กลับบ้านอย่างปลอดภัยด้วยแอพพลิเคชัน SafetiPin
ความสำคัญในการพัฒนาเมืองใหญ่ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่เพียงต้องอาศัยการพัฒนาเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ หรือพัฒนาสาธารณูปโภคของเมืองให้มีความทันสมัยเท่านั้น แต่การคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและความเป็นอยู่ของพลเมืองก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่อสตรีสูง โดยรายงานในปี 2014 พบว่า จำนวนของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงอินเดียนั้นมีมากถึง 337,922 คดี มากถึงขั้นที่องค์กรการกุศลระดับโลกอย่าง Thomson Reuters Foundation ต้องออกมาประกาศว่า อินเดียคือประเทศที่ไม่ปลอดภัยที่สุดในโลกสำหรับผู้หญิง
ความรุนแรงจำนวนมากที่เกิดขึ้น เป็นเหตุผลหลักที่สร้างความหวาดกลัวต่อสตรีชาวอินเดีย และนำมาสู่การลดทอนเสรีภาพในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัวต่อเส้นทางการเดินทาง เช่น การไปโรงเรียน ทำงาน หรือออกไปผ่อนคลายนอกบ้าน ซึ่งนับว่าสร้างปัญหาอย่างมากให้กับการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพและเป็นปกติสุข นี่จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาแอพพลิเคชัน SafetiPin ขึ้นเพื่อเป็นตัวช่วยในการเดินทางอย่างปลอดภัยสำหรับผู้หญิง แอพฯ ดังกล่าวก่อตั้งโดยกัลพานา วิสชวานาธ (Kalpana Viswanath) ผู้เชี่ยวชาญในด้านสิทธิสตรี และอาชิส บาสุ (Ashish Basu) อดีตประธานบริษัท NIIT ที่ส่งเสริมเรื่องการเรียนรู้และสร้างทักษะความสามารถในด้านเทคโนโลยี
SafetiPin จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบเส้นทางของตนที่ต้องสัญจรผ่านว่ามีระดับความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด โดยใช้มาตรวัดของสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น ความสว่างของพื้นที่ ความโล่งของสถานที่ การมองเห็นที่ชัดเจน ความหนาแน่นของผู้คน ความปลอดภัย รวมถึงการบอกระยะทางของขนส่งมวลชนที่ใกล้ที่สุด ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยและหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ไม่น่าไว้ใจได้ โดยข้อมูลส่วนหนึ่งถูกรวบรวมจากทีมงาน SafetiPin ขณะที่อีกส่วนเป็นข้อมูลที่ได้มาจากฝั่งผู้ใช้งานซึ่งสามารถส่งรีวิวของพื้นที่ต่างๆ ว่ามีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งยังสามารถโพสต์รูปประกอบของสถานที่จริงไว้ให้ผุ้ใช้งานคนอื่นๆ ได้ดูอีกด้วย แอพพลิเคชัน SafetiPin เริ่มเปิดให้ใช้งานที่แรกในกรุงเดลี มหานครที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย และได้เก็บของมูลของจุดปลอดภัยไว้มากกว่า 60,000 แห่ง ในบริเวณกว่า 6,000 กิโลเมตรทั่วเขตตัวเมือง ซึ่งต่อมายังได้ขยายพื้นที่การใช้งานไปในอีก 10 ประเทศทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีการรวบรวมจุดปลอดภัยเอาไว้แล้วกว่า 28 เมือง
ไม่เพียงแค่รายงานความปลอดภัยของเส้นทาง แอพพลิเคชันนี้ยังสามารถช่วยให้บรรดาญาติหรือเพื่อนสนิทสามารถติดตามสถานะการเดินทางของผู้ใช้งานได้ โดยผู้ใช้งานมีสิทธิ์ในการอนุญาตผู้ที่จะติดตามได้ด้วยตนเอง อีกยั้งมีระบบ Safety Scores แสดงระดับความปลอดภัยของพื้นที่สัญจรหรือป้ายรถเมล์เมื่อต้องหยุดรอรถในเวลากลางคืน
การรวบรวมเส้นทางที่ปลอดภัยไม่เพียงช่วยให้ประชาชนสามารถเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดในการเดินทางที่มีความปลอดภัยกับตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการรายงานถึงความบกพร่องของพื้นที่ในเมืองไปยังภาครัฐด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ตลอดจนเทศบาลของกรุงนิวเดลียังได้ใช้ข้อมูลของ SafetiPin ในการยกระดับความปลอดภัยของตัวเมือง โดยการเพิ่มแสงไฟในพื้นที่มีแสงน้อย และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจตรายามค่ำคืน เพื่อร่วมกันสร้างความปลอดภัยและช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกคนด้วย
รูปประกอบจาก : safetipin.com
ที่มา: บทความ “SafetiPin: empowering women to make their world safer” โดย Amrita Sekhar จาก yourstory.com
บทความ “What would a city that is safe for women look like?” โดย Amy Fleming จาก theguardian.com
บทความ “SafetiPin: A Tool to Build Safer Cities for Women” โดย Kalpana Viswanath จาก asiafoundation.org
SafetiPin.com/
เรื่อง: นพกร คนไว