อี (สรร) สาน
Materials & Application

อี (สรร) สาน

  • 03 May 2018
  • 22300

แต่ดั้งเดิมนั้น ภาคอีสานนับเป็นสังคมเกษตรกรรมที่ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ต้องมีอุปกรณ์สําหรับใช้สอยเพื่อการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตประจําวัน ส่งผลให้เกิดการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งงานจักสาน เช่น กระติ๊บ ตะกร้า กระบุง ที่จับสัตว์ หรืองานเครื่องปั้นดินเผาซึ่งใช้เป็นภาชนะใส่และถนอมอาหาร ไปจนถึงงานทอผ้าสำหรับนุ่งห่ม และงานหัตถกรรมเพื่อใช้ประกอบพีธีกรรมทางศาสนา อาทิ งานบุญบั้งไฟ การแห่ผีตาโขน การหล่อเทียนพรรษา หรือการทอธุงเพื่อใช้ในงานบุญ ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ ด้วยการนำภูมิปัญญามาประกอบกับการผลิตและแปรรูปวัสดุในท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการชาวอีสานรุ่นใหม่ยังได้พัฒนานําเอาภูมิปัญญาทางด้านหัตถกรรมมาใช้ผลิตสินค้าในเชิงพาณิชย์ และเปลี่ยนงานหัตถกรรมทำมือมาเป็นงานหัตถอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เริ่มต้นที่ “ผ้าไหม” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอีสานมาอย่างยาวนาน เห็นได้จากความหลากหลายของผ้าไหมที่สามารถบ่งบอกถึงชาติพันธุ์ในภาคอีสานได้ อาทิ ผ้าไหมแพรวาของชาวผู้ไท หรือผ้าไหมหางกระรอกซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวโคราช ซึ่งปัจจุบันผ้าทอเหล่านี้ได้รับการพัฒนารูปแบบให้สอดคล้องกับตลาดสมัยใหม่ และยังปรับกระบวนการผลิตให้ดําเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสม เช่น ไหมแต้มหมี่ ที่บ้านชนบท จ. ขอนแก่น ซึ่งคิดค้นดัดแปลงกระบวนการผลิตผ้ามัดหมี่ให้ผลิตได้ง่ายขึ้นและพัฒนาลวดลายให้ทันสมัย ส่วนผู้ผลิตผ้าไหมบ้านนาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ ก็มีการปรับตัวผลิตผ้าไหมเพื่อสร้างรายได้มาหล่อเลี้ยงช่างฝีมือได้เป็นจํานวนมาก ด้วยการใช้วิธีลดต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยนำเศษไหมที่ถูกทิ้งในกระบวนการผลิตแบบเดิม มาผลิตเป็นผ้าที่มีลักษณะการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้นนอกเหนือจากการเป็นผ้านุ่ง จนขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้ดี

นอกจากผ้าไหมแล้ว อีกหนึ่งภูมิปัญญาที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องก็คือ “ผ้าย้อมคราม” ของดี จ. สกลนคร เช่น ผ้าย้อมครามของแม่ฑีตา ผู้เข้าใจบริบทของงานช่างฝีมือและความต้องการของตลาดเป็นอย่างดี ทําให้ผ้าย้อมครามของไทยดํารงอยู่ได้ในตลาดโลก หรือผู้ประกอบการครามสกล ผู้แตกองค์ประกอบของการผลิตผ้าครามในเชิงวิทยาศาสตร์ ทําให้ผลิตได้ในแบบอุตสาหกรรม และยังปรับใช้ครามกับเทคนิคสมัยใหม่ได้หลากหลาย ส่วน Mann Craft ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจในการพัฒนาการย้อมคราม ด้วยการเพียรทดลองแปรสภาพครามในรูปแบบต่างๆ ให้เป็นหมึกคราม และครามผง เพื่อให้ครามใช้งานได้บนวัสดุที่หลากหลายและใช้งานได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยยังได้หยิบเอาวัสดุธรรมชาติจากท้องถิ่นมาผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมากมาย เช่น ผู้ผลิตภิญโญวาณิช จ. นครราชสีมา ที่นํากาบหมากมาอัดขึ้นรูปเป็นภาชนะสําหรับใช้แล้วทิ้งซึ่งตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม หรือไทเมืองเพีย จ. ขอนแก่น ที่มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใยบวบให้มีการใช้งานที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น CT

ผู้ที่สนใจสามารถชมตัวอย่างวัสดุของภาคอีสานได้ที่ ISAN Material Innovation Center ศูนย์กลางที่รวบรวมนวัตกรรมวัสดุท้องถิ่นของอีสานนำมาจัดแสดงในรูปแบบที่ทันสมัย ง่ายต่อการใช้งานเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งดำเนินการสร้างและพัฒนามาตรฐานสินค้า ตรวจสอบคุณสมบัติทางวัสดุศาสตร์ เพื่อยกระดับวัสดุท้องถิ่นอีสานให้สามารถผลิตและนำไปใช้ในระดับอุตสาหกรรมและการส่งออก ตั้งแต่ผ้าทอ เส้นใยธรรมชาติ เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา หินทรายขัด และเครื่องเงิน ทองเหลือง

ที่ตั้ง : ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ขอนแก่น 123 ถนนมิตรภาพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40002
Facebook: TCDC Khon Kaen (เปิดให้บริการเร็วๆ นี้)

เรื่อง : ทิพย์ เพ็ญพายัพ และ ฉัตรธิดา ผลสุข