The Roof ผลงานศิลปะเพื่อมวลชน
Materials & Application

The Roof ผลงานศิลปะเพื่อมวลชน

  • 01 Jul 2017
  • 1658
The Roof Photo, Ryan Muir, Courtesy of Brookfield Place


เมื่อศิลปิน “พินรี สัณฑ์พิทักษ์” ได้รับเชิญให้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในอาคารสาธารณะของมหานครนิวยอร์ก โจทย์สำคัญก็คือ การลงมือสร้างกระบวนการทำงานที่จะเกิดประโยชน์แก่ผู้คนที่ผ่านไปมา โดยที่ยังคงสร้างผลงานได้อย่างสนุกและอิสระ สถานที่จัดแสดงผลงานที่เปิดโล่งอย่าง Winter Garden ใจกลางมหานครนิวยอร์ก ที่ประกอบด้วยโถงปูหินอ่อนกว้างใหญ่โชว์โครงสร้างเหล็กติดกระจกสูงลิบ ท่ามกลางกลุ่มอาคารคอนกรีตระฟ้า ปกคลุมด้วยท้องฟ้า แสงแดด หิมะ เมฆฝน และต้นปาล์ม 16 ต้น มองเห็นแม่น้ำฮัดสันอยู่ด้านนอก จึงท้าทายให้ศิลปินนึกอยากลดความเร็วของมหานครนิวยอร์กให้ช้าลง และเลือกเสนอผลงานการสร้างพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนจะสามารถเข้ามาผ่อนคลายได้ ภายใต้ข้อจำกัดด้านการใช้พื้นที่หลายประการ “ทางตึกอนุญาตให้เราทำงานตรงไหนก็ได้ในโถงนั้น แต่งานต้องเป็นงานแขวนเท่านั้น เพื่อไม่ให้กีดขวางเส้นทางการสัญจรของผู้คนที่อาจมีมากกว่าแสนคนต่อวันในพื้นที่ วัสดุแรกที่นึกถึงในการสร้างสรรค์ผลงาน The Roof จึงเป็นกระดาษที่โปร่งแสง ซึ่งให้ความรู้สึกบอบบาง แต่ก็อบอุ่น แข็งแรง”   

เมื่อคิดถึงวัสดุและกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานได้แล้ว พินรีจึงได้ชักชวนทีมสถาปนิก all(zone) นำโดย ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย ที่เคยร่วมงานกันหลายครั้งให้เข้ามาช่วยเรื่องโครงสร้างการติดตั้งที่เป็นโถงสูง 40 ม. พื้นที่กว่า 3,600 ม. พร้อมกับค้นหาวัสดุที่เหมาะสมต่อด้วยความช่วยเหลือจาก Material ConneXion Bangkok จนได้ “มาวะตะ” วัสดุธรรมชาติจากบริษัทจุลไหมไทย จ. เพชรบูรณ์  เป็นแผ่น nonwoven ใยไหม ทำจากเศษรังไหมที่ไม่ได้ใช้จากงานจากการสาวไหม  ซึ่งเป็นวัสดุไม่ลามไฟ (Flame retardant) ที่ตรงกับกฎเกณฑ์ของการทำงานในที่สาธารณะที่วัสดุต้องผ่านการรับรองจาก FDNY หรือสำนักงานดับเพลิงของนิวยอร์กพอดี 
 

The-Roof1.jpg 
The Roof Photo, Pinaree Sanpitak


พื้นที่งานของ The Roof ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 500 ตรม. การทำงานเกิดจากความตั้งใจในการผสมผสานวัสดุ 3 ประเภทคือ สปันด์บอนด์ ไฟเบอร์กลาส และมาวะตะ มาประกอบให้เป็นชั้นๆ แล้วนำมาติดตั้งในลักษณะของการติดประกอบ (Collage) โดยวัสดุมาวะตะที่ใช้ เป็นชนิดไม่ฟอกสีและอัดเป็นผืนขนาด 100 x 200 ซม. สามารถยืดออกทางยาวได้โดยไม่ขาดจากกัน ส่วนผ้าไฟเบอร์กลาสก็สามารถสร้างผิวสัมผัสได้หลายแบบด้วยมือ ช่วยให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติที่ทั้งกลมกลืนและขัดกันของวัสดุจากธรรมชาติและวัสดุสังเคราะห์ 

ทีมสถาปนิกจาก all(zone) ออกแบบโครงสร้างเป็นโครงสร้างโซ่ตะข่าย ที่ไม่แข็งแก็งแต่ยืดหยุ่นไปพร้อมๆ กับตัววัสดุ สามารถติดตั้งงานที่เป็นวัสดุต่างๆ ได้ มีโครงหล้ก เป็นโครงสร้างสำเร็จรูปที่เรียกว่า Mod Truss ซึ่งเป็นการใช้ท่อ Modular Truss หน้าตัดจัตุรัส 3 x 3 นิ้ว เป็นโครงสร้างหลักที่จะห้อยโซ่และแขวนงาน ช่วยให้ความรู้สึกที่กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมที่เป็นต้นปาล์มและอาคารสูง และสามารถติดตั้งได้ง่าย นอกจากนี้ ทีมงานผู้ช่วยก็สามารถใช้ทักษะศิลปะในการจัดวางวัสดุและประกอบงานส่วนต่างๆ จากกรุงเทพฯ กระทั่งเสร็จเรียบร้อยภายในเวลาเพียงเดือนเศษ 

The Roof ผลงานศิลปะจากฝีมือการรังสรรค์ของศิลปินชาวไทย และวัสดุธรรมชาติของไทย ได้จัดแสดงที่ Winter Garden ระหว่างวันที่ 19 เมษายน – 5 กรกฎาคม  2017 นับเป็นผลงานศิลปะที่มีขั้นตอนซับซ้อน แต่สามารถทำให้สำเร็จลงได้จากการทำงานร่วมกันของผู้คนหลายสาขา จนทำให้ The Roof กลายมาเป็นผลงานศิลปะเพื่อมวลชน ที่หน่วยงานอย่าง Arts Brookfield ซึ่งเน้นการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่สาธารณะ เลือกใช้เป็นสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมน่าสนใจทั้งดนตรี การแสดง และการฉายภาพยนตร์ต่างๆ นับเป็นผลงานจากความร่วมมือร่วมใจ เพื่อส่งต่อและแบ่งปันประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับทั้งผู้คน สถานที่ และอากาศที่แปรเปลี่ยนไปในแต่ละวันได้อย่างแท้จริง 

เรื่อง: พินรี สัณฑ์พิทักษ์ 

พบกับนวัตกรรมและวัสดุสร้างสรรค์ได้ที่ชั้น 2 ห้อง Material & Design Innovation, TCDC 

ขอขอบคุณ : 
Arts Brookfield 
Tyler Rollins Fine Art 
all(zone) ผศ.ดร.รชพร ชูช่วย รัชนัญ ภัตรพานิช อัจฉราพร วชิระศรีสุนทรี 
Material ConneXion Bangkok ดร.ดารารัตน์ เมฆเกรียงไกร 
BNW Rigging 
ใจทิพย์ ใจดี รัธวลี ชาญชวลิต พลอยเพชร รักสนิท 
โชน ปุยเปีย Zoë Calman Amina Tirana วิจฉิกา อุดมศรีอนันต์ กมลนัดดา ธรรมรงค์รักษ์ 
ร้านอาหารศรีประไพ คุณยุทธนา ลิ้มเลิศวาที