
Materials & Application
Material Startup
เมื่อเดือนมกราคม 2015 Bert Thin Films LLC บริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในเมืองลุยส์วิลล์ (Louisville) สหรัฐอเมริกา เพิ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 225,000 เหรียญสหรัฐฯ จากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Science Foundation - NSF) เพื่อพัฒนาและผลิตวัสดุที่จะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิตหมึกพิมพ์ซึ่งจะนำไปใช้แทนโลหะเงินบนผิวหน้าของแผงโซลาร์เซลล์ โดยผู้ร่วมก่อตั้งอย่างแวนด้า วอลเตอร์ (Venda Walter) แธด ดรัฟเฟล (Thad Druffel) และรูวินี ดาร์มาดาซา (Ruvini Dharmadasa) ได้เริ่มทำงานวิจัยนี้เมื่อ 2-3 ปีก่อน และจดสิทธิบัตรในปี 2013 โดยเริ่มจากการมองเห็นช่องโหว่ของอุตสาหกรรมพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ใช้โลหะเงินมากถึงร้อยละ 10 และจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ นำไปสู่การมองหาวัสดุทดแทนที่หาง่ายและราคาถูกกว่า ซึ่งปัจจุบันแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคามีการประกันคุณภาพนาน 25 ปี ดังนั้น บริษัทจึงต้องพัฒนาวัสดุต่อไปจนมั่นใจว่าหมึกพิมพ์นี้จะทนทาน รวมทั้งคงสภาพและคุณภาพได้ยาวนานเท่าเทียมกับแผงโซลาร์เซลล์ในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะใช้เวลา 3 ปีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนสามารถวางขายในตลาดได้
เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่มีผู้ประกอบการซึ่งมองเห็นอนาคตจากธุรกิจนวัตกรรม และเริ่มต้นพัฒนาคิดค้นวัสดุ และหาความร่วมมือรวมทั้งทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ คล้ายกับกลุ่ม Material Startup ในต่างประเทศ เช่น คุณวัฒน ทิพย์วีรนันท์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของห้างหุ้นส่วนจำกัดแก้วสิงห์ ผู้ประกอบการรับซื้อขวดแก้วรีไซเคิล เพื่อขายต่อยังโรงหลอมแก้วขนาดใหญ่ ที่คิดเพิ่มมูลค่าให้ของเหลือใช้เหล่านี้จากการหานักวิจัยเพื่อสร้างสรรค์วัสดุใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน และได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) จนมาลงตัวที่แกรนิตแก้วรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถนำไปปูพื้นหรือผนังทั้งภายในและภายนอกอาคาร มีพื้นผิวขัดมันและพื้นผิวที่ไม่ได้ขัด จึงใช้เป็นวัสดุทางเลือกที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำได้ในที่สุด
ผลจากโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพช่วยให้เกิดการก้าวกระโดดในการพัฒนาด้านวัสดุ โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุขั้นสูง (Advanced Materials) ที่จำเป็นต้องออกแบบมาเพื่อใช้ประโยชน์ในงานที่ต้องการเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งหมายรวมถึงวัสดุชนิดใหม่และวัสดุที่ได้รับการดัดแปลงให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นจนเหมาะจะนำมาใช้ในงานขั้นสูงได้ โดยสามารถผลิตได้จากวัสดุเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นโลหะ เซรามิก หรือโพลิเมอร์ ทำให้การออกสู่ตลาดเป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และ ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
แกรนิตแก้ว “แก้วสิงห์” : งานออกแบบเพิ่มมูลค่าให้ขยะขวดแก้ว
พบกับวัสดุต้นคิดที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ Material ConneXion® Bangkok ![]() Oshenite®
หมายเลขวัสดุ MC# 7236-01 แร่ธาตุธรรมชาติที่สร้างขึ้นทดแทนใหม่ได้ สำหรับใช้เป็นสารเติมเต็มในผลิตภัณฑ์พลาสติก ผงละเอียดนี้ใช้เติมลงในพลาสติกชนิดต่างๆ เช่น โพลีเอทิลีน (PE) และโพลีโพรพิลีน (PP) ช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ถึงร้อยละ 40 เป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตในรูปผลึกอาราโกไนต์รูปร่างเหมือนไข่ปลา (Oolitic Aragonite) ซึ่งผ่านการรับรองความปลอดภัยต่ออาหารจาก FDA เหมาะสำหรับใช้เป็นสารเติมแต่งในภาชนะอาหารและเครื่องดื่ม ถุงฟิล์มแบบเป่า อุปกรณ์ทันตกรรมและการแพทย์ ภาชนะอาหารและบรรจุภัณฑ์หล่อขึ้นรูปขนาดใหญ่ ![]() PEEK Heat Shrinkable Sleeve
หมายเลขวัสดุMC# 7355-01 ท่อโพลีอีเทอร์อีเทอร์คีโตน (PEEK) ที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางจะหดเล็กลงได้เมื่อได้รับความร้อน ท่อหดทั่วไปมักผลิตจากโพลีโอเลฟินและไนลอน แต่ท่อที่ผลิตจาก PEEK นี้มีความคงทนสูงกว่าและปกป้องได้ดีกว่า รวมทั้งใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ เหมาะสำหรับใช้ป้องกันแรงกระแทกและการเสื่อมสภาพ ฉนวนไฟฟ้าของสายไฟ และหุ้มปกป้องอุปกรณ์การแพทย์ |
ที่มา
บทความ U of L startup receives grant to commercialize solar cell material จาก bizjournals.com
bertthinfilms.com
library.materialconnexion.com