เริ่ม Re- วันนี้เพื่ออนาคตที่ดีในวันหน้า
Design & Creativity

เริ่ม Re- วันนี้เพื่ออนาคตที่ดีในวันหน้า

  • 01 Jun 2021
  • 2178

จากสถิติล่าสุดของ Worldometer พบว่าจำนวนประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับปี 2020 เมื่อร่วมกับสถานการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในปัจจุบัน อาจทำให้เราจินตนาการถึงอนาคตได้ยาก แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงทุกวินาที โดยเฉพาะเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ที่เป็นจุดศูนย์กลางของทุกชีวิต ซึ่งต่อให้นวัตกรรมจะก้าวไกลแค่ไหน แต่หากปริมาณทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ก็คงไม่ตอบโจทย์การมีอนาคตที่ยั่งยืนได้

และเพราะวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่ฝังรากลึกนี้เป็นปัญหาร่วมของทุก ๆ ชีวิตบนโลก แต่ละประเทศจึงเตรียมเร่งแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรด้วยหลัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” ซึ่งเป็นแนวคิดเชิงระบบในการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการหรือรูปแบบธุรกิจ ด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากที่สุดนั่นเอง 

ภารกิจ Heal the World, Make It a Better Place :) 
แน่นอนว่า หลัก 7R อย่าง Reduce, Reuse, Refill, Return, Repair/Repurpose, Replace และ Recycle ยังคงเป็นหลักการที่ทำหน้าที่ได้ดีเพื่อย้ำเตือนพฤติกรรมผู้บริโภคให้พิจารณาสินค้าก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อ เมื่อรวมเข้ากับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น พลาสติกชีวภาพ บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน หรือเนื้อจากพืช อาจทำให้เรารู้สึกเบาใจขึ้นกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก

แต่จะทราบได้อย่างไรว่า สิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ยั่งยืน ไม่ได้เป็นเพียงโฆษณาที่ย้อนแย้งกับความเป็นจริง ปัจจุบันจึงต้องมีตัวชี้วัดในการพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมร่วมอย่าง “การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA)” ซึ่งเป็นการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ ด้วยปริมาณที่เรียกว่า “คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint)” หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศของโลกในตลอดกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบที่นำมาใช้ การขนส่ง ระหว่างการใช้งาน ไปจนถึงขั้นตอนการนำไปย่อยสลาย โดยแสดงอยู่ในรูปของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากนั้นองค์กรที่รับผิดชอบในแต่ละประเทศจะออกมาตรการด้านการออก “ฉลากสิ่งแวดล้อม” ของตนเองผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่เหมาะสมในแต่ละประเภท เพื่อรับรองหรือให้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมแก่ผู้บริโภคเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการพิจารณาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการต่าง ๆ 

โดยในประเทศไทยก็มีการออกฉลากเพื่อรับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ผ่านมาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากการประเมินวัฏจักรชีวิตเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

  • ฉลากเขียว (Green label) คือฉลากที่รับรองให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน โดยคุณภาพยังอยู่ในระดับมาตรฐานที่กำหนด

  • ฉลากลดคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint Reduction Label) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ฉลากลดโลกร้อน” คือ ฉลากที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้ผ่านกระบวนการที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตแล้ว ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน และการกำจัดซาก

แม้ภารกิจ Heal the World นี้อาจจะเข้าใจยาก ซับซ้อน หรือดูไกลตัวเรา แต่อย่าลืมว่าเราต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบอันซับซ้อนในโลกใบนี้ และทุกคนต่างมีศักยภาพในการเรียนรู้ พัฒนา และปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดได้ ฉะนั้นไม่ว่า นวัตกรรมจะถูกผลิตออกมาให้ล้ำมากแค่ไหน หากเราเพิ่มความใส่ใจและฉลาดเลือกในการบริโภคมากขึ้น อนาคตที่จะกอบกู้โลกให้กลับมาสวยงามและส่งต่อสิ่งที่ดีต่อคนรุ่นต่อไปก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม

ที่มาภาพเปิด : Unsplash/markusspiske

ที่มา : สถิติ “World Population” จาก worldometers.info เอกสาร “คู่มือแนะนำฉลากเขียว” โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จาก tei.or.th
บทความ “จัดการปัญหาขยะก่อนลงถังด้วยหลัก 7R ทางเลือกเพื่อหลีกเลี่ยงมลพิษพลาสติกหลังวิกฤตโควิด-19” โดย พิชา รักรอด จาก greenpeace.org
บทความ “ฉลาดลดกับ...ฉลากลดโลกร้อน” โดย พวงพันธ์ ศรีทอง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จาก thaicarbonlabel.tgo.or.th

เรื่อง : มนต์นภา พานิชเกรียงไกร