“ไอศกรีมทองดี” ไอศกรีมพรีเมียมไทยแท้ที่ไปบุกตีตลาดนอกได้ฉลุย
Materials & Application

“ไอศกรีมทองดี” ไอศกรีมพรีเมียมไทยแท้ที่ไปบุกตีตลาดนอกได้ฉลุย

  • 02 Oct 2023
  • 1270

จากความตั้งใจในการนำเสนอสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยอย่าง “ผลไม้ไทย” ให้กลายเป็นไอศกรีม 8 รสชาติ ที่มีทั้งทุเรียน มะม่วง มะพร้าว สับปะรด กล้วย มังคุด มะขามหวาน และแก้วมังกร ด้วยการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาผ่านรูปลักษณ์ที่เห็นแล้วไม่ต้องบอกก็รับรู้ได้ทันทีว่ารสอะไร

แม้ปัจจุบันอาจจะหาซื้อไอศกรีมทองดี ไอศกรีมที่ให้คำนิยามตัวเองว่าเป็นไอศกรีมพรีเมียมจากวัตถุดิบไทยแท้ได้ไม่ง่ายนัก แต่ไอศกรีมหน้าตาโดดเด่นชื่อบ่งบอกความเป็นไทยอย่างชัดเจนนี้ กลับหาซื้อได้ไม่ยากในต่างแดน โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น ที่มีขายทั้งในร้านยอดนิยมอย่าง Donki และคาเฟ่ต่าง ๆ จนคนไทยบางคนยังได้ไปทำความรู้จักกับไอศกรีมสัญชาติไทยแท้ยี่ห้อ “ทองดี” กันที่ญี่ปุ่น

“ทองดี” มีเรื่องราวอันมีที่มาของการเริ่มต้นเป็นอย่างไร และมีที่ไปจนดังไกลไปต่างแดนได้มากมายขนาดไหน “คุณกาน-สุภกาญจน์ นราภิรมย์อนันต์” ผู้ก่อร่างสร้างแบรนด์จะมาไล่เรียงให้ได้รับรู้กัน โดยเธออธิบายถึงเหตุผลที่ ณ เวลานี้ว่าไอศกรีมทองดีในไทยอาจไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก สืบเนื่องมาจากผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายให้เธอเรียกได้ว่าหนักหนาเอาการ

“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ขยายกิจการ ลงทุนทำร้านใหม่พอดี พอโควิดมา ทุกอย่างต้องปิดหมด ร้านที่เพิ่งลงทุนไปก็ต้องปิด และโดนขอคืนพื้นที่ยกเลิกสัญญาเช่า ส่วนออร์เดอร์ที่ร้านต่าง ๆ สั่งไป เราก็ให้ลูกค้าส่งคืนได้หมด ถึงแม้จะเก็บได้ 1 ปีก็ตาม แต่เรารู้ดีว่า การที่ไอศกรีมเราทำจากผลไม้สด การเก็บไว้นานรสชาติอาจไม่ดีเท่ากับการรับประทานแบบสดใหม่ เรียกได้ว่าเจ็บหนักทีเดียวค่ะ ตอนนี้ทุกอย่างฟื้นตัว เราเองก็ค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป โชคดีที่มีออร์เดอร์จากต่างประเทศ รวมถึงลูกค้าแบรนด์ต่าง ๆ ที่ให้เราช่วยเป็นโออีเอ็มผลิตไอศกรีมให้”

