ปรับโครงสร้างไม้...สลายจุดอ่อน
Materials & Application

ปรับโครงสร้างไม้...สลายจุดอ่อน

  • 01 Jul 2015
  • 5535
Moses-Bridge.png

ปัจจุบัน ผู้ที่ชื่นชอบการเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติสามารถลบข้อจำกัดในการเลือกใช้ ”ไม้” ในสภาวะกลางแจ้งและพื้นที่ที่มีความชื้นสูงได้ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนโครงสร้างของไม้ จากการนำไปผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพทางเคมีที่เรียกว่า Acetylation ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ศึกษาเรื่องนี้มานานกว่า 75 ปี เพื่อทำให้ไม้มีความคงทนสูงขึ้น โดยใช้ความร้อน ความดัน และสารอะซีติกแอนไฮไดรด์ ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของไม้  ทำให้อัตราการหดตัวของไม้ลดลงถึงร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับไม้ที่ยังไม่ได้ปรับปรุงคุณภาพ นอกจากนี้ ไม้ที่ปรับปรุงคุณภาพแล้วยังผ่านการทดสอบค่าความคงทนที่คลาส 1 (มีความทนกว่าไม้สัก) ปราศจากสารพิษ ทนทานต่อเชื้อราและแมลง รวมทั้งยังเป็นการใช้ผลผลิตจากป่าไม้ปลูกเพื่อความยั่งยืนทางสถาปัตยกรรม เช่น การสร้างสะพานข้ามป้อมปราการเก่า “โมเสส บริดจ์ (Moses Bridge)” ในเนเธอร์แลนด์ ที่ออกแบบโดยสถาปนิกจากบริษัท RO & AD โดยมีเอกลักษณ์เป็นสะพานที่สร้างให้อยู่ในลักษณะคล้ายจมปริ่มน้ำอยู่ และหากมองในระยะไกลจะมองไม่เห็นตัวสะพาน ซึ่งทีมสถาปนิกได้เลือกใช้  Acetylated Wood จากบริษัท Accoya ผู้ผลิตไม้ที่มีเทคโนโลยีเฉพาะนี้ในยุโรปเป็นวัสดุหลัก และยังมีการรับประกันการใช้งานบนดินถึง 50 ปี และใต้ดิน 25 ปี
    
Tekwood.png

ในประเทศไทยมีบริษัท ลีโอวูด อินเตอร์เทรด จำกัด บริษัทผู้ผลิตไม้ที่ได้นำเทคโนโลยี Heated Treatment Technology คล้ายกันนี้เข้ามาใช้จนได้เป็นไม้ Tekwood จากการนำไม้ยางจากต้นยางที่หมดอายุการให้น้ำยางแล้ว มาผ่านการอบความร้อนเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติ ด้วยกระบวนการอบความร้อนสุญญากาศประมาณ 210 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงโดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งกระบวนการนี้จะเข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างภายในเนื้อไม้ ทำให้แป้งและน้ำตาลเซลลูโลสในเนื้อไม้หายไปจากการอบ ผนังเซลล์จะแตกออกช่วยให้ไม้มีระยะเวลาผุพังช้าลง ทนทานยิ่งขึ้น และมีความเสถียรด้านขนาด ไม่หดตัว นอกจากนี้ยังทำให้ไม้มีเนื้อแข็งขึ้นอย่างน้อยหนึ่งระดับ ทั้งยังช่วยปรับคุณสมบัติด้านความชื้นและน้ำ โดยเซลล์ในเนื้อไม้จะไม่อมน้ำเมื่อโดนความชื้นหรือโดนน้ำ ก็จะไม่เกิดการอมน้ำที่ส่งผลให้เกิดการโก่งงอ  ไม้ชนิดนี้จึงมีความชื้นต่ำลง และทนทานต่อสภาพลมฟ้าอากาศได้ดี  เนื้อไม้ยังมีสีเข้มขึ้นคล้ายสีของไม้สัก มีคุณสมบ้ติการต้านทานเชื้อราและจุลินทรีย์ ตลอดจนผ่านการรับรองมาตรฐาน EN 113 จากกลุ่มประเทศยุโรป มีความปลอดภัยสูง เหมาะสำหรับกรุผนังอาคาร ปูโต๊ะในครัว และใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้น
    
