Material ConneXion® เชื่อมต่อนวัตกรรมวัสดุไทยสู่โอกาสงานสร้างสรรค์ระดับโลก
Business & Industrial

Material ConneXion® เชื่อมต่อนวัตกรรมวัสดุไทยสู่โอกาสงานสร้างสรรค์ระดับโลก

  • 31 Jul 2021
  • 3102

โลกเรามีการสร้างสรรค์วัสดุใหม่ ๆ อยู่ทุกวัน และยังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักออกแบบและผู้ใช้ที่เปลี่ยนไปตามสภาวการณ์ของโลก ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center: MDIC) ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center: TCDC) ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย จึงได้มีการคัดเลือกวัสดุเด่นๆ น่าสนใจของผู้ประกอบการไทย รวมแล้วกว่า 454 วัสดุ จาก 242 บริษัท ให้เข้าบรรจุในฐานข้อมูล Material ConneXion® ฐานข้อมูลที่นักออกแบบทั่วโลกใช้ ปัจจุบันมีนวัตกรรมวัสดุกว่า 10,000 ชนิดจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อเปิดมุมมองในการเลือกใช้วัสดุ เมื่อไม่นานมานี้ทางศูนย์ฯ ก็ได้บรรจุวัสดุใหม่เข้าฐานข้อมูลเพิ่มเติม โดยมีตัวอย่างไฮไลต์ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงถึงศักยภาพในการพัฒนาวัสดุของผู้ประกอบการไทย ก็ยังสะท้อนถึงเทรนด์การใช้วัสดุที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลกและสิ่งแวดล้อม

Rubber Idea
แต่งโฉมยางรีไซเคิลให้เป็นสินค้าร่วมสมัย
ในห้วงเวลาที่รัฐบาลประกาศมาตรการลดการใช้ถุงพลาสติก Rubber Idea สร้างความดึงดูดใจด้วยผลิตภัณฑ์ “ถุงยางรักษ์โลก” จากวัสดุยางพารา ที่มาพร้อมกับดีไซน์เก๋ ๆ สไตล์ไทย ๆ และยังทำให้ภาพลักษณ์ของวัสดุยางพาราแตกต่างไปจากกรอบความคิดเดิมที่มักนำใช้ทำที่นอน หมอน ถุงมือ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ฯลฯ มาเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่โดดเด่นด้วยงานดีไซน์ร่วมสมัย ปัจจุบันรับเบอร์ไอเดียยังเตรียมออกผลิตภัณฑ์เวอร์ชั่นสอง “ถุงยางรักงาน” ที่ออกแบบมาเป็นกระเป๋าทำงานใช้งานได้หลากหลาย

สุชาติ เตชาพลาเลิศ กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า รับเบอร์ไอเดียเป็นการต่อยอดธุรกิจมาจาก บริษัท อินเตอร์แนชชั่นแนลรับเบอร์พาทส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนยางอุตสาหกรรม แนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์จึงมาจากโจทย์หลักคือการใช้วัสดุยางพารา ซึ่งแต่เดิมงานออกแบบจากวัสดุยางพาราไม่ค่อยมีความน่าสนใจมากนัก ทั้ง ๆ ที่ยางพาราเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลาย คือ มีผิวสัมผัสแบบยางนุ่ม ยืดหยุ่นขยายขนาดได้ กันน้ำ ทนทาน ทำความสะอาดง่าย ล้างได้ แห้งเร็ว แถมยังแบกรับน้ำหนักได้มาก ที่สำคัญทางบริษัทมีแนวทางการทำธุรกิจตามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิลเพื่อลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง

ด้วยคุณสมบัติโดดเด่นข้างต้น รับเบอร์ไอเดียจึงเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปอยู่ในฐานข้อมูลวัสดุของ Material ConneXion® เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา และได้ร่วมกับ Everyday Studio ในการสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์จากวัสดุยางรีไซเคิล จัดแสดงในงาน Bangkok Design Week 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยเอื้อประโยชน์ในการต่อยอดธุรกิจของบริษัทต่อไป

