ชุบชีวิตเศษผ้า สร้างคุณค่าด้วยหัตถกรรมไทย
Materials & Application

ชุบชีวิตเศษผ้า สร้างคุณค่าด้วยหัตถกรรมไทย

  • 18 Sep 2024
  • 319

ปี 2024 เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้นทั้งเทรนด์การนำ AI เข้ามาใช้งาน เราได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งแทนรถยนต์สันดาปมากขึ้น หรือรถยนต์มีระบบขับขี่อัตโนมัติโดยที่ผู้ขับขี่แทบไม่ต้องทำอะไรเลย ไปจนถึงเทคโนโลยีทางไกลด้านการแพทย์เพื่อให้บริการด้านสุขภาพที่เรียกได้ว่า ทุกอย่างล้วนเข้ามามีส่วนในการอำนวยความสะดวกให้เราทั้งสิ้น และอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจับตามองไม่แพ้กันคือ เรื่องของความยั่งยืนหรือ Sustainable ที่ในปีนี้หลายธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นโดยอันดับหนึ่งของเมืองไทยต้องยกให้กระแสของ Sustainable Tourism การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เน้นเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น อย่างโฮมสเตย์ของชาวบ้านก็จะสอดแทรกวิถีชีวิตเข้าไปในโปรแกรมท่องเที่ยว เช่น พาไปดูวิธีการหาปลาด้วยเครื่องมือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือจะเป็น Urban Farming and Sustainable Living เทรนด์ที่ว่าด้วยเรื่องของการนำหลักการเกษตรมาปรับใช้ในพื้นที่เขตเมืองยกตัวอย่าง เช่น การใช้พื้นที่บนดาดฟ้าหรือริมระเบียงเพื่อปลูกผักสวนครัวสำหรับคนเมืองก็ได้รับความนิยมไม่ต่างกันเพราะสามารถทำควบคู่ไปกับเรื่องของเทรนด์สุขภาพได้ 

อีกหนึ่งเทรนที่คาดการณ์ว่าจะได้รับความนิยมและมีพื้นที่ทางการตลาดมากขึ้นนั้นก็คือ Local Craft and Artisan Market สินค้าทำมือจากช่างฝีมือในตลาดท้องถิ่นอย่าง แบรนด์ รักษ์เศษ (Luxses) (https://www.tcdcmaterial.com/th/search-location/0/all/entrepreneur/1168/รักษ์เศษ) ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมผ้าต่อผ้าฝ้ายจากเศษผ้าของกลุ่มทำเสื้อผ้าจังหวัดราชบุรี โดยมีคุณชาญบุญ เอี่ยมหนู ผู้ที่รักในงานหัตถกรรม ชื่นชอบงานผ้าและการออกแบบ นำมาสู่การมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ภายใต้แนวคิด Waste to Wow ชุบชีวิตให้เศษผ้า ด้วยการเติมคุณค่าผ่านงานออกแบบ โดยใช้เศษผ้าฝ้ายที่เหลือจากอุตสาหกรรมตัดเย็บ นำมาตัดเย็บต่อเข้ากันเป็นผืนและประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ 

โดยจะเริ่มที่การคัดแยกสี ขนาด และรูปทรงของเศษผ้าจัดวางตามการออกแบบที่ต้องการด้วยเทคนิคต่อผ้าแบบละเอียด (Patch Work) สำหรับต่อเศษผ้าขนาดใหญ่ และเทคนิคแบบซิกแซก (Zigzag) สำหรับต่อเศษผ้าขนาดเล็ก ปะติดปะต่อเศษผ้าอย่างประณีตจนเป็นผืนผ้าต่อ รีดให้เรียบก่อนนำผืนผ้าไปติดแผ่นรองเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และนำไปตัดเย็บเป็นส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์ 

เหมาะสำหรับงานแฟชั่น เสื้อผ้า กระเป๋า ปลอกหมอน หรืออุปกรณ์ประดับตกแต่งครัวเรือน นอกจากจะชุบชีวิตเศษผ้าเหลือทิ้งแล้ว ยังสร้างรายได้ชุบชีวิตให้กับชุมชนอีกด้วย 

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งแบรนด์ของคุณชาญบุญที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความทรงจำในวัยเยาว์มาเป็นจุดเริ่มต้นของ บุญคุณ แฮนดิคราฟท์ (Boon Koon Handicraft) (https://www.tcdcmaterial.com/th/search-location/0/all/entrepreneur/1166/บุญคุณ%20แฮนดิคราฟท์) โดยสินค้าส่วนใหญ่ผลิตจากเศษผ้าที่เหลือจากกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยเทคนิคใกล้เคียงกับแบรนด์รักษ์เศษแต่จะต่างกันที่เนื้อผ้าโดยสินค้าของแบรนด์ บุญคุณ แฮนดิคราฟท์ จะใช้เป็นผ้าไหม สินค้าที่ได้จะเป็นกลุ่มผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เนกไท ปลอกหมอนอิง ของใช้เล็กๆ ไปจนถึง กระเป๋า ปลอกหมอน ผ้าคาดโต๊ะ 

ด้วยจุดเด่นของสี รูปแบบลวดลายของเศษผ้าที่ไม่ซ้ำกัน ทำให้ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นมีความแตกต่าง ดึงดูดสายตา สามารถเป็นของฝากที่พูดได้เต็มปากว่าเป็นสินค้าของคนไทย ทำด้วยมือ คุณภาพดี มีกลิ่นอายความเป็นไทยร่วมสมัย จากความโดดเด่นของผ้าไหมที่ถูกชุบชีวิตผ่านงานออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะทำให้ผลิตภัณฑ์จากบุญคุณ แฮนดิคราฟท์สร้างความประทับใจให้แก่ชาวต่างชาติได้ไม่น้อย โดยคุณชาญบุญไม่หยุดที่จะเรียนรู้ หมั่นพัฒนา อัพเดตเทรนด์และนำมาปรับให้เข้ากับผลิตภัณฑ์อยู่ตลอด เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ดึงจุดเด่นของเศษผ้าที่เป็นวัสดุเหลือใช้ ทั้งเรื่องของสีและลวดลายจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ สร้างความยั่งยืนทางรายได้เป็นอาชีพให้กับตัวเองและชุมชนต่อไป 

ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุอื่นๆจากเศษผ้าและสิ่งทอที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซต์ www.tcdcmaterial.com

เรื่อง : รัชดาภรณ์ ศุภประสิทธิ์