ลู่ลมแบบไผ่ ต่อยอดแบบไทย จากไผ่สู่ความยั่งยืน
Materials & Application

ลู่ลมแบบไผ่ ต่อยอดแบบไทย จากไผ่สู่ความยั่งยืน

  • 17 Sep 2024
  • 400

“ไผ่” ต้นไม้มงคลความหมายดี หากปลูกไว้ในบ้านเชื่อกันว่าจะช่วยเสริมสิริมงคลแก่เจ้าของบ้าน โดยไผ่มีวิวัฒนาการมาจากพืชตระกูลหญ้า อายุยืน เจริญเติบโตเร็ว ในประเทศไทยพบว่ามีไผ่กว่า 69 ชนิด กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ จัดเป็นพืชสารพัดประโยชน์ใกล้ตัวที่พบเห็นได้ทั่วไป ทุกส่วนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ อาทิหน่อไม้ นำมาประกอบอาหาร ลำต้นใช้ในการก่อสร้าง เป็นภาชนะ ไปจนถึงใบ ที่นอกจากจะทำเป็นปุ๋ยแล้วยังสามารถเอามาสกัดหรืออบแห้งเป็นชาใบไผ่เพื่อสุขภาพได้ ด้วยคุณสมบัติเด่นที่เป็นพืชท้องถิ่น เจริญเติบโตหมุนเวียนทดแทนได้เร็ว หากพิจารณาแล้วความสารพัดประโยชน์เหล่านี้ที่ทำให้ไผ่ถูกจัดให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถนำมาต่อยอด เพิ่มมูลค่าได้อีกมากมาย ด้วยรูปทรง สีสันที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวและเป็นเอกลักษณ์ จึงนำไม้ไผ่มาสร้างเป็นอาคารบ้านเรือนและงานออกแบบสถาปัตยกรรมตลอดจนอุตสาหกรรมภาคธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม รีสอร์ต หรือคาเฟ่ ก็หันมาเลือกใช้ไม้ไผ่ในการออกแบบมากขึ้น ไผ่ที่นิยมทำมาใช้ในงานออกแบบต่างๆ จะเน้นไปที่ ไผ่ตง ไผ่ซางหม่น ไผ่เลี้ยง ไม้ไผ่ซีก ไม้ไผ่สับฟาก 

อย่างไรก็ตาม การใช้ไม้ไผ่ยังต้องศึกษาพัฒนาและต่อยอดเรื่องการยืดอายุไม้ไผ่เพิ่มเติม เพื่อป้องกันมอด แมลงและเชื้อราที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น วิธีการทำทรีตเม้นต์ก่อนนำไผ่มาใช้เพื่อป้องกันแมลง รวมไปถึงต้านทานการลามไฟและกันน้ำ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่ดีของวัสดุก่อนนำไปใช้งาน ดังเช่น ธ.ไก่ชน (https://www.tcdcmaterial.com/th/search-location/0/all/entrepreneur/1167/ธ.ไก่ชน) บริษัทสถาปนิกรับออกแบบ ก่อสร้าง และจำหน่ายไม้ไผ่แบบครบวงจร จากสถาปนิกหนุ่มที่มีความหลงใหลในงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมด้วยวัสดุธรรมชาติโดยเฉพาะไม้ไผ่ สู่การเป็นผู้ประกอบการที่ใส่ใจนำไม้ไผ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างไม้ไผ่ที่ผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตในชื่อผลิตภัณฑ์ “กลูแบม (Glubam)” มาบวกเข้ากับจุดเด่นและความถนัด โดยถ่ายทอดผ่านงานทางสถาปัตยกรรมจากไม้ไผ่ที่สวยงามแปลกตาและคาดไม่ถึงว่าทำมาจากไม้ไผ่ได้ เรียกได้ว่าสร้างมูลค่าจากไผ่ได้อย่างจัดเต็ม เพราะไม้ไผ่เป็นได้ทั้งโครงสร้าง ส่วนกั้นภายในอาคาร แผงตกแต่งประดับอาคาร ตลอดจนชิ้นส่วนประกอบเฟอร์นิเจอร์

นอกจากงานโครงสร้างใหญ่แล้ว การพัฒนาแปรรูปในรูปแบบต่าง ๆ ของ บริษัท พิมธา จำกัด (https://www.tcdcmaterial.com/th/location/31/วัสดุภาคตะวันออก/entrepreneur/423/บริษัท%20พิมธา%20จำกัด) เริ่มต้นที่เป็นอาชีพในชุมชนแปรรูปไผ่เป็นสินค้าต่าง ๆ เช่น แคร่ เข่ง บันได ซุ้มไม้ไผ่นั่งเล่น สู่การแตกไลน์ผลิตเป็นพื้นปาร์เก้ ผนัง ไปจนถึง Outdoor Bamboo Panel ที่ทำจากเศษไม้ไผ่ที่มีขนาดเล็ก มีผิวหยาบ ทนไฟและกันน้ำ เหมาะใช้ปูผนัง แผ่นปิดบนเคาน์เตอร์ เฟอร์นิเจอร์ และฝ้าเพดาน ทนทานสวยงามเน้นใช้สำหรับภายนอกอาคาร

จากงานภายนอกมาต่อกันที่งานภายในกันบ้างด้วยผลงานของ บริษัท ฟาสเทคโน จำกัด (https://www.tcdcmaterial.com/th/search-material/9/%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89/info/MI00315-04) จากช่างซ่อมเฟอร์นิเจอร์ สู่ผู้นำด้านเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ไปจนถึงจากต่อยอดวัสดุจากธรรมชาติอย่าง กระเบื้องผิวไม้ไผ่ เพื่อการตกแต่งภายในอาคาร คุณสมบัติคือมีพื้นผิวแข็งและมีขนาดคงที่ด้วยวิธีจัดเรียงแถบไม้ไผ่ในแนวขนานและติดด้วยกาวลงบนแผ่นไม้อัดและสามารถสั่งทำลวดลายได้ตามต้องการ เหมาะสำหรับใช้ภายในอาคาร 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการที่เล็งเห็นคุณค่าจากไผ่ลู่ลม ต้นเล็กๆ ที่สามารถต่อยอดแตกหน่อไปสู่สินค้าและผลิตภัณฑ์มากมาย ผ่านภูมิปัญญาและแนวคิดของคนไทยที่ต้องการจะเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุท้องถิ่นนี้ให้ไกลไปในระดับสากลได้ ซึ่งหากมองย้อนกลับไปผ่านความสารพัดประโยชน์และสุนทรียภาพความสวยงามตามที่ตาเห็นสู่ต้นทางการปลูกไผ่ เราจะเห็นได้ว่าไผ่เป็นพืชที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนหมุนเวียนเป็นวัฏจักร ส่งต่อได้จากรุ่นสู่รุ่นด้วยภูมิประเทศที่เอื้อต่อการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม การปลูกไผ่จึงนับเป็นอาชีพที่ยั่งยืนต่อยอดอีกไกลในอนาคตได้อย่างดี ไม้ไผ่ไม่เพียงตอบโจทย์ได้เฉพาะส่วนงานออกแบบเท่านั้นยังมีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นที่ผลิตจากไผ่อีกหลากหลายรูปแบบ หากต้องการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุอื่นๆ จากไม้ไผ่ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซต์ www.tcdcmaterial.com

เรื่อง : รัชดาภรณ์ ศุภประสิทธิ์