Advantage Footwear
เส้นใยผ้าจากยางพารา
แอดแวนเทจ ฟุตแวร์ เป็นผู้ผลิตและประกอบชิ้นส่วนพื้นรองเท้าจากยางพารา ดำเนินงานในรูปแบบโออีเอ็ม (OEM) ให้กับรองเท้ากีฬาชั้นนำต่าง ๆ มากว่า 30 ปี ปีที่แล้วทางบริษัทได้รับการบรรจุให้เข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลวัสดุ Material ConneXion® จากผลงานเส้นใยยางพารา ที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกับนักวิจัยและพัฒนาวัสดุ นำโดย ดร.มิยอง ซอ (Dr. Mi-young Seo) อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ (หลักสูตรสองภาษา) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งวัสดุนี้เป็น 1 ใน 5 วัสดุที่ถูกนำไปจัดแสดงในงาน Asia Design Material Exhibition @ Design Korea Festival (DKfestival 2020) by KIDP เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2563 ในชื่อธีม “Design Beyond Data”

“เราคิดค้นและพัฒนาเส้นใยยางพาราขึ้นจากการทดลองที่อยากรู้ว่าเราจะสามารถนำยางพารามาทำเส้นใยที่ใช้ถักทอเช่นเดียวกับเส้นใยธรรมชาติอย่าง หญ้าแฝก เส้นกก ฯลฯ สำหรับงานจักสานได้หรือไม่ เพราะจุดเด่นของยางพาราคือมีความยืดหยุ่น ทนทาน โครงสร้างแข็งแรง และกันน้ำได้ หากเราสามารถพัฒนาเส้นใยจากยางพาราที่มีความยืดหยุ่นเหมาะสมและถอดล้างได้ด้วย มันก็สามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายอย่าง เช่น กระเป๋า เบาะ ของตกแต่งบ้าน ทำให้เรามีเส้นใยชนิดใหม่เพิ่มขึ้นมา นำไปสู่การพัฒนาฝีมือคนไทยในเรื่องเครื่องจักสาน และยังทำให้บริษัทมีนวัตกรรมวัสดุที่เป็นของตัวเอง”

ดร.มิยอง ซอ ยังมอบมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนาวัสดุยางพาราของไทยในปัจจุบันด้วยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางยางพาราของโลก และมีศักยภาพมากในการพัฒนานวัตกรรมจากยางพารา โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ผู้คนกังวลเรื่องความปลอดภัย ในปีนี้และอนาคตเราจึงต้องตระหนักถึงการปกป้องชีวิต คุณสมบัติของยางพารามีอยู่มากมาย โดยหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญคือป้องกันแบคทีเรียได้ เธอและบริษัทจึงยังคงร่วมกันพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ จากยางพาราอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าการพัฒนานวัตกรรมวัสดุจากยางพาราของประเทศไทยไปได้อีกไกลแน่นอน

Homrak
สร้างสรรค์เทคนิคผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ
จากทริปเดินทางเชิงอนุรักษ์ของคู่รัก อนิรุทธิ์ รัศมีศรีตระกูล และ วนิดา ขุนพรมเกสรา ที่นำพาไปให้รู้จักกับชุมชนมัดย้อม ในจังหวัดแพร่เมื่อปี 2558 จนก่อเกิดแรงบันดาลใจในการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ามัดย้อมครามสีธรรมชาติ และพัฒนาสู่การออกแบบเสื้อผ้า ในวันนี้ห่มรักก็ได้พาตัวเองมาไกลถึงขั้นสามารถสร้างเทคนิคผ้าลายมัดย้อมครามเป็นของตัวเองได้สำเร็จ นั่นคือ Human 3D Image ที่นอกจากเคยเดินทางพาผลิตภัณฑ์ไปอวดโฉมในต่างประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ ก็ยังได้รับการคัดเลือกเป็นวัสดุชนิดใหม่เมื่อปลายปีที่แล้วในฐานข้อมูลระดับโลกของ Material ConneXion® ที่มีสาขาอยู่ตามเมืองใหญ่ 7 ประเทศทั่วโลก และยังได้รับเลือกให้จัดแสดงในงาน Bangkok Design Week 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยต่อยอดและสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนางานออกแบบต่อไป

