ตอบโจทย์ธุรกิจด้วย ‘วิทยาศาสตร์’ และ ‘งานวิจัย’
Materials & Application

ตอบโจทย์ธุรกิจด้วย ‘วิทยาศาสตร์’ และ ‘งานวิจัย’

  • 08 Feb 2016
  • 9726

ครั้งหนึ่ง เคลวิน หว่อง นักออกแบบผู้ก่อตั้ง K Kelvin Studio เคยพูดเอาไว้ว่า “การนำ good design มาใช้กับ bad product ก็เป็นแค่การหุ้มของไม่ดีด้วยรูปลักษณ์ที่สวยงามเฉยๆ”  จริงที่ว่างานออกแบบสามารถมีบทบาทช่วยให้สินค้าดูน่าสนใจขึ้น แต่การมีผลิตภัณฑ์ที่ดีตั้งแต่ต้นนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า  สำหรับเคลวินแล้วเขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาคงไม่สามารถจะทำงานได้อย่างเต็มที่เลยหากสิ่งที่เขากำลังออกแบบให้นั้น ‘ไม่ได้ทำหน้าที่ของมัน’ อย่างเต็มศักยภาพ

Talent-Mobility03.jpg





ทุกวันนี้หนึ่งในหนทางที่จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับด้วยตัวของมันเอง ก็คือ การอาศัย ‘วิทยาศาสตร์’ และ ‘งานวิจัย’ มาเป็นเครื่องมือ   ล่าสุดเราได้รับชมนิทรรศการงานวิจัยกึ่งสำเร็จรูป Talent Mobility: Matching Lab with Design Business ที่เกิดขึ้นบนความร่วมมือของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) นำเสนอตัวอย่างผลงาน 50 โครงการที่ได้นำวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมพิเศษเข้าไปจัดการกับสินค้าตั้งแต่ระดับโครงสร้าง จนเกิดผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจในการเพิ่มศักยภาพ และประโยชน์ใช้สอยของสินค้านั้นๆ

ผลงานที่น่าสนใจจากนิทรรศการครั้งนี้ มีเช่น
 

Talent-Mobility04.jpg

1) ถุงยืดอายุผักผลไม้จากวิศวกรรมโพลิเมอร์และพลาสติก
โดย รศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ (คณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)  ที่ได้รับโจทย์จากกลุ่มผู้ส่งออกผักผลไม้ ให้ช่วยคิดค้นนวัตกรรมการยืดอายุวัตถุดิบเพื่อการส่งออก  โดยงานนี้ ดร.อนงค์นาฎ เลือก ‘เห็ดฟาง’  มาเป็นโจทย์หลักในกระบวนการออกแบบ เพราะเป็นพืชที่ช้ำและเน่าเสียง่าย แถมเติบโตดีเฉพาะในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การส่งออกไปขายยังต่างประเทศนั้นเป็นไปได้ยาก (ทั้งๆ ที่มีความต้องการสูงมากจากร้านอาหารไทยในต่างแดน)

จากการศึกษาวิจัยทำให้เข้าใจว่าเห็ดฟางเป็นพืชที่ต้องใช้ออกซิเจนในการหายใจ มีการคายไอน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา การเก็บเห็ดในถุงสูญญากาศจึงไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม แต่ควรจะชะลอการหายใจและคายน้ำของเห็ดด้วยการทำให้อยู่ในภาวะ ‘จำศีล’   ดร.อนงค์นาฏ พบว่าพลาสติกชีวภาพ PLA ที่ทำจากแป้งข้าวโพดและมันสำปะหลัง (ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ) สามารถนำมาออกแบบโครงสร้างให้เป็นเหมือนเยื่อเลือกผ่าน คือจะปล่อยก๊าซออกซิเจนให้ผ่านเข้าถุงในอัตราที่เพียงพอต่อการหายใจของเห็ด แต่ในขณะเดียวกัน ก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากถุงได้มากพอที่จะไม่ให้เห็ดเปลี่ยนสี ที่สำคัญยังระบายไอน้ำออกได้จึงไม่ทำให้มีน้ำนองภายในถุงด้วย

