“ฮาลาล” ประตูสู่การเข้าถึงวิถีบริโภคของชาวมุสลิมทั่วโลก
Materials & Application

“ฮาลาล” ประตูสู่การเข้าถึงวิถีบริโภคของชาวมุสลิมทั่วโลก

  • 28 Sep 2023
  • 2394

ความเชื่อทางด้านศาสนามีผลต่อการเลือกบริโภคอาหาร โดยเป็นที่เข้าใจกันในเบื้องต้นว่าคนมุสลิมนั้นจะไม่รับประทานเนื้อที่มาจากสุกร แต่เมื่อลงลึกไปอีกจะมีรายละเอียดจุกจิกอีกมากมาย ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่สะดวก รวดเร็ว และง่ายดายที่สุด จึงมีการกำหนดเครื่องหมาย “ฮาลาล” (Halal) เพื่อให้คนต่างศาสนารับรู้ได้ทันทีเมื่อพบเห็น และยังเป็นตราสัญลักษณ์ที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้นับถือศาสนาอิสลามในการเลือกซื้ออาหารมารับประทานด้วย


Freepik

อาหารต้องห้ามที่ไม่ได้มีแค่หมู
ฮาลาล (حلال) เป็นคำศัพท์ที่มีรากมาจากภาษาอาหรับ แปลว่า กฎบัญญัติอนุมัติให้มุสลิมที่อยู่ในศาสนนิติภาวะ หรือผู้คนที่นับถือศาสนาอิสลามกระทำได้ ประกอบด้วย การนึกคิด การพูด การกระทำอื่น ๆ ที่ศาสนาได้อนุมัติ เช่น การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ได้รับการเชือดอย่างถูกต้อง การค้าขายอย่างสุจริต การสมรสตามกฎเกณฑ์ที่ได้ระบุไว้ เป็นต้น

การนับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทยนั้น จากการสำรวจของ Wisevoter มีการระบุประชากรที่ตัวเลขประมาณ 7.4 ล้านคน โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากถึง 64.4 ล้านคนซึ่งเทียบเท่ากว่า 90 % ของประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากคนไทยส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจกฎเกณฑ์ของศาสนาอิสลามดีนัก ส่งผลให้ “ฮาลาล” ในเมืองไทยสามารถสื่อความหมายที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าคำนี้คือ “อาหาร” หรือ “สิ่งเจือปน” ที่ “ไม่ขัด” กับหลักศาสนาอิสลาม


aleksandarlittlewolf / Freepik

อาหารที่จะเป็นฮาลาลโดยแท้จริงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อสัตว์นั้นได้รับการเชือดที่ถูกต้องตามแนวทางอิสลาม ผ่านผู้เชือดที่เป็นมุสลิมที่รู้วิธีการและเข้าใจ โดยที่สัตว์ยังมีชีวิตขณะทำการเชือด ขณะที่กระบวนการจะเริ่มต้นด้วยการเปล่งคำถึงพระนามของ “อัลลอฮฺ” ก่อนจะดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้สัตว์ตายอย่างทรมาน เช่นเดียวกับการแล่เนื้อซึ่งสัตว์ที่จะนำมาบริโภคต้องตายสนิทเสียก่อน

ดังนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ที่นำมาบริโภคตามหลักศาสนาอิสลามจะมีสัตว์ต้องห้ามนอกจากเนื้อหมูตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ โดยยังมีกลุ่มสัตว์ที่ล่าหรือบริโภคสัตว์อื่นเป็นอาหาร เช่น เสือ สุนัข เหยี่ยว นกอินทรี งู รวมถึงไก่ป่า ที่ดำรงชีพด้วยการกินหนอน ซึ่งเนื้อจากสัตว์ที่กล่าวมานี้จะถือเป็น ฮะรอม (Haram) หรือสิ่งต้องห้ามบริโภค

นั่นจึงทำให้สัตว์ที่สามารถนำมาทำฮาลาลได้จะประกอบด้วย วัว แพะ แกะ ควาย กวาง เป็นต้น รวมถึงสัตว์น้ำอย่างกุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์ทะเลทุกชนิด

นอกเหนือจากเนื้อสัตว์แล้ว วัตถุดิบเพื่อการบริโภคที่อยู่ในกลุ่มฮาลาล ยังมีอีกหลายประเภท ประกอบด้วย ขนมปัง สินค้ากลุ่มขนม อาหารว่าง เค้ก ซีเรียล พาสต้า ชีส ไอศกรีม ไข่ กาแฟ ชา ผลไม้สด น้ำผึ้ง ไซรัป แยม เยลลี่ ถั่ว ผักสด มันฝรั่ง ซอส ซุป นมที่ได้มาจากการทำฮาลาลที่ถูกต้อง หรือพิซซ่าที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการฮาลาล ฯลฯ

ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น จึงนับเป็นวัตถุดิบที่กลุ่มผู้ประกอบการด้านสินค้าบริโภค สามารถนำมาคิดต่อยอดเพิ่มเติมทางธุรกิจเพื่อขอติดตราสัญลักษณ์ “ฮาลาล” สำหรับผู้ประกอบการทั่วโลก


rawpixel.com / Freepik

ประตูสู่ความมั่นใจ
ประเทศไทยเรานับเป็นอีกประเทศที่มีเอกลักษณ์ด้านอาหารการกินที่ขึ้นชื่อไปทั่วโลก เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพในกลุ่ม 5F (Food, Film, Fashion, Fighting, Festival) ของกระทรวงวัฒนธรรม ขณะที่อิสลามเป็นศาสนาที่มีประชากรนับถือมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีจำนวนประชากรสูงถึง 1.9 พันล้านคนจากการสำรวจในปี ค.ศ. 2020 แบรนด์สินค้าเพื่อการบริโภคจากทั่วโลกจึงเล็งเห็นถึงการตอบสนองกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่กลุ่มนี้