ไอศกรีมทองดี ไม่บอกก็ต้องรู้ว่ารสอะไร
คุณกานอัปเดตสถานการณ์ปัจจุบันก่อนที่จะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ “ทองดี” ว่า เริ่มต้นมาจากการปั่นไอศกรีมขายที่บ้าน ด้วยความที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะขายนักท่องเที่ยวซึ่งเธอจะวางขายที่เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ ฟรอนต์ เป็นหลัก จึงครีเอตให้ไอศกรีมของเธอสื่อสารกับลูกค้าได้แบบง่าย ๆ ด้วยการทำรูปลักษณ์ตามรสชาติ แบบเห็นปุ๊บก็รู้ได้ทันทีว่ารสอะไร โดยทั้งหมดเป็นไอศกรีมที่ทำจากผลไม้ไทยพรีเมียมที่ปลูกจากสวนอินทรีย์ปลอดสารพิษ หลังจากที่ใครต่อใครพากันพูดถึงความน่ารักและความอร่อยของไอศกรีมทองดี จากไอศกรีมโฮมเมดแท้ ๆ ที่ใช้บ้านเป็นที่ปั่นไอศกรีมขาย คุณกานจึงเริ่มขยับขยายสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP และ HACCP จากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เธอสามารถต่อยอดด้วยการส่งไอศกรีมของเธอไปขายในต่างประเทศได้ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การใช้ผลไม้ไทยจากสวนของเกษตรกรท้องถิ่นที่ปลูกและเก็บเกี่ยวตามฤดูกาลมาผลิตเป็นไอศกรีมจากเนื้อผลไม้แท้ ๆ ส่วนรูปลักษณ์ผลไม้แสนน่ารักและสะดุดตานั้นก็มาจากการแกะแบบด้วยการปั้นมือทั้งหมด เพราะคุณกานตั้งใจสร้างความต่าง เป็นการสร้างเอกลัษณ์ให้กับแบรนด์ ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้ไทยได้ด้วย

“เราอยากชูตัวเองว่าเป็นไอศกรีมที่ทำมาจากเนื้อผลไม้จริง ๆ และอยากให้นักท่องเที่ยวรู้ว่าประเทศไทยมีผลไม้ดี ๆ อร่อย ๆ อีกหลายอย่าง และความตั้งใจจริงคือ อยากให้ไอศกรีมไทยเข้าไปอยู่ในสนามบินไทย เหมือนกับตอนที่เราไปเที่ยวเกาหลี ซึ่งอากาศหนาวมาก แต่คนก็ยังกินบิงซูกัน แล้วทำไมไอศกรีมผลไม้ไทยจะเป็นแบบนั้นไม่ได้บ้าง ในเมื่อประเทศเรามีผลไม้ท้องถิ่นอร่อย ๆ อีกมากมาย”

ทองดี ใช้แต่ของดี
ไอศกรีมทั้ง 8 รสของทองดีจึงมาจากการคัดสรรผลไม้เกรด AAA+ ที่คุณกานลงทุนลงแรงเลือกเฟ้นจากสวนที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่เธอต้องการด้วยตัวเอง นอกจากจะได้โปรดักส์ที่ทำจากวัตถุดิบคุณภาพระดับพรีเมียมแล้ว คุณกานว่ายังเป็นการช่วยเกษตรกรไทยให้สามารถขายผลไม้ได้ตามราคา

“ผลไม้ที่ใช้แต่ละชนิด เราจะเลือกซื้อตรงกับสวนโดยตรง แล้วแต่ละชนิดก็จะใช้แค่สวนนั้นเพียงสวนเดียว อย่างมังคุดจะใช้มังคุดจากสวนนครศรีธรรมราช สับปะรดใช้หอมสุวรรณ มะพร้าวกะทิจากอัมพวา กล้วยหอมทองจากนครปฐม มะขามหวานจากเพชรบูรณ์ เพราะรู้สึกว่าเราเจอของอร่อยจากสวนนี้แล้ว เราก็อยากใช้สวนนี้แค่สวนเดียว แล้วเราสามารถคุยกับเกษตรกรได้ว่าให้ใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์ ผลไม้ที่ส่งให้เราต้องไม่บ่ม ต้องเก็บเกี่ยวตามช่วงเวลาการเก็บเกี่ยว ไม่มีการเคลือบยา ชาวสวนทำให้เราและส่งตรงให้เลย ไม่มีพ่อค้าคนกลางที่จะต้องมายืดอายุของสินค้า ความหวานที่ได้จึงมาจากความสุกของผลไม้ ต่อให้ราคาผลไม้ในท้องตลาดจะตกยังไง ราคาสวนจากที่เราซื้อไม่เคยตก เรามองว่าเขามีต้นทุนที่เขาต้องทำ ดังนั้นต้นทุนเราจึงค่อนข้างสูง แต่เราก็ยังยืนยันที่จะต้องทำตามมาตรฐานนี้ ซึ่งมันทำให้เราผลิตของออกมาได้ดีและอร่อย หลายคนอาจบอกว่าไอศกรีมอะไรทำไมแพงจัง แต่ถ้าคุณกินแล้วแฮปปี้ คุณจะแฮปปี้กับราคาที่คุณจ่ายด้วย”

