The New Craft ครามกับภาพลักษณ์ใหม่
Materials & Application

The New Craft ครามกับภาพลักษณ์ใหม่

  • 01 May 2017
  • 7459
ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เอื้อให้เราทุกคนสร้างชิ้นงานและต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด จนช่วยผสานเส้นแบ่งระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ใกล้กันมากขึ้น หากเราถอยมามองในภาพกว้าง จะเห็นว่า "นวัตกรรมล้ำสมัยอันเป็นมรดกทางภูมิปัญญา" ที่คนรุ่นก่อนรังสรรค์ไว้ในวัสดุท้องถิ่นนั้นมีความน่าอัศจรรย์ ยิ่งเปิดมุมมองเข้าถึงแก่นแท้ของภูมิปัญญามากเท่าไหร่ ยิ่งเปิดโอกาสไปสู่การต่อยอดนวัตกรรมที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจให้กว้างไกลขึ้นมากเท่านั้น
    
นวัตกรรม “คราม” ช่วยให้การย้อมครามเป็นเรื่องง่าย ลดขั้นตอนในการเตรียม และเปิดโอกาสให้เกิดการต่อยอดสร้างสรรค์ ทั้งยังเป็นการส่งต่อภูมิปัญญาให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้อย่างร่วมสมัย วิธีการย้อมครามถือเป็นภูมิปัญญาที่ได้สืบทอดมาเป็นเวลานานในภูมิภาคเขตร้อน เทคนิคมีความแตกต่างกันไปตามพันธุ์พืชท้องถิ่นที่นำมาใช้ ซึ่งกระบวนการในการเตรียมวัตถุดิบและก่อครามนั้นต้องอาศัยประสบการณ์ ความประณีต ตั้งใจ และใช้เวลามาก โดยส่วนใหญ่ครามมักถูกย้อมลงบนผืนผ้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งทอ แต่ในปัจจุบันที่มีวัสดุหลากหลายมากขึ้น ครามจึงถูกนำมาประยุกต์ใช้เพิ่มเติมอย่างน่าสนใจ โดยผู้ผลิตได้ริเริ่มทดลองนำครามไปใช้มากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์ย้อมครามได้ตามลักษณะการใช้งานที่ต้องการ ยกตัวอย่าง Mann Craft ที่ได้คิดค้นน้ำหมึกครามสำหรับกระดาษ โดยเริ่มจากการพรมน้ำบนกระดาษทั้งสองด้านเพื่อให้ดูดซับหมึก จากนั้นจึงหยดสีครามพร้อมด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ดอกไม้ ใบไม้ หรือชิ้นกระดาษแทรกไว้ระหว่างกระดาษสองแผ่นเพื่อสร้างลวดลายที่แตกต่างกัน ก่อนจะทิ้งไว้ แล้วจึงแกะแผ่นกระดาษออกจากกันเพื่อนำไปผึ่งแห้ง และปล่อยให้หมึกทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เมื่อแห้งสนิทจึงนำกระดาษไปล้างเอาสีย้อมส่วนเกินออกและผึ่งแห้งอีกครั้ง กระบวนการนี้จะทำให้สีย้อมซึมลงในเนื้อกระดาษอย่างเต็มที่ ทำให้สีไม่หลุดล่อนหรือไหลกลับออกมาอีกเมื่อสัมผัสกับน้ำ จากการพัฒนาปรับปรุงสูตรครามให้สามารถย้อมหรือทำลวดลายลงบนกระดาษทั้งแห้งหรือเปียกได้ และผงครามที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญสามารถทดลองเล่นสนุกกับครามด้วยการนำไปสร้างสรรค์ผ่านเทคนิควิธีใหม่ๆ เพื่อต่อยอดเป็นลวดลายและผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ จึงถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการส่งต่อภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้อย่างน่าสนใจ

ขณะที่อีกหนึ่งแบรนด์อย่าง Fulame เครื่องหนังที่ย้อมด้วยครามธรรมชาติ ก็ถือเป็นอีกตัวอย่างของการผนวกความคิดสร้างสรรค์เข้ากับภูมิปัญญา โดยการพัฒนาเทคนิคย้อมครามให้เกิดลวดลายใหม่บนพื้นผิววัสดุที่แตกต่างกัน นับเป็นการขยายขีดจำกัดของการย้อมครามที่ไม่ได้มีเพียงแต่ผ้าธรรมชาติ อีกทั้งยังขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการนำเสนอครามในมุมมองใหม่ได้เป็นอย่างดี ส่วน ฮูปแต้ม สตูดิโอ ก็ได้คิดค้นกาบกล้วยย้อมคราม ด้วยการแปลงกาบกล้วยให้เป็นวัตถุดิบแผ่นและเสริมความสวยงามด้วยการย้อมคราม ทำให้เนื้อกาบกล้วยมีลวดลายของโครงสร้างทางธรรมชาติชัดเจนสวยงาม สามารถนำไปใช้เป็นวัสดุตกแต่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างมลพิษ ตอบโจทย์การเพิ่มมูลค่าวัสดุอย่างกล้วยที่มีมากมายหลายสายพันธุ์ในบ้านเราได้เป็นอย่างดี โดยตัวอย่างสีและความแข็งของกาบกล้วยจะแตกต่างกันตามแต่ละสายพันธุ์  เช่น กล้วยน้ำว้า สีขาวครีมสว่าง กล้วยตานี สีเทาออกเขียว และแข็งกว่ากล้วยอื่นๆ กล้วยหอม สีขาวสว่างและนิ่ม กล้วยข้าว สีน้ำตาลอมม่วง
    
เมื่อความคิดสร้างสรรค์เป็นปัจจัยสำคัญในการก่อตัวของนวัตกรรม บวกเข้ากับความได้เปรียบทางความหลากหลายของวัสดุในท้องถิ่น และต่อยอดขีดจำกัดด้วยเทคนิควิธีล้ำสมัยที่พัฒนาจากภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา ก็เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยุคใหม่ โดยการนำเสนอคุณค่าใหม่ที่ยังคงไว้ซึ่งแก่นของภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ นับเป็นเสน่ห์ของวัสดุสร้างสรรค์ของไทยที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจไปได้อย่างไม่จำกัด

พบกับพื้นที่จัดแสดง The New Craft วัสดุสร้างสรรค์ ได้ที่ชั้น 2 ห้อง Material & Design Innovation Center, TCDC
    
เรื่อง: ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข และ โศภิษฐา ธัญประทีป ภาพ: ชาคริต นิลศาสตร์