วัสดุตกแต่งภายในกับมาตรฐานของรถไฟฟ้าความเร็วสูง
Materials & Application

วัสดุตกแต่งภายในกับมาตรฐานของรถไฟฟ้าความเร็วสูง

  • 01 Feb 2016
  • 5381
speed-train.jpg
© siemens.com
ระบบขนส่งมวลชนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้งาน ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตของประเทศไทยก็มีศักยภาพสูง สามารถผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานสากลและส่งออกไปจำหน่ายในหลายประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ผลิตในประเทศได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ และใช้วัสดุของคนไทยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในอนาคต ทาง TCDC โดยห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ ได้ร่วมมือกับภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงการนำร่องเพื่อสรรหาและคัดเลือกวัสดุจากผู้ผลิตวัสดุไทยที่มีศักยภาพ เพื่อให้ได้วัสดุที่ได้รับมาตรฐานสากลสำหรับการตกแต่งภายในและใช้บริการในตู้รถไฟฟ้าความเร็วสูง
           
วัสดุที่จะนำมาใช้ตกแต่งภายในสำหรับระบบขนส่งมวลชนได้นั้น ต้องผ่านมาตรฐานการทดสอบสากลที่แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับวัสดุที่ใช้ภายในระบบขนส่งมวลชน ได้แก่ มาตรฐานด้านอัคคีภัย ซึ่งถือเป็นข้อกำหนดของระบบขนส่งมวลชน เช่น การจุดติดไฟ การลามไฟ ปริมาณควันไฟ และปริมาณควันพิษ เป็นต้น ส่วนที่ 2 คือมาตรฐานทั่วไปที่ใช้ควบคุมคุณภาพของวัสดุประเภทต่างๆ ได้แก่ มาตรฐานด้านความปลอดภัย เช่น ปริมาณสารพิษ และมาตรฐานด้านกายภาพ เช่น ความแข็งแรง ความทนทานต่อการใช้งาน รวมถึงมาตรฐานการทดสอบคุณสมบัติพิเศษที่ผู้ผลิตทำขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เหมาะแก่การใช้งานมากขึ้น เช่น การต้านแบคทีเรีย เป็นต้น
   
speed-train2.jpg

วัสดุไทยที่อยู่ในฐานข้อมูลของ Material ConneXion มากกว่า 300 ชนิด ซึ่งได้รับการพิจารณาและคัดเลือกถึงความเหมาะสมต่อการใช้งานเพื่อตกแต่งภายใน เช่น พื้นทางเดิน ผ้าหุ้มเบาะ ผ้าม่าน ผ้ารองศีรษะ ฯลฯ  ได้แก่  วัสดุปูพื้นที่มีคุณสมบัติป้องกันการลื่นล้ม จากบริษัท สินเจริญรับเบอร์ จำกัด ที่ได้พัฒนาแผ่นวัสดุอ่อนตัวสำหรับปูพื้นขึ้นจากส่วนผสมของยางธรรมชาติกับยางสังเคราะห์ มีคุณสมบัติป้องกันการลื่นล้ม ทนทาน อ่อนตัว ดูดซับแรงกระแทกได้ดี และผ่านการทดสอบการกันไฟตามมาตรฐาน DIN 4102 B1 Part 14 ต้านทานการขัดถูตามมาตรฐาน DIN 53516 มีความคงทนของสีตามมาตรฐาน BS EN ISO 105 B02 ป้องกันการลื่นล้มตามมาตรฐาน DIN 51130 และทนรอยเปื้อนตามมาตรฐาน BS EN 423 ปัจจุบันมีการนำไปใช้ปูพื้นภายในอาคารกีฬา ศูนย์ออกกำลังกาย สนามบาสเก็ตบอลและวอลเลย์บอล อีกหนึ่งวัสดุที่น่าสนใจคือ Energy-Saving Curtain ผ้าม่านคุณภาพสูงสำหรับตกแต่งภายใน จากบริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด ทำจากโพลีเอสเตอร์ 100 เปอร์เซ็นต์ มีคุณสมบัติป้องกันแสงแดด ความร้อน และรังสียูวี รวมทั้งมีการเคลือบผิวอะลูมิเนียมเมทัลลิกไว้ด้านหนึ่ง ซึ่งป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศได้ 10-40 เปอร์เซ็นต์ ปราศจากส่วนผสมของฟอร์มัลดีไฮด์ และมีเทคโนโลยีการป้องกันฝุ่นละอองและแบคทีเรีย
          
สำหรับในประเทศไทย หลายบริษัทมีเทคโนโลยีและการพัฒนาวัสดุที่เหมาะจะนำมาใช้ในการตกแต่งภายในตู้รถไฟฟ้าความเร็วสูง ทั้งยังพัฒนาให้ตรงกับความต้องการและมาตรฐานที่ระบบขนส่งมวลชนทั่วโลกต้องการได้

เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข

อ่านเพิ่มเติม
Free ebook งานวิจัยเรื่อง หลักการของการออกแบบบริการสำหรับรถไฟ


ที่มา:
รายงานฉบับสมบูรณ์ เล่มที่ 1: โครงการรายงานการศึกษาเรื่องการยกระดับและพัฒนาสินค้าประเภทวัสดุและบรรจุภัณฑ์จากวัสดุไทย จัดทำโดย ดร.อมรรัตน์ เลิศวรสิริกุล และภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, เมษายน 2556
floorament.com
pasaya.com