นวัตกรรมเส้นไหมไทยอินทรีย์...จากวันนี้สู่อนาคต
Materials & Application

นวัตกรรมเส้นไหมไทยอินทรีย์...จากวันนี้สู่อนาคต

  • 01 Sep 2017
  • 7084

จากที่เคยผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าในตลาดสิ่งทอ ปัจจุบัน “ไหมไทย” กลายเป็นสินค้าส่งออกในตลาดอาเซียนและยุโรป โดยมี “จุลไหมไทย” หนึ่งในผู้ผลิตไหมที่ได้บุกเบิกการทำธุรกิจปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม มากว่า 40 ปี เป็นผู้ผลิตเส้นไหมคุณภาพสูงเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ทอผ้าไหมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันกลุ่มบริษัทจุลไหมไทยได้เติบโตบนเส้นทางสายไหม จนเรียกได้ว่าเป็นผู้ผลิตเส้นไหมรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศไทย 


จุลไหมไทยมองการพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งทอและความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายสำคัญ ทั้งยังมองเห็นโอกาสที่จะสร้างให้เกษตรกรไทยเป็นผู้ผลิตเส้นไหมให้กับกลุ่มธุรกิจสิ่งทอทั่วโลก จึงมุ่งมั่นพัฒนาวัสดุที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค คือ เส้นไหมอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองจากมาตรฐานสิ่งทออินทรีย์ระดับโลก (Global Organic Textile Standard: GOTS) จากสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2555 นับว่าเป็นไหมสีขาวธรรมชาติชนิดแรกที่ได้มาตรฐานนี้ โดยผลิตจากหนอนไหมที่ผสมพันธุ์ขึ้นเป็นพิเศษ ให้มีความมันเงาแบบไหมไทย และมีผิวเรียบแบบไหมญี่ปุ่น รังไหมที่ถูกเก็บจะต้องผ่านการคัดแยกและทำให้นุ่ม ไหมเส้นใยเดี่ยวจะถูกม้วนเป็นไจด้วยกระบวนการกึ่งอัตโนมัติ เพื่อเตรียมนำไปปั่นเป็นเส้นด้ายต่อไป โดยไหมนับเป็นเส้นใยธรรมชาติที่มีความแข็งแรงอยู่ในตัว มีผิวเรียบเนียน นุ่ม และต้านทานความร้อนได้ดี จึงได้รับความนิยมมาเป็นเวลานาน โดยเส้นไหมของจุลไหมไทยนั้นได้รับคัดเลือกเข้าสู่ฐานข้อมูลวัสดุ Material ConneXion® เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถขยายช่องทางในตลาดระดับสากล กระทั่งได้รับการติดต่อจากผู้จัดซื้อวัตถุดิบให้กับแบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้า H&M ที่เลือกนำเส้นไหมอินทรีย์ไปเป็นวัสดุหลักในการผลิตคอลเล็กชั่นสุดพิเศษ Conscious Exclusive ที่มีแนวความคิดเพื่อการพัฒนาแฟชั่นแบบยั่งยืน โดยเลือกใช้วัสดุที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ นอกจากนี้ จุลไหมไทยยังได้รับการสั่งซื้อเส้นไหมจากญี่ปุ่น เพื่อนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ท้องถิ่นต่างๆ เพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่างอย่างการเป็นสินค้าที่ผลิตจาก “เส้นไหมไทยอินทรีย์” (Thai Organic Silk) อันเป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพในระดับสากล นอกจากนี้ จุลไหมไทยยังได้เปิดสำนักงานที่สปป. ลาวพร้อมแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงยังได้หาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อเปิดตลาดในมาเลเซียและอินโดนีเซียอีกด้วย 

โอกาสของไหมไทยยังมีอีกมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่ต้นทางของผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนถึงงานวิจัยและพัฒนาปรับปรุงคุณภาพ เพื่อให้ตีตลาดและสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ไหมไทยในตลาดต่างประเทศ สิ่งสำคัญของการพัฒนาผ้าไหมไทยนั้นอยู่ที่นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ที่จะช่วยทำให้ไหมไทยยืนหยัดได้ในเวทีระดับโลกอย่างยาวนาน 

เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และ ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข 

ที่มา: 
Organic Silk Yarn ฐานข้อมูลวัสดุ TCDC Material Database จาก materials.tcdc.or.th 
บทความ “เส้นทางจุลไหมไทย (Not) Smooth As Silk” โดย ชญานิจฉ์ ดาศรี (17 มิถุนายน 2557) จาก forbesthailand.com