Vantablack วัสดุที่ดำที่สุดในโลก: บริษัทผู้ผลิตได้พัฒนาวัสดุที่มีสีดำกว่าเดิมขึ้นมา หลังจากมอบสิทธิ์ในการใช้วัสดุที่ดำที่สุดไปแล้ว
Materials & Application

Vantablack วัสดุที่ดำที่สุดในโลก: บริษัทผู้ผลิตได้พัฒนาวัสดุที่มีสีดำกว่าเดิมขึ้นมา หลังจากมอบสิทธิ์ในการใช้วัสดุที่ดำที่สุดไปแล้ว

  • 09 Jan 2017
  • 22220

แผ่นกระดาษ Pantone สำหรับสีนี้คงจะแพงน่าดู
บทความนี้อยู่ในหมวด “วัสดุล้ำยุค” โดย Material ConneXion® Bangkok


ถึงกับตะลึงกันไปเลย หลังจากที่มีข่าวว่า ศิลปินชื่อดังอย่าง  Anish Kapoor ได้รับสิทธิ์ในการใช้ Vantablack ซึ่งเป็นสสารที่มีสีดำที่สุดไปแต่เพียงผู้เดียว บริษัทผู้ผลิตอย่าง Surrey Nanosystems ก็ไม่รอช้าที่จะพัฒนา Vantablack เวอร์ชั่นใหม่ที่มีสีดำมืดยิ่งขึ้นไปอีก

อาจเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างสีดำทั่วไปกับสีดำของ Vantablack ด้วยตาเปล่า วิดีโอนี้จะช่วยให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น ขวาสุดคือสีดำด้านปกติ ตรงกลางคือวัสดุสีดำที่เป็นเกรดของ Nasa และซ้ายสุดคือ Vantablack

VDO: Three Shades of Black 


จะเห็นได้ว่า สีดำ Vantablack จะไม่มีการสะท้อนแสงออกมาเลย สุดยอดเลยใช่ไหม! Vantablack ที่ Kapoor ได้รับสิทธิ์ใช้งานนั้นสามารถดูดกลืนแสงได้ 99.6% ในขณะที่เวอร์ชั่นใหม่นี้สามารถกักเก็บแสง โดยที่ไม่ให้แสงสะท้อนกลับมาได้ถึง 99.965% ลองดูการดูดกลืนแสงของ Vantablack ที่วิดีโอด้านล่างนี้

VDO: Blacker than Original Vantablack!


และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อห่ออะลูมิเนียมฟอยล์ยับย่นจากวัสดุ Vantablack

VDO: Big Wrinkle


จะเห็นได้ว่า สายตาของมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นวัตถุสามมิติที่เคลือบด้วย Vantablack ได้เลย

ในบทความก่อน เราได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับ Vantablack ไปแล้ว แต่จะอธิบายอีกทีเพื่อทบทวน ผิวของ Vantablack ประกอบไปด้วย ท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotubes) ที่เรียงตั้งฉากกับพื้นผิว หรือที่เรียกว่า Vertically Aligned NanoTube Array ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ VANTAblack แสงไฟที่ตกกระทบจะสะท้อนไปมาระหว่างท่อ และจะไม่สะท้อนกลับออกมาด้านนอก จึงส่งผลให้ดูดกลืนแสงได้ถึง 99.965% แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่เชื่อว่าแสงที่เหลืออีก 0.035% คงลดความเข้มลงก่อนที่จะตกกระทบมาถึงตาของเรา

การนำไปใช้
ในเมื่อ Vantablack เวอร์ชั่นใหม่นี้ ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของคนเพียงแค่คนเดียว จึงน่าจะมาช่วยกันคิดดีกว่า ว่าจะนำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ประโยชน์อย่างแรกที่เห็นได้ชัดเจนคือ การนำ Vantablack ไปใช้กับสินค้าที่ออกแบบมาสำหรับตลาดนินจาโดยเฉพาะ อย่างที่รู้กันดีว่า นินจาไม่เคยพกแซนด์วิชห่อในกระดาษฟอยล์ติดตัวไปด้วยระหว่างเดินทาง เนื่องจากวัสดุสะท้อนแสงอย่างกระดาษฟอยล์ อาจทำให้ศัตรูเห็นตัวก่อนแน่ๆ นินจาส่วนมากขอเลี่ยงและยอมทนหิวดีกว่า แต่ถ้าเอาแซนด์วิชแฮมห่อด้วย Vantablack รับรองได้ว่าไม่มีใครเห็นและสืบพบได้แน่นอน

