จากทักษะและวัสดุพื้นถิ่นของเชียงใหม่ สู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
Materials & Application

จากทักษะและวัสดุพื้นถิ่นของเชียงใหม่ สู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

  • 01 Nov 2014
  • 7333

ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร เมื่อประกอบกับรากเหง้าวัฒนธรรมท้องถิ่น การถ่ายทอดทักษะจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ทำให้เชียงใหม่คือพื้นที่อีกแห่งหนึ่งที่รวบรวมซึ่งผู้ประกอบการท้องถิ่นในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น กลุ่มสิ่งทอ ของตกแต่ง ศิลปะงานฝีมือ และสถาปัตยกรรม ไว้มากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

matter_nov.jpg

   
ความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบตั้งต้น ได้สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น บริษัท กระเบื้องไม้งาม จำกัด เลือกหยิบวัสดุตกแต่งในงานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอย่างกระเบื้องว่าว มาพัฒนาจนได้เป็นกระเบื้องมุงหลังคาที่มีคุณสมบัติพิเศษ ด้วยส่วนผสมซีเมนต์สูตรเฉพาะที่ช่วยเพิ่มความทนทานและทำให้มีน้ำหนักเบา ทั้งยังมีกรรมวิธีขึ้นรูปในระบบอุตสาหกรรมโดยวิธีอัดภายใต้แรงดัน แต่ยังคงไว้ซึ่งหัตถศิลป์ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต หรือภาคครัวเรือน นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งบริษัทที่กำลังเป็นที่จับตานั่นคือ ผู้ผลิต “กันไฟ” ฉนวนกันไฟที่ผลิตจากฟางข้าวและเยื่อกระดาษ ของบริษัท ปิง-อาร์ต (Ping-Art) ซึ่งได้พัฒนาจนมีคุณสมบัติเฉพาะตัวเป็นฉนวนความร้อนที่ไม่ลามไฟ โดยใช้สารป้องกันการลามไฟที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ทั้งยังลดการสะท้อนของเสียง จนทั้งสองวัสดุนี้ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ฐานข้อมูลวัสดุของ Material ConneXion
 
ทักษะฝีมือเฉพาะถิ่นยังหล่อหลอมให้ผู้ประกอบการเชียงใหม่มีผลิตผลที่ทั้งประณีตและสามารถสร้างผลงานจนเป็นที่รู้จักในระดับสากล อย่างแบรนด์บัวผัด (Bua Bhat) ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าหัตถกรรม ของแต่งบ้าน ให้มีเอกลักษณ์แตกต่างและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยใช้วัตถุดิบจากเศษผ้าและอื่นๆ มาเพิ่มมูลค่า ซึ่งช่างฝีมือก็คือคนในชุมชนที่อาศัยอยู่รอบๆ  โรงงาน และมีชาติพันธุ์เฉพาะถิ่นอย่างชาวยองหรือไทลื้อ ซึ่งมีความเป็นช่างฝีมือด้านการทอผ้าพื้นเมืองในสายเลือด บวกกับใจรักในการทำงานหัตถกรรม เมื่อได้รับการฝึกฝนงานอย่างเป็นระบบ จึงสร้างคนที่ผลิตสินค้าออกมาได้อย่างประณีตและมีคุณภาพ ทำให้เมื่อเมษายนที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ “ป๊อบคอร์น”  ผ้าฝ้ายสามมิติเย็บมือจากเศษผ้าของบัวผัด ได้รับเลือกลงในคอลัมน์ Material ของนิตยสาร Surface ว่าเป็นวัสดุแห่งอนาคต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสะท้อนเรื่องราววัสดุในพื้นที่และการมีส่วนร่วมของชุมชน

เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และ ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข  

พบกับวัสดุต้นคิดที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ Material ConneXion® Bangkok
 
6904-01.jpg

Teak Carved Panels                                                         
หมายเลขวัสดุ MC# 6904-01
ผลิตโดย Deco Moda Studio Co.,Ltd. Partnership ประเทศไทย
ไม้สักจากป่าปลูกที่แกะลวดลายด้วยมืออย่างละเอียดประณีตสำหรับใช้ในงานตกแต่ง ลวดลายจะออกแบบและร่างลงบนแผ่นไม้ด้วยมือหรือคอมพิวเตอร์ มีสามสีให้เลือก ได้แก่ สีธรรมชาติ โอ๊กอ่อน และโอ๊กเข้ม นำไปแปรรูปได้โดยใช้เครื่องมือช่างไม้ รวมทั้งทำสีและติดกาวได้ตามปกติ เหมาะสำหรับงานตกแต่งภายใน เช่น กรุผนัง บานประตู และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
 

6379-01.jpg

Leather Paper                                                                    
หมายเลขวัสดุ MC# 6379-01
ผลิตโดยSiamphomprathan Co., Ltd. ประเทศไทย                           
กระดาษสาพิมพ์ลวดลายนูนเหมือนหนังสัตว์ ผลิตโดยการลอกเส้นใยออกจากต้นสาแล้วทุบให้เป็นเยื่อกระดาษ จากนั้นจึงนำไปอัดเป็นแผ่นแล้วปล่อยให้แห้ง สามารถเติมสีและทำลวดลายนูนได้ตามต้องการ กระบวนการผลิตไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เหมาะสำหรับใช้เป็นกระดาษห่อของขวัญ บรรจุภัณฑ์ เครื่องเขียน และปูผนัง

 
449f33238206204930d7ebd57778d280.jpg
ร่วมค้นหาวัสดุและผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ของภาคเหนือตอนบนได้อีกมากมายในงานเทศกาลออกแบบ Chiang Mai Design Week 2014 โอกาสแรกที่จะได้พบกับผลงานใหม่ล่าสุดทั้งจากนักออกแบบมากฝีมือ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการระดับไอคอนที่จะสร้างแรงกระเพื่อมทางความคิดสร้างสรรค์ให้ กับเชียงใหม่ 6-14 ธันวาคมนี้

ที่มา
buabhat.com
maingamtiles.com
materialconnexion.com/th