Book Builder เล่าเรื่องจนเป็นเล่ม: เก็บตก 10 เกร็ดความรู้ที่คนทำสิ่งพิมพ์อยากบอก
Materials & Application

Book Builder เล่าเรื่องจนเป็นเล่ม: เก็บตก 10 เกร็ดความรู้ที่คนทำสิ่งพิมพ์อยากบอก

  • 17 Apr 2025
  • 27

“ทำไมโรงพิมพ์ปรินต์สีออกมาไม่ตรง” หนึ่งในปัญหายอดฮิตที่โรงพิมพ์มักจะพบเจอ ต่าย-ภัทรา คุณวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บางกอกแพค จำกัด กล่าวเริ่มต้นการบรรยายในหัวข้อ Book Builder เล่าเรื่องจนเป็นเล่ม ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Material & Design Innovation Center (MDIC) ชั้น 2

“เกิดจากการตั้งค่าไฟล์หรือเปล่าคะ” เสียงจากผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งตอบกลับ 

“ใช่เลยค่ะ หลัก ๆ คือการตั้งค่าไฟล์” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท บางกอกแพค จำกัด กล่าวต่อถึงการทำงานของโรงพิมพ์โดยตั้งต้นจากคำว่า Press (สิ่งพิมพ์) “โรงพิมพ์ส่วนใหญ่ทำงานในลักษณะ ‘Express’ (เร็วและทำในปริมาณทีละมาก ๆ) ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจถ้าไปขอให้เขาพิมพ์แค่ 100 ชุด แล้วโรงพิมพ์จะคิดราคาสูงลิ่ว เพราะโรงพิมพ์ต้องผ่านกระบวนการมากมายกว่าจะออกมาเป็น 100 ชุด บางทีเขาอาจจะต้องทำถึง 300-400 ชุดเพื่อที่จะได้ 100 ชุดให้คุณ ที่เหลือคือทิ้ง” 

แต่ในความเป็นจริง ต่ายเล่าว่า “ทุกวันนี้ เราสื่อสารกับโรงพิมพ์ในลักษณะ ‘Compress’ นั่นคือไปบี้ ไปบีบ ด้วยระยะเวลาและข้อจำกัด แต่ราคาก็ต้องได้ ดังนั้นการเตรียมไฟล์จึงสำคัญมาก ๆ ถ้าสุดท้ายเตรียมไม่ดี ก็จะเกิดอาการ ‘Depress’ (เศร้าซึมกันทั้งสองฝ่าย)” 

“เพราะฉะนั้นในวันนี้ที่จะมาบรรยาย มันคือสิ่งที่ต่ายเคยล้มเหลวมา ว่ามันล้มเหลวยังไง และแก้ยังไง เพื่อที่จะสร้างความ ‘Impress’ ให้พอใจในสิ่งพิมพ์ของเราตั้งแต่ต้น” และสำหรับใครที่พลาดไปก็ไม่ต้องเสียใจ “คิด” สรุป 10 เกร็ดความรู้ เคล็ดลับ ไปจนถึงข้อแนะนำที่คนโรงพิมพ์อยากบอก เพื่อลดโอกาสในการ “Depress” และเปลี่ยนมาเป็น “Impress” ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

1.รูปแบบของงาน (Format)
ขั้นตอนแรกเริ่มนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ไม่ต่างจากกระดุมเม็ดแรกที่ต้องกลัดให้ถูกต้อง รูปแบบของงานในที่นี้หมายถึงว่า เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เราจะนำงานชิ้นนี้ไปทำเป็นอะไร ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สมุดโน้ต หรือโปสเตอร์ เพราะแต่ละรูปแบบของงานนั้นใช้การเตรียมไฟล์ที่แตกต่างกัน กระดาษแต่ละแบบก็มีการพิมพ์ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ เรื่องรูปแบบของงาน การพูดคุยกับทางโรงพิมพ์ตั้งแต่เริ่มต้นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันทั้งสองฝ่าย

2.ขนาดของกระดาษ
หนึ่งในรูปแบบที่เราต้องรู้ก็คือขนาดและประเภทของกระดาษ ต่ายแนะนำว่า “ขนาดกระดาษให้ใช้ในขนาดที่มีอยู่ตามมาตรฐานทั่