เมื่อ 2 ปีที่แล้วห่มรัก ยังได้พัฒนาและรังสรรค์ผ้าชนิดใหม่ คือผ้าไหมแก้วมัดย้อมครามสีธรรมชาติ ที่มีการสร้างลวดลายบนผ้าไหมแก้วด้วยเทคนิคการมัดย้อมแบบพิเศษ ทำให้เกิดผ้าไหมแก้วที่เป็นผ้าอัตลักษณ์ของประเทศไทย ในปีนี้ห่มรักก็ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ยังคงสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบ และวาดรูปลงบนผ้ามัดย้อมด้วยเทคนิคพิเศษ โดยการใช้ครามผสมแป้งบอนซึ่งเป็นนวัตกรรมโดยมหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร ที่ช่วยให้ครามไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในทันที สีจึงไม่เปลี่ยน และสามารถนำมาระบายได้ด้วยพู่กัน นับเป็นผ้าคอลเลกชั่นใหม่ของห่มรัก ในช่วงที่ต้องพักการขายเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

“ผ้าแต่ละผืนจะมีเรื่องเล่า” วนิดาในฐานะนักออกแบบกล่าว และยังบอกต่อไปว่า จุดเด่นของห่มรัก คือการออกแบบ เครื่องแต่งกายในรูปแบบ Free size ผสมผสานดีไซน์ที่ร่วมสมัย มีการใช้เทคนิคการมัดย้อม Human 3D Image และในส่วนของเส้นใยผ้า มีการใช้ Nano zinc ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดแบคทีเรียและช่วยลดกลิ่นอับ และสามารถป้องกันรังสียูวีได้ถึง 99.52% ซึ่งได้ส่งตัวอย่างทดสอบที่ วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง นอกจากนี้ก็ยังมีการนำนวัตกรรมอื่น ๆ มาใช้กับผ้าของห่มรัก เช่น การฝัง micro- capsules ลงบนใยผ้าเพื่อทำให้เกิดกลิ่นหอม ติดทนนาน

“เราคิดเสมอว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์นอกจากจะพัฒนาในเรื่องรูปแบบ ดีไซน์แล้ว เราต้องคำนึงถึงคุณภาพและความแตกต่าง นวัตกรรมจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราพยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบสิ่งดี ๆ ให้ลูกค้า” วนิดากล่าว

BioForm
นวัตกรรมเร่งการย่อยสลายพลาสติก
หนึ่งในกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตของบริษัทคือ การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้เข้ากับแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับไบโอฟอร์มที่ได้ปรับเปลี่ยน Core business จากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม มาเป็นการพัฒนาวัสดุชีวภาพซึ่งถือเป็นต้นน้ำของสายการผลิตบรรจุภัณฑ์มากขึ้น โดยปัจจุบัน วัสดุของไบโอฟอร์มแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

  1. กลุ่มวัสดุ Polylactic Acid (PLA) หรือพลาสติกชีวภาพในกลุ่ม Lactic ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้ 100% ซึ่งไบโอฟอร์มเลือกใช้ PLA ที่มาจากอ้อย ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ ก็เช่น แก้วกาแฟ จานชาม ช้อนส้อม กล่องอาหาร ฯลฯ

  2. กลุ่มวัสดุ PLA ที่ทำจากกากน้ำตาล (Molasses) หรือพลาสติกชีวภาพในกลุ่มที่ผลิตจาก by-product ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอ้อยของไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอ้อยอันดับสองของโลก

  3. กลุ่มสารเติมแต่ง (additive) ได้แก่ สารเติมแต่งที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการย่อยสลายพลาสติกทั่วไปให้ได้เร็วขึ้น 150-200 เท่า เช่น ถุงพลาสติกที่มีความหนา 30 ไมครอน ตามปกติอาจใช้เวลา 450 ปีในการย่อยสลาย แต่หากมีการเติมสาร additive ลงไปในกระบวนการผลิต ก็จะช่วยให้ถุงพลาสติกสามารถย่อยสลายได้ภายในเวลา 2-3 ปี

