Reverse Regression
Materials & Application

Reverse Regression

  • 01 Feb 2018
  • 8207

นี่อาจเป็นยุคที่เรา “อ่าน” กันมากที่สุด และก็เป็นช่วงเวลาที่เราก็สามารถ “ถ่ายทอด” หรือ “บอกเล่า” ออกมาได้มากที่สุดและง่ายที่สุดเช่นเดียวกัน การเปิดกว้างของช่องทางในการเล่าเรื่องและสื่อสารผ่านตัวหนังสือนั้น กำลังขยายวงเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ แต่ในเวลาเดียวกัน เรากลับเห็นปริมาณของสื่อสิ่งพิมพ์อย่างที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือหนังสือลดน้อยถอยลง เช่นเดียวกับอาชีพ “นักเขียน” ที่เคยเป็นอาชีพไกลตัว เข้าถึงได้ยาก และจำกัดวงเฉพาะผู้ที่มีสิทธิมีเสียงในการครอบครองสื่อเท่านั้น ทว่าปัจจุบัน ใครๆ ก็สามารถจะเป็นนักเขียนได้ แค่คุณมีความต้องการที่จะบอกเล่าออกมา

ตามสถิติพบว่า ผู้ใช้ทวิตเตอร์จะทวีตข้อความราว 6,000 ทวีตในทุกวินาที สอดคล้องไปกับจำนวน 350,000 ทวีตที่ถูกส่งขึ้นมาบนแพลตฟอร์มออนไลน์นี้ในทุกหนึ่งนาที กลายเป็นผลรวมมหาศาลเท่ากับ 500 ล้านทวีตต่อวัน และ 2 แสนล้านทวีตต่อปี เมื่อเทียบกับเฟซบุ๊ก ก็พบว่าตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือในทุกๆ นาที จะมีคอมเมนต์ 510,000 คอมเมนต์ มีการอัพเดทสเตตัสอีกราว 293,000 สเตตัส และการอัพโหลดรูปอีก 136,000 รูปถูกโพสต์ขึ้นไป ไม่บอกก็รู้ว่า ปริมาณที่ถี่ยิบยิ่งกว่าเข็มวินาทีเดินไปข้างหน้า จะมีปริมาณ “นักเขียน” ที่อยู่เบื้องหลัง “ตัวอักษร” เหล่านี้มากเพียงใด และจะมีการแข่งขันเพื่อเรียกร้องความสนใจจาก “นักอ่าน” หรือ “ผู้ที่บังเอิญผ่านมาเห็น” มากขนาดไหนในแต่ละวัน

แต่ตัวเลขเหล่านี้ จะเป็นตัวแทนลมหายใจใหม่ของสิ่งพิมพ์ได้หรือไม่ คำถามที่ถูกถามกันบ่อยมากที่สุดในยุคดิจิทัลอย่างวันนี้ ก็คือ ในอนาคตเราจะยังมีหนังสือกระดาษให้อ่านกันอยู่หรือไม่ หากมองลงไปในบริบทของปัจจุบัน คำตอบอาจเป็นได้ว่า หนังสืออาจไม่ได้เปลี่ยนไปหรือตายลง แต่เมื่อคนทำหนังสือต้องเผชิญหน้ากับโจทย์ใหม่ที่วิวัฒน์ไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยี ก็ทำให้หนังสือต้องได้รับการต่อยอดให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์คนอ่านมากกว่าเดิมด้วย

ตัวหนังสืออาจไม่จำเป็นต้องถูกบรรจุอยู่เพียงในหน้ากระดาษ ที่ถูกเย็บรวมกัน เข้าสันเป็นเล่มอีกต่อไป แต่มันอาจเลื่อนไหลอย่างอิสระไปปรากฏกายอยู่ในสื่อใหม่ๆ ที่เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะแค่สื่อหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในยุคนี้ แต่มันอาจจะอยู่ในรูปแบบของภาพยนตร์ นิทรรศการ ผลงานศิลปะ หนังสือภาพ หรือแม้แต่หนังสือทำมือเล่มพิเศษ ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มนักอ่านที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น

เพราะที่สุดแล้ว หนังสือก็จะยังคงเป็นหนังสือ ที่ทำหน้าที่เป็นเพียง “สื่อ” ในการนำ “สาร” มาถึงเรา หากวันนี้ลมหายใจของสื่อเก่ากำลังแผ่วลง นั่นก็ไม่ได้หมายถึงว่าความกระตือรือร้นของสารที่อยู่ภายในจะอ่อนเรี่ยวแรงลงไปด้วย...กลับกัน เมื่อมองกันดีๆ สารเหล่านี้กลับยิ่งเพิ่มปริมาณทวีคูณ เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และกำลังถาโถมเข้าใส่ จนเราแทบตั้งตัวไม่ติดเลยต่างหาก

กิตติรัตน์ ปิติพานิช
บรรณาธิการอำนวยการ