เสื้อผ้าจากกระดาษ คอลเล็กชันที่ตีความใหม่จากเทคนิคงานคราฟต์ดั้งเดิม
Materials & Application

เสื้อผ้าจากกระดาษ คอลเล็กชันที่ตีความใหม่จากเทคนิคงานคราฟต์ดั้งเดิม

  • 14 May 2021
  • 9350

คอลเล็กชันเสื้อผ้า 6 ชิ้น ที่ใช้วิธีตัด ฉีก และม้วน กระดาษสาดั้งเดิมของเกาหลีด้วยมือ โดยซุน ลี นักออกแบบชาวเกาหลีใต้

ซุน ลี (Shun Lee) จบการศึกษาจากสถาบันออกแบบไอนด์โฮเวน ได้สร้างสรรค์ผลงานคอลเล็กชันเสื้อผ้าแฟชั่น ภายใต้ชื่อ  Consumption of Heritage จากไอเดียที่เห็นเสื้อผ้าจำนวนมากถูกทิ้งเป็นขยะเมื่อหมดซีซั่น

“คอลเล็กชันนี้ออกแบบขึ้นภายใต้ 3 แนวคิดคือ สามารถใช้งานได้ในเวลาสั้น ๆ ใช้แล้วทิ้งได้ และตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน” ลีกล่าวกับ Dezeen

ชุดเสื้อผ้าคอลเล็กชันนี้ใช้วัตถุดิบจากกระดาษฮันจิ (Hanji) กระดาษโบราณที่ผลิตขึ้นด้วยทักษะดั้งเดิมของประเทศเกาหลี และผ้า Hansan-Mosi ซึ่งผ่านการออกแบบที่ทำให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล โดยการตัดเย็บเป็นชิ้น ๆ และสามารถใส่ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ได้ 

ผลงาน Consumption of Heritage เป็นการนำกระดาษโบราณของเกาหลีมาเปลี่ยนบทบาทใหม่ให้เป็นเสื้อผ้า


กระดาษฮันจิผลิตขึ้นโดยการนำเปลือกของต้นหม่อนที่แช่น้ำจนนิ่มและเปื่อยยุ่ยแล้วมาตีให้กระจายเป็นเยื่อ จากนั้นนำเยื่อมาวางแผ่บนตะแกรงที่ทำจากไม้ไผ่ และเติมยางจากรากไม้ของพืชตระกูล Hibiscus เพื่อช่วยให้เยื่อลอยตัวและกระจายตัวได้ดีบนตะแกรง

กระดาษฮันจิจึงโดดเด่นด้วยคุณสมบัติเรื่องความคงทน เป็นฉนวนและระบายลมได้ดี มักถูกใช้แขวนเป็นม่านหรือแปะตามประตูเพื่อกันลมหนาว ช่วยควบคุมอุณหภูมิข้างในบ้านไม้แบบโบราณ

เสื้อกั๊ก Ji-seung ที่มีลวดลายโดดเด่นจากกระดาษทอ


เสื้อกั๊ก Ji-seung นี้เป็นไฮไลท์สำคัญของคอลเล็กชัน ด้วยสีและลวดลายซึ่งเกิดจากลายพิมพ์ตัวอักษรที่ให้ความรู้สึกโดดเด่นกว่าชิ้นอื่น ๆ โดยลีได้ม้วนแถบกระดาษฮันจิที่พิมพ์ลายตัวอักษรภาษาเกาหลีให้เป็นเหมือนเส้นเชือกแล้วนำมาถักทอขึ้นเป็นตัวแบบเสื้อกั๊ก “Ji-seung” เป็นการตั้งชื่อตามกระบวนการทอกระดาษ ซึ่งด้านข้างของเสื้อเป็นแบบเปิด มีเชือกผูกจากด้านหน้าช่วงเอวไปถึงด้านหลัง 

เสื้อแจ็คเก็ต Dancheong ซึ่งมีลวดลายการตัดที่ซับซ้อน


เสื้อแจ็คเก็ตลาย Dancheong ที่มีลวดลายดอกไม้แบบเรขาคณิตเรียงต่อกันเป็นแพทเทิร์น โดยชุดนี้ใช้การตัดเป็นทรงเสื้อแจ็คเก็ตไม่มีปก มีขอบกว้าง ความยาวแขนเสื้อสามส่วน และคอกลมไม่กุ๊นขอบ

นอกจากนี้ยังมีคอลเล็กชันเสื้อนอก เสื้อโค้ท Hanji Padding Coat ที่ออกแบบให้เป็นทรงหลวม ใส่สบาย ชั้นนอกประกบด้วยกระดาษ และด้านในบุด้วยเศษกระดาษที่เหลือเพื่อให้ความอบอุ่นและรองรับแรงกระแทกได้อีกด้วย 

เสื้อโค้ทยาว Transforming Coat ทำจากผ้า Hansan-Mosi


ส่วนเสื้อโค้ทยาวเต็มตัวอย่าง Transforming Coat นี้ ทำจากผ้า Hansan-Mosi ซึ่งจะให้ความรู้สึกโปร่งและบางกว่ากระดาษฮันจิ ผ้านี้ได้จากการทอเส้นใยป่านรามี ที่เป็นพืชท้องถิ่นในทวีปเอเชีย ส่วนกระดุมกลมก็ทำจากการม้วนกระดาษฮันจิให้เป็นก้อนกลมแล้วคล้องด้วยเชือกเส้นเล็กเหมือนกระดุมสอดห่วง และเชื่อมเสื้อแจ็คเก็ตด้านบนเข้ากับชิ้นส่วนกระโปรงด้านล่าง คล้ายกับแจ็คเก็ต Ji-seung ที่มีเชือกผูกช่วงเอว

เสื้อกั๊ก Hanji Feather ที่เลียนแบบขนนกจากการฉีกกระดาษฮันจิ


นอกจากนี้ เสื้อโค้ท The Transforming ยังสามารถสวมทับด้วยเสื้อกั๊ก Hanji Feather ได้อีกด้วย ซึ่งเสื้อกั๊กนี้มีลักษณะคล้ายขนนกด้วยการตัดกระดาษฮันจิเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาเรียงต่อกัน มีความยาวระดับเข่า ด้านบนผ่าคอวีทางยาว หรือสามารถเสริมด้วยปก หรือต่อแขนเสื้อเพิ่มจากเสื้อโค้ทได้  

ส่วนแขนต่อและปกเสริมนี้ เรียกว่า Najeonchilgi ซึ่งตั้งชื่อมาจากเทคนิคการขัดเงาไม้ของเกาหลีแบบดั้งเดิม โดยเพิ่มการประดับด้วยไข่มุกหรือเปลือกหอยที่มีความละเอียดประณีตบนเนื้อไม้ ลีได้ปรับเทคนิคนี้โดยทำเป็นลวดลายดอกไม้สีเหลือบมุกบนเนื้อกระดาษฮันจิสีดำสำหรับปกเสริมและลายบนส่วนแขนต่อ 

Najeonchilgi ลายเหลือบมุกบนกระดาษสีดำ

 

ซุน ลีซื้อวัสดุทั้งหมดที่ใช้ในคอลเล็กชันนี้ทั้งหมดมาจากประเทศเกาหลี และนำมาสร้างสรรค์ผลงานที่สตูดิโอของเธอ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ 

ลีกล่าวว่า จากรายงานเรื่องสิ่งทอแห่งอนาคตโดยมูลนิธิ Ellen MacArthur Foundation มีเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วเป็นขยะมากถึง 73% ที่ล้วนแล้วแต่ผลิตจากเส้นใยพลาสติกสังเคราะห์ ซึ่งจะถูกเผาทำลาย

“ชิ้นงานที่มีความบอบบางอย่างเสื้อแจ็คเก็ต Dancheong เป็นเนื้อผ้าที่ใช้แล้วทิ้งได้ เพราะกระดาษฮันจินั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้แล้วสามารถทิ้งได้หรือนำมารีไซเคิลใหม่ก็ทำได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งก็หมายความว่าเสื้อผ้าที่ออกแบบมาแต่ละชั้นนี้สามารถทิ้งได้เมื่อไม่ใช้งานแล้ว และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเสื้อผ้าที่ผลิตออกมาให้เร็วตามกระแสทั่วไปในท้องตลาด” 

“ฉันรู้ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้ชีวิตในแต่ละวันโดยไม่ทำลายธรรมชาติ ถึงอย่างนั้นเราทุกคนก็ควรจะลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ เพื่อสร้างหนทางไปสู่การมีชีวิตที่ยั่งยืน” 

เสื้อโค้ทตัวนอก Hanji Padding Coat ที่บุกระดาษไว้ด้านใน


ก่อนที่ลีจะเข้าศึกษาด้านการออกแบบเพื่อสังคมที่สถาบันไอนด์โฮเวน เขามีแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองที่จัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าฮุนได เมืองโซล เกาหลีใต้ 

ผลงาน Consumption of Heritage นี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อการแนะนำวัสดุและเทคนิคดั้งเดิมของเกาหลีที่สามารถนำมาปรับใช้งานในวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่นเดียวกับการนำเสนอประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและของเสียที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมแฟชั่น

“ฉันต้องการนำวัฒนธรรมงานคราฟต์กลับมาสู่สังคมแห่งการบริโภคในทุกวันนี้ คอลเล็กชันนี้จึงเป็นนวัตกรรมที่สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ปัจจุบันของแฟชั่นและตอบโจทย์ความคิดเกี่ยวกับงานคราฟต์ที่ยั่งยืน” 

แม้ว่าผลงานชุดนี้จะเป็นการเน้นไปที่เทคนิคและวัสดุดั้งเดิมของท้องถิ่นเกาหลี แต่ลีเองก็หวังว่าวัฒนธรรมจากประเทศอื่น ๆ จะได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของเธอ ในการนำคุณค่าของงานคราฟต์เหล่านั้นกลับมาใช้งานใหม่ในบริบทของสังคมปัจจุบันด้วยเช่นกัน 


ชุดที่ออกแบบมาเป็นโมดูล่าร์ให้ซ้อนชั้นกันและง่ายต่อการรีไซเคิล

 

ดูวีดิโอขั้นตอนการทำได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=k-E_A8Uue6I&t=233s

เครดิตรูปโดย Shen Yichen และ Ronald Smits.

อ้างอิง: บทความ “Sun Lee reworks traditional Korean craft into clothes made from paper” จากเว็บไซต์ https://www.dezeen.com