ฮาลาล จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการด้านอาหารควรให้ความสำคัญและศึกษา เพราะสำหรับชาวมุสลิมการเห็นสัญลักษณ์นี้จะทำให้เกิดความมั่นใจ สบายใจ ว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามหลักศาสนา และสำหรับผู้ประกอบการ ตราฮาลาลก็เปรียบเสมือนประตูบานใหญ่ที่ช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดไปสู่ชาวมุสลิม


Freepik

ประทับตราเพื่อการเข้าถึงโอกาส
ในการขอรับรองฮาลาลในประเทศไทย ผู้ประกอบการสามารถศึกษาและยื่นขอ “เครื่องหมายฮาลาล” เพื่อการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่เป็นมุสลิม ผ่านสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยที่สามารถยื่นขอเครื่องหมายดังกล่าวได้ทั้งแบบบุคคลธรรมดา หรือแบบนิติบุคคล และใช้เอกสารตามที่หน่วยงานกำหนด

หลังจากยื่นเรื่องขอเครื่องหมายฮาลาลแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบสถานประกอบการ ก่อนจะพิจารณาส่งเรื่องให้คณะกรรมการกลาง หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้อนุมัติในการออกเครื่องหมายรับรอง รวมถึงการมีขั้นตอนการติดตามและประเมินผลในกรณีที่ผู้ประกอบการได้รับพิจารณาเรียบร้อย โดยที่เครื่องหมายดังกล่าวจะมีอายุ 2 ปี ซึ่งหากหมดอายุการรับรองก็สามารถขยายอายุเครื่องหมายรับรองออกไปได้

จากข้อมูลล่าสุดของเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (www.halal.or.th) ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ได้รับเครื่องหมายรับรองทั้งสิ้น 6,374 ราย โรงงาน 4,112 แห่ง เครื่องหมายการค้า 15,186 เครื่องหมาย ผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 168,891 ผลิตภัณฑ์ และใบรับรองอีก 8,989 ใบ แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการในไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความตื่นตัวต่อโอกาสที่จะขยายช่องทางไปยังผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ ได้

เรื่องดังกล่าวทำให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่ในระดับโลก คิดเป็น 20 % ของการส่งออกอาหารทั่วโลกของประเทศไทย โดย 60 % ของการส่งออกจะไปยังประเทศในย่านอาเซียน ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยรัฐบาลไทยคาดหวังจะเพิ่มมูลค่าอีก 3 % ในปี 2023

ขณะเดียวกัน นอกจากธุรกิจเพื่อการบริโภคแล้ว อุตสาหกรรมฮาลาลยังครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการในภาคส่วนอื่น ๆ เช่น เครื่องสำอาง แฟชั่น เวชภัณฑ์ การท่องเที่ยว และอื่น ๆ โดยในส่วนการท่องเที่ยวนั้น จากรายงานดัชนีการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมทั่วโลก ในปี 2022 ระบุว่า ประเทศไทยที่ไม่ใช่ประเทศในกลุ่มมุสลิมได้รับความนิยมเป็นอันดับ 4 ที่ชาวมุสลิมนิยมมาท่องเที่ยวตามหลังจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร

ดังนั้นแล้ว การทำธุรกิจโดยเฉพาะสินค้าบริโภค หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ หากผู้ประกอบการสามารถศึกษาอย่างเข้าใจ การมีเครื่องหมาย “ฮาลาล” ก็เปรียบเสมือนตั๋วเดินทางที่เปิดช่องสร้างผลตอบแทนกลับมาได้อีกไม่น้อย


Freepik

Did you know?

  • ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในแง่จำนวนประชากรในหลายประเทศทั่วโลก อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุด (มากกว่า 209 ล้านคน) รองลงมาคือปากีสถาน (มากกว่า 167 ล้านคน) บังกลาเทศ (มากกว่า 134 ล้านคน) ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก ได้แก่ อียิปต์ อิหร่าน ตุรกี แอลจีเรีย โมร็อกโก อิรัก อัฟกานิสถาน และซูดาน

 

  • นอกจากเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในหลายประเทศ ศาสนาอิสลามยังเป็นหนึ่งในศาสนาที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยคาดว่าภายในปี 2050 จะมีประชากรมุสลิมจำนวนเกือบ 3 พันล้านคน สาเหตุก็มาจากหลายปัจจัยซึ่งรวมถึงอัตราการเกิดที่สูงในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม การเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามที่เพิ่มขึ้น และการย้ายถิ่นฐาน

 

ที่มา : https://wisevoter.com/country-rankings/religion-by-country/#thailand
บทความ “What Is halal?” โดย Jabeen Begum, MD จาก webmd.com
บทความ “Religion by Country 2023” จาก worldpopulationreview.com
บทความ “Religion by Country” จาก wisevoter.com
ข้อมูลประชากร “Thailand Population” จาก worldometers.info
บทความ “รัฐพร้อมผลักดันวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F” โดย ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี - PMOC จาก .facebook.com/PMOCNEWS
บทความ “Thailand’s halal exports ready to surge as country gains global recognition” จาก thailand.prd.go.th
บทความ “ฮาลาล” จาก wikipedia.org
บทความ “ธุรกิจอาหารต้องรู้เครื่องหมายฮาลาล มีขั้นตอนการขออย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง ?” จาก wdev.smebank.co.th/2021/12/05/halal/
บทความ “มาตรฐาน ฮาลาล (Halal) คืออะไร สำคัญอย่างไร และวิธีขอรับรองฮาลาล” จาก smartinnovatives.com
เว็บไซต์ https://www.halal.or.th/

เรื่อง : บุญพัทธ ลีวิวัฒกฤต