Talent-Mobility05.jpg

Talent-Mobility06.jpg

ถุงเก็บเห็ดของ ดร.อนงค์นาฏ ผ่านการทดสอบทั้งในห้องแล็บและการขนสิ่งจริงไปยังร้านอาหารในประเทศบรูไน จนได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากร้านอาหารว่าเห็ดยังสดและรสชาติไม่ผิดเพี้ยน  ปัจจุบันผลงานวิจัยของเธอได้ต่อถูกยอดไปสู่การผลิตถุงบรรจุผักผลไม้หลากหลายประเภท แบ่งตามอัตราการคายน้ำที่ต่างกัน และตามชนิดผักผลไม้ที่ผลิตฮอร์โมนทำให้ตัวเองสุก (เช่น มะม่วง) กับชนิดที่ไม่ผลิตฮอร์โมน (เช่น มะนาว)  ถือเป็นนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับหลายๆ ภาคส่วน ที่สำคัญการเก็บผักผลไม้ได้นานขึ้นยังทำให้ผู้ส่งออกไม่จำเป็นต้องขนส่งผักบางชนิดทางเครื่องบินอีกต่อไป จึงมีโอกาสที่จะลดการใช้พลังงานน้ำมันและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปในตัวด้วย 

Talent-Mobility07.jpg
 

2) ต้นแบบเครื่องประดับจากโลหะผสมอะลูมิเนียม
โดย ดร.สมพงษ์ ศรีมโนเสาวภาคย์ (ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ - MTEC)   งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้นจากโจทย์ของบริษัทชดาคอลเลกชั่น ผู้ผลิตงานหล่อทองเหลือง ที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากวัสดุที่มีน้ำหนักเบากว่า (และราคาย่อมเยากว่า) อย่าง ‘อะลูมิเนียม’ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการรักษาภาพลักษณ์ความขลังและเสน่ห์ของงานเก่าแบบทองเหลืองเอาไว้ด้วย  ดร. สมพงษ์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านงานหล่อโลหะและงานหล่อเครื่องประดับ จึงร่วมมือกับ ศรัณย์ อยู่คงดี นักออกแบบเครื่องประดับจาก SARRAN Studio พัฒนาเทคนิคการทำสีและผิวสัมผัสของอะลูมิเนียมให้ดูคล้ายกับงานทองเหลืองมากที่สุด 

ทั้งสองทดลองออกแบบผิววัสดุอะลูมิเนียมให้มีรูพรุน เพื่อให้มีน้ำหนักเบาขึ้นและเหมาะกับการนำไปใช้ทำเครื่องประดับ หรือของแต่งบ้าน จากนั้นก็พัฒนาเทคนิคการแช่น้ำยาเพื่อทำให้ผิวอะลูมิเนียมดูคล้ายวัตถุโบราณ และลองนำไปใช้ออกแบบจริงในคอลเลกชั่นเครื่องประดับ ‘รัตนโกสินทร์ 2020’ ของแบรนด์ SARRAN ด้วย 

Talent-Mobility08.jpg

Talent-Mobility09.jpg

ข้อคิดปิดท้าย
แม้ว่าการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การทำแบรนด์ดิ้ง การสร้างภาพลักษณ์ ฯลฯ จะเป็นองค์ประกอบที่ช่วยส่งเสริมให้สินค้าเตะตาผู้บริโภค แต่ถ้าสสารที่อยู่ข้างในไม่มีจุดเด่น และไม่มีคุณภาพอย่างแท้จริง ไม่นานความสนใจที่สินค้าได้รับก็จะจางหายไปในที่สุด ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งต้นให้ดีจึงมีความสำคัญพอๆ กับการสร้างภาพลักษณ์ที่สวยงามเมื่อนำไปวางขาย

ดาวน์โหลด ebook "งานวิจัย กึ่งสำเร็จรูป Talent Mobility: Matching Lab with Design Business" ได้ ฟรี ที่ http://www.tcdc.or.th/publications/
 

Talent-Mobility10.jpg

Talent-Mobility12.jpg

Talent-Mobility13.jpg

Talent-Mobility15.jpg

Talent-Mobility16.jpg

Talent-Mobility17.jpg

Talent-Mobility19.jpg

Talent-Mobility20.jpg