ผลลัพธ์ของการคิดค้นเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของไม้ นอกจากจะช่วยลดข้อจำกัดในการนำไปใช้งานได้อย่างรอบด้านแล้ว ก็ยังสอดคล้องไปกับเทรนด์การใช้วัสดุธรรมชาติอย่างยั่งยืน

เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และ ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข
 
พบกับวัสดุต้นคิดที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ Material ConneXion® Bangkok
 

Elastocoast.png

Elastocoast
หมายเลขวัสดุ MC# 6153-01  
วัสดุคอมโพสิตที่มีความยืดหยุ่นซึ่งเดิมพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการป้องกันการ กัดเซาะแนวชายหาดโดยเฉพาะ ประกอบด้วยก้อนกรวดผสมกับโพลียูรีเทนซับน้ำที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้วัสดุมีลักษณะเหมือนหินที่มีโครงสร้างแบบเซลล์เปิด ผลิตโดยการนำของเหลวสองชนิดที่ทำจากโพลียูรีเทนสังเคราะห์มาผสมกันในพื้นที่ หน้างานแล้วจึงใส่ก้อนกรวดลงไป คุณสมบัติด้านความยืดหยุ่นจะช่วยปกป้องแนวกำแพงหินจากแรงกระแทกของน้ำได้ เนื่องจากช่องว่างระหว่างก้อนหินจะคอยดูดซับพลังงานเอาไว้ ขณะที่หากใช้คอนกรีตหรือยางมะตอยที่มีพื้นผิวแข็งและทึบตันจะถูกพังทลายโดย แรงกระแทกจากคลื่นได้อย่างรวดเร็ว สามารถใช้ก้อนหินที่มีขนาดต่างๆ มาปูทับกันให้ได้ความหนาต่างๆ ตามต้องการ เพื่อนำไปใช้ในการตกแต่งภายในหรืองานจัดแสดงสินค้าได้

 
INAX-ECOCARAT-PRECIOUS-MOSAIC.png
    
INAX ECOCARAT PRECIOUS MOSAIC "VELE"
หมายเลขวัสดุ MC# 6620-01      
กระเบื้องเซรามิกปูผนังที่ปรับความชื้นภายในห้องได้ ผลิตจากดิน Allophane ตามธรรมชาติที่มีรูพรุนเป็นจำนวนมาก :7j’0tดูดซับและเก็บกักความชื้นที่มากเกินไปภายในอาคารและคายกลับออกมาเมื่อ สภาพความชื้นภายในอาคารลดลง จึงช่วยให้สภาวะแวดล้อมดีขึ้น วัสดุนี้ยังดูดซับและลดปริมาณของกลิ่นอับและสารพิษอันตรายได้ หากนำไปปูเป็นจำนวนมากพอจะทำให้อากาศในห้องมีค่าความชื้นสัมพัทธ์ตั้งแต่ 40 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งช่วยลดปริมาณและยับยั้งการขยายพันธุ์ของไรฝุ่นและป้องกันเชื้อราภายใน บ้าน กระเบื้องนี้ดูดความชื้นได้ดีกว่าแผ่นปูผนังที่ผลิตจากไดอะตอมไมต์ 4 ถึง 5 เท่า และดีกว่าวอลล์เปเปอร์ชนิดดูดความชื้นถึง 15 เท่า เหมาะสำหรับใช้ปูผนังและงานออกแบบตกแต่งภายใน
ที่มา
accoya.com
leowood.com
หนังสือ Sense of Wood โดย สมานชัย อธิพันธุ์อำไพ, พิมพ์ครั้งที่ 1, 2554.