แต่ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งก็คือ เราไม่สามารถสัมผัส Vantablack ได้โดยตรง เนื่องจากแรงกดทับจะทำให้ท่อนาโนเสียหายได้ ทางเดียวที่จะคงผิวสัมผัสไว้ให้เหมือนเดิมได้คือ ต้องคลุมด้วยแผ่นโปร่งแสงที่สามารถปกป้องไม่ให้อะไรมากระทบได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่นิตยสาร The Economist รายงานว่า มีบริษัทนาฬิกาแบรนด์หรูเริ่มหันมาให้ความสนใจกับวัสดุชนิดนี้ หน้าปัดนาฬิกามีแผงแซฟไฟร์กันไว้อยู่แล้ว และถ้าหน้าปัดมีสีดำสนิทก็คงจะดึงดูดผู้ซื้อระดับไฮเอนด์ได้มากทีเดียว

บทความเดียวกันนี้กล่าวว่า บริษัท Surrey Nanosystems ได้พัฒนา Vantablack ในรูปแบบของสีพ่น ที่เรียกว่า S-Vis ซึ่งสามารถดูดกลืนแสงได้ถึง 99.8% เปิดโอกาสให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมาก

เราสามารถใช้ S-Vis ได้กับพื้นผิวที่กว้างมากขึ้น จึงสามารถนำไปใช้กับการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมได้ ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Foster + Partners โดยสถาปนิก Asif Khan วัย 36 ปีจากกรุงลอนดอน ผู้มีผลงานที่ติดรายชื่อ Shortlist สำหรับพิพิธภัณฑ์ Guggenheim แห่งใหม่ในมหานครเฮลซิงกิ หนึ่งในคุณสมบัติที่สถาปนิกต้องการก็คือ การที่ Vantablack สามารถดูดซับความร้อนไว้ได้  ถ้านำไปใช้อย่างถูกวิธี Vantablack สามารถควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของอากาศเพื่อช่วยให้อาคารเย็นลงได้

Vantablck.jpg

สิ่งที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่านั้นก็คือ การมองเห็นสีชนิดนี้ด้วยตาเปล่า สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ส่วนใหญ่ใช้กระจกและเหล็กเป็นส่วนประกอบ โดยออกแบบมาเพื่อให้ดูไร้น้ำหนักและเต็มไปด้วยแสงสว่าง ฟังดูแล้วก็เป็นที่น่าพอใจ แต่ Asif Khan กลับคิดว่ามีบางสิ่งที่ขาดหายไป นั่นก็คือ เราลืมคุณค่าของความมืด และเปิดรับแสงเข้ามามากจนเกินไป เขาจึงหวังว่าสถาปนิกจะใช้วัสดุสีดำนี้ในการ “สร้างช่วงจังหวะของความแตกต่างที่ตรงกันข้ามกับชีวิตประจำวันของเราโดยสิ้นเชิง” เสมือนเป็นเครื่องหมายวรรคตอนให้กับเรา ไอเดียของ Khan เปิดกว้างตั้งแต่โบสถ์ โรงภาพยนตร์ ห้องสมุด ไปจนถึงอาคารทั้งหลัง ซึ่งจะช่วยเพิ่มจุดที่แสดงถึงความลึกและความเงียบสงบของเมืองที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้าที่สร้างจากกระจกสะท้อนแสง

แม้ว่าบทความนี้ไม่ได้พูดถึงการนำ S-Vis ไปใช้กับตึกสำนักงานใหญ่หรือสาขาขององค์กรลับของเหล่านินจา แต่ Khan ก็น่าจะคิดไว้แล้วล่ะ

อ้างอิง: บทความ “Back in Vantablck: After Signing Away Rights to Original, Clever Company Creates Even Darker Version” จากเว็บไซต์ http://www.core77.com