ภาวิณี แว่วเสียงสังข์ ผู้ก่อตั้งไบโอฟอร์มกล่าวว่า บริษัทมีวัสดุที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลของ Material ConneXion® คือกลุ่มสารเติมแต่ง (มีชื่อทางการค้าว่า EcoPlus) หลังจากได้รับโอกาสนำผลิตภัณฑ์ Bioware วัสดุมาจัดแสดงเป็น Innovation Showcase ที่ MDIC ในหัวข้อ Well-being & Gastronomy (กินดี) ในปี 2018 พร้อมร่วมเสวนา “กินดี: นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ” และเร็ว ๆ นี้ กำลังจะนำเสนอกลุ่มวัสดุ PLA จากอ้อย (มีชื่อทางการค้าว่า BioPlus) เพิ่มเติม ซึ่งการได้เข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลนี้ก็ช่วยให้บริษัทอาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ผู้สนใจจะนำไปใช้งานในอนาคต

ในตอนท้ายภาวิณียังกล่าวถึงมุมมองที่มีต่อการพัฒนาวัสดุไบโอพลาสติกด้วยว่า ประเทศไทยเพิ่งเริ่มเรื่องนี้ได้ไม่นาน แต่สินค้านวัตกรรมทุกชนิดล้วนไม่ได้เติบโตรวดเร็วเหมือน mass product ดังนั้น ธุรกิจที่ไบโอฟอร์มและบริษัทอื่นๆ ที่ทำวัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังอยู่นี้ หากทุกฝ่ายให้เวลาจริง ๆ ก็จะเกิดผลลัพธ์แบบชัดเจนที่ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกลงได้ และคาดหวังว่า ประเทศไทยจะลดอันดับการเป็นผู้ผลิตขยะพลาสติกมากที่สุดอันดับต้น ๆ ของโลกลงไปได้

RTD Textile Industry
อัปไซเคิลพลาสติกสู่เส้นใยผ้า
พลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate) เป็นพลาสติกที่นิยมนำมาใช้ทำบรรจุภัณฑ์อาหารต่าง ๆ รวมถึงของใช้ในชีวิตประจำวันหลายชนิด โดยเฉพาะขวดเครื่องดื่ม นอกจากสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ก็ยังสามารถนำไปผลิตเป็นวัสดุหรือของใช้ที่มีมูลค่าและใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเดิม (Upcycle) ซึ่งหนึ่งในความสำเร็จของ อาร์ทีดี อุตสาหกรรมสิ่งทอ ก็คือการพัฒนานวัตกรรมผ้าอัปไซคลิงจากพลาสติก PET จนได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลวัสดุ Material ConneXion® โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การต้านทานการขัดถูได้สูง มีความคงทนของสี ทนการซักล้างและไม่ยับ เส้นใยที่ได้สามารถนำไปผลิตเป็นผ้าทอและย้อมเป็นสีต่าง ๆ โดยกำหนดสี ผิวสัมผัส และลวดลายได้ตามที่ลูกค้าต้องการ

วันทิพย์ ชวาลีมาภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการของอาร์ทีดีฯ กล่าวว่า นอกจากผ้าอัปไซคลิง ผลิตภัณฑ์ไฮไลต์ของบริษัทก็ยังมีผ้ากันยุง และผ้าแอนตี้แบคทีเรีย ผ้ากันยุงนั้นพัฒนาขึ้นจากความตั้งใจของบิดา (วันชัย) ที่อยากช่วยคนแพ้ยุง เพราะมีคนในครอบครัวเป็นไข้เลือดออกมาก่อน มีส่วนผสมสำคัญคือสารสกัดไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) จากดอกไพรีทรัม (pyrethrum) ที่มีคุณสมบัติไล่ยุงโดยเฉพาะ ส่วนผ้าต้านแบคทีเรียจะมีสารสกัดจากแร่เงินกับทองแดง โดยใช้เทคโนโลยีนาโนซิลเวอร์ เหมาะกับทำเสื้อผ้ากีฬา เสื้อเชิ้ต ชุดนักเรียน เป็นต้น

“ความยั่งยืนเป็นเทรนด์สำคัญ การมีนวัตกรรมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมช่วยทำให้โลกเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น แม้ว่าต้องใช้เวลาในการสร้างการรับรู้ เราก็เชื่อมั่นว่านวัตกรรมผ้าของเราจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทยได้ และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลกได้” วันทิพย์กล่าวทิ้งท้าย โดยผู้ที่สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของนวัตกรรมอัพไซคลิงเพิ่มเติมได้ที่นี่

เรื่อง : อทิตยา กรรณาสุริยกุล