เมื่อวรรณคดีไทยกลายมาเป็นไอศกรีมรสดี
นอกจากเรื่องของคุณภาพ เจ้าของไอศกรีมชื่อแสนไทยอย่าง “ทองดี” ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการพรีเซนต์ในรูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด ช่วงก่อนโควิดที่เธอเพิ่งเปิดร้านใหม่นั้น สิ่งที่โดดเด่นมากคือการสร้างสรรค์เมนูไอศกรีมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีไทย ไม่ว่าจะเป็น พระอภัยมณี สังข์ทอง แม่ปลาบู่ หนุมาน หรือแม้แต่การนำประเพณีไทยในท้องถิ่นของทั้ง 4 ภูมิภาคของไทย อย่างลอยกระทง โคมยี่เป็ง ผีตาโขน ที่ใครเห็นเป็นต้องอมยิ้ม และยังสร้างจุดเด่นที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน

“เราเป็นคนไทย อยู่ประเทศไทย และเรารักเมืองไทย การที่เรามีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตต่างประเทศ ทำให้เราคิดได้ว่า ทำไมถึงไม่เอาสิ่งดี ๆ ที่เรียนรู้มาจากประเทศกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของเรา อย่างที่ญี่ปุ่น เวลาเราไปกินข้าวจะเห็นว่าเขาสามารถถ่ายเรื่องราวที่ทำให้คนต่างชาติอย่างเรารู้ถึงรากเหง้าของญี่ปุ่นได้ แล้วทำไมประเทศไทยถึงไม่มีใครทำ หรือแม้แต่ตอนที่เราทำ เราก็โดนด้อยค่าว่าทำไมถึงเอาของไทยราคาถูกมาขายแพง

“คนไทยชอบด้อยค่าของของตัวเอง ชอบรู้สึกว่าของไทยต้องถูก แต่เราสามารถเอาของถูกมาทำให้มีดีไซน์สร้างราคา เพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นได้ หรืออย่างการที่เราเลือกใช้ผลไม้ประจำถิ่น เพราะเรารู้สึกว่าเราสามารถมีส่วนช่วยเกษตรกรไทยไม่น้อยก็มาก เมื่อเราก้าวมาอยู่ในจุดที่เรารู้สึกว่าเรามีพาวเวอร์ในการซื้อของ ดังนั้นกานจึงบอกตัวเองว่า แล้วทำไมเราถึงจะไม่ใช้ผลไม้ไทยล่ะ เพราะผลไม้ไทยมีดีไม่แพ้ใคร ถามว่าทำไมต้องกินมิกซ์เบอร์รีจากต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่บ้านเราเองมีลูกหม่อน หรือมัลเบอร์รี สตรอว์เบอร์รีที่สามารถปลูกได้และดีไม่แพ้ใคร หรือแม้แต่ผลไม้พื้นถิ่นอย่างมะม่วงหาวมะนาวโห่ ก็สามารถเป็นมิกซ์เบอร์รีแบบไทย ๆ ได้”

ไอศกรีมทองดี Soft Power ชั้นดีของไทย
คุณกานเล่าต่อว่า ถึงแม้คนไทยจะรู้สึกว่าสิ่งที่มีอยู่ในประเทศไม่ค่อยมีคุณค่า แต่ต่างประเทศกลับชอบผลไม้ไทยมาก ปัจจุบันนอกจากไอศกรีมทองดีจะมีวางขายที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังมีขายที่อิสราเอล แคนาดา และเธอกำลังเจรจากับเกาหลี และฮ่องกงเพื่อนำทองดีไปวางขายด้วย

“ฟีดแบ็กที่ญี่ปุ่นปีนี้ต้องบอกว่าดีมาก ๆ เราสามารถเข้าไปวางขายในร้านกาแฟที่มีอยู่เกือบ 200 สาขา รสที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่นคือรสกล้วยหอมทอง คงเพราะคนญี่ปุ่นชอบกินกล้วยหอม แล้วเขาไม่ค่อยอินกับทุเรียนเหมือนชาติอื่น ๆ ส่วนอิสราเอล เขาติดต่อมาขอจองไปขายที่ห้างเปิดใหม่ของเขาตั้งแต่ห้างเขายังสร้างไม่เสร็จ ในแคนาดาเอง ทองดีก็ได้รับความชื่นชอบไม่แพ้กัน รสชาติยอดนิยมของ 2 ประเทศนี้คงต้องยกให้รสทุเรียน”

การได้รับการติดต่อจากหลากหลายประเทศให้เอาไอศกรีมที่เธอทุ่มเทและตั้งใจทำอย่างที่สุดนั้นเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้คุณกานมีพลังและแรงใจที่จะไม่หยุดก้าวต่อไป สิ่งที่เธอย้ำอยู่บ่อย ๆ ระหว่างการสนทนาคือ เธออาจไม่เก่งหรือเชี่ยวชาญด้านการทำไอศกรีมโดยเฉพาะ แต่สิ่งที่เธอมีคือความตั้งใจ ทุ่มเท พร้อมที่จะเรียนรู้ และพัฒนาต่อยอด ซึ่งเหล่านี้ส่งผลให้เธอมีลูกค้าให้ความสนใจให้เธอเป็นโออีเอ็มผลิตไอศกรีมให้มากมาย โดยสิ่งที่คุณกานมักจะนำเสนอลูกค้าอยู่เสมอคือ การใช้ผลไม้ไทยเป็นวัตถุดิบหลัก

“หลายแบรนด์ที่ติดต่อให้เราเป็นโออีเอ็มผลิตไอศกรีมให้ มักจะเลือกรสชาติมิกซ์เบอร์รี เพราะคนมักจะรู้สึกว่าเป็นรสชาติที่มีความเป็นอินเตอร์ฯ แล้วดูแพงมากกว่ารสชาติผลไม้ไทย แต่จริง ๆ ผลไม้ไทยหลายอย่างสามารถทำเป็นมิกซ์เบอร์รรีได้ อย่างสตรอว์เบอร์รีก็มีสตรอว์เบอร์รีไทย แคนเบอร์รีนอกเราก็เปลี่ยนเป็นลูกหม่อน หรือมัลเบอร์รีของไทยนี่แหละ”

หนังตะลุงก็เป็นไอศกรีมได้
แม้คุณกานจะออกตัวว่าผลกระทบจากโควิด-19 ยังทำให้เธอเจ็บตัว จนไม่กล้าผลีผลามลงทุนทำอะไรใหญ่โตมากนัก แต่เจ้าตัวก็ยังคงมองหาโลเกชันเพื่อจะกลับมาลองทำร้านในฝัน สร้างสรรค์เมนูไอศกรีมที่ได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดีไทยทั้งหลายให้กลับมาโลดแล่นสร้างความสนใจให้วงการขนมไทยอีกครั้ง ระหว่างที่ยังหาพื้นที่ที่เหมาะสมนี้ เธอจะยังคงตั้งใจปั้นไอศกรีมทองดีให้ออกไปสร้างชื่อเสียงในต่างแดนต่อไป ขณะเดียวกันก็รับผลิตไอศกรีมให้กับแบรนด์ หรือองค์กรต่าง ๆ คุณกานเล่าว่า เธอมีโอกาสได้ร่วมงานกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ของจังหวัดพัทลุง ซึ่งติดต่อให้เธอช่วยนำผลิตภัณฑ์ของจังหวัดอย่างน้ำตาลโตนดและสาคูแท้มาทำเป็นไอศกรีมรูปหนังตะลุง และใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ตลุงติม”

“เป็นลูกค้าที่เราชอบมาก เขามักจะหาของดีของจังหวัดมาให้เราทำเป็นไอศกรีม ซึ่งเขาอยากปั้นแบรนด์ตลุงติมของเขาให้เป็นที่รู้จัก ตอนนี้ก็มีวางขายอยู่ในร้านอาหารต่าง ๆ ของจังหวัดพัทลุง แล้วก็ขายในเทศกาลต่าง ๆ ที่จังหวัดจัดขึ้น ไอศกรีมของเขาจะมีรสชาติต่าง ๆ ที่มีหน้าตาเป็นรูปตัวหนังตะลุง แล้วก็ไม่ใส่น้ำตาลทราย แต่ใช้น้ำตาลโตนดแทน แล้วก็ใส่สาคูแท้ของดีอีกอย่างหนึ่งของเมืองพัทลุง โดยมีเบสเป็นกะทิ ล่าสุดเพิ่งจะส่งลูกหยีมาให้ทำเป็นไอศกรีม อีกไม่นานตลุงติมน่าจะมีรสชาติใหม่ก็คือรสลูกหยี

กานมองว่าการที่คนรุ่นใหม่รวมพลังกันสร้างสรรค์อะไรที่ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี หรือของดีของจังหวัดตัวเองให้ผู้คนได้รู้จักเป็นเรื่องดี แล้วเราก็อยากให้ทุกจังหวัดมีอะไรแบบนี้ ไอศกรีมเป็นอะไรที่ใคร ๆ ก็กิน ยิ่งถ้าเรารู้จักเอาสิ่งดี ๆ ที่เรามีมาสื่อสารผ่านไอศกรีมยิ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจ มันเป็นอะไรที่ช่วยต่อยอดส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศได้ และยังช่วยเกษตรกร ช่วยชาวบ้านได้อีกหนึ่งช่องทางด้วย”

ของดีของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
คุณกานเล่าต่อว่า อีกหนึ่งสิ่งที่เธอค้นพบหลังจากก้าวมาเป็นผู้ประกอบการผลิตไอศกรีม จนมีโรงงานที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ และสามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้คือ ความสนุกในการได้ทดลองนำสิ่งใหม่ ๆ และเป็นสิ่งดีของประเทศที่คนในประเทศไม่ค่อยเห็นคุณค่ามาสร้างสรรค์เป็นไอศกรีมที่ต่างชาติชื่นชอบ ชื่นชม

“เรารู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้นำสิ่งดี ๆ เหล่านี้มาเล่าเรื่อง มันเหมือนเป็นการทำ Fine Dining ในเวอร์ชันของไอศกรีม ตั้งแต่เริ่มต้นทำไอศกรีมทองดีมารวมระยะเวลาน่าจะราว ๆ 7-8 ปี ในขณะที่เราตั้งใจเลือกใช้ของวัตถุดิบคุณภาพดี ใช้ผลไม้ไทยปลอดสารเนื้อล้วน ๆ จึงทำให้ต้นทุนค่อนข้างสูง และเราต้องวางขายในราคาค่อนข้างสูง จนกลายเป็นข้อตำหนิติเตียนว่าของเราแพง ทุกวันนี้ก็ยังคงถูกว่ามาโดยตลอดว่าไอศกรีมผลไม้อะไรแท่งละ 90 บาท แต่ถ้าจะให้เราขายถูกกว่านี้ด้วยการลดต้นทุน ลดคุณภาพของวัตถุดิบ บอกเลยว่าเราคงไม่ทำ

สิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือ ไอศกรีมทองดีที่ขายในต่างประเทศตอนนี้ราคาสูงกว่าไอศกรีมต่างประเทศยี่ห้อดัง ๆ แพง ๆ แท่งหรือถ้วยละเป็นหลักร้อยบาท แต่คนไทยก็ไม่เคยบ่น ซึ่งทองดีที่ต่างประเทศ สามารถขายได้แพงกว่า แล้วเขาก็ยินดีที่จะจ่าย เพราะเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ และเขาให้ค่าผลไม้ไทยด้วย”

คุณกานทิ้งท้ายว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีดีมากมาย เป็นประเทศที่มีทรัพย์ในดิน มีสินในน้ำ ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยตั้งใจมาใช้ชีวิตบั้นปลายหลังเกษียณที่ประเทศไทย คนไทยอย่างพวกเราจึงควรจะภาคภูมิใจในความเป็นไทยเช่นกัน”

ภาพ : ไอศกรีมทองดี

เรื่อง : นพรัตน์ จิตพงศ์สถาพร