โอกาสใหม่จากวัสดุเหลือใช้
Materials & Application

โอกาสใหม่จากวัสดุเหลือใช้

  • 01 Jun 2016
  • 7110
ปัจจุบันผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) มีการใช้กลยุทธ์ด้านรายได้ในการดำเนินงานเพื่อเป้าประสงค์ทางสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ทว่ามักมีคำถามเรื่องการชี้วัดและประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็มีตั้งแต่การที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของวัสดุ กระบวนการผลิต การขนส่ง และการจัดการด้านของเสีย พร้อมกันนี้ภาครัฐเองอย่างกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมยังได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กำหนดแนวทางและรับรองผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพรินท์ เพื่อช่วยยกระดับการออกแบบเชิงสร้างสรรค์และส่งเสริมตลาดสีเขียวที่จะนำไปสู่การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
 
taktai.jpg
           
ความสนใจในการดำเนินการธุรกิจต่อภาคสังคมและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดธุรกิจเพื่อสังคมมากมาย อาทิ แบรนด์ Taktai ซึ่งใช้ผ้าจากเส้นใยที่ได้จากการเพาะปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี เก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่เหมาะสมตามธรรมชาติ เพื่อทดแทนการใช้ฝ้ายที่ต้องนำเข้า เช่น เส้นใยไผ่ เส้นใยกัญชง เส้นใยกล้วย และเส้นใยข่า นำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค นอกจาก Taktai จะเริ่มต้นจากการตระหนักถึงปัญหาจากสิ่งแวดล้อมและความต้องการที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ก็ยังเห็นโอกาสจากเศษเหลือทางการเกษตรจำนวนมาก เช่น ใบสับปะรด ต้นกล้วย ซึ่งสามารถแปลงสภาพเป็นเส้นใยธรรมชาติสำหรับสิ่งทอ ผ่านการทำวิจัยเพื่อพัฒนาเส้นใยธรรมชาติให้แข็งแรงทนทาน มีความยืดหยุ่น สวมใส่สบาย มีคุณสมบัติดูดซับน้ำ ระบายอากาศ และทนทานต่อเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งล้วนเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ยังคงรูปแบบความเป็นงานฝีมือและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่าเอาไว้อย่างครบถ้วน
 
punn.jpg
 
อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่นำเอาเศษวัสดุเหลือใช้จากการทำไร่สับปะรดที่มีมากกว่า 3 แสนตันต่อปีมาใช้ประโยชน์ ก็คือ Obect 2.1 “PUN” ที่รองอเนกประสงค์จากกระดาษใยสับปะรดของแบรนด์ CCC OBJECTS  โดยช่างฝีมือในพื้นที่จะ “พัน” แผ่นกระดาษจากใยสับปะรดที่มีเส้นใยยาวและเหนียวให้แน่นจนเป็นรูปวงแหวนหลากขนาดและหลากสีสัน เพื่อเพิ่มการรับน้ำหนักและดูดซับน้ำได้ดีขึ้น และยังทำให้เห็นลวดลายบนขอบแผ่นกระดาษที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถนำไปใช้เป็นจานรองแก้ว แผ่นรองภาชนะ แผ่นรองจาน และชิ้นงานตกแต่งผนัง ทั้งหมดนี้เพื่อสื่อสารให้เห็นว่า “PUN” คือ คุณค่า ความงาม และโอกาส จากของเหลือใช้ที่รู้วิธีใช้ และโดยในปีนี้ ทาง CCC OBJECTS ได้นำผลิตภัณฑ์ Obect 2.1 “PUN” เข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อรับการประเมินอัพไซเคิลคาร์บอนฟุตพริ้นท์
 
paper.jpg

วัสดุชิ้นสุดท้ายที่เกิดจากเศษวัสดุเหลือใช้ เป็นผลงานของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้คิดค้นนำฟางข้าวมาวิจัยและพัฒนาเป็น “กระดาษซับไขมัน” ในอาหาร โดยเฉพาะอาหารทอดและการอุ่นอาหารในไมโครเวฟ ซึ่งกระดาษซับไขมันจากฟางข้าวนี้สามารถซับไขมันได้มากถึง 224.25 เปอร์เซ็นต์ และซับน้ำได้ถึง 168.57 เปอร์เซ็นต์ โดยวัสดุนี้ได้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการในงาน 2015 Kaohsiung International Invention & Design Expo (KIDE) ณ เมืองเกาสง ประเทศไต้หวัน ในปีที่ผ่านมา และได้รับรางวัลเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษอีก 2 รางวัล คือ รางวัล Leading Innovation Award จาก International Intellectual Property Network Forum (IIPNF) และรางวัล Special Award จาก Toronto International Society of Innovation & Advanced Skills (TISIAS) นับว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับฟางข้าวซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและยังช่วยให้สุขภาพของคนไทยดีขึ้นด้วย

เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และ ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข

ที่มา:
งานวิจัย เรื่อง "การผลิตกระดาษพิเศษจากฟางข้าว" โดย ดร. สุธีรา วิทยากาญจน์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
facebook.com/cccobjects
greenindustry.go.th/article_0003.php
taktai.co