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอก
 
Hybrid Wood.jpg

Glass Tile                                         
หมายเลขวัสดุ MC# 6318-01
ผลิตโดย ห้างหุ้นส่วนจำกัดแก้วสิงห์ ประเทศไทย
อิฐแก้วที่ผลิตขึ้นจากขวดแก้วรีไซเคิล เหมาะสำหรับปูพื้นหรือทำผนังกั้นส่วนทั้งภายในและภายนอกอาคาร มี 2 สีให้เลือก (น้ำตาล และเขียว - จากสีขวด) มีทั้งพื้นผิวขัดมันและพื้นผิวที่ไม่ได้ขัด แผ่นวัสดุมีขนาด 4x4 นิ้ว (10x10 เซนติเมตร) โดยจะเป็นการผลิตตามสั่ง ใช้เป็นวัสดุทางเลือกที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ

ที่มา: บทความ “Innovative Building Materials in India: Need Sustainable Innovation” จาก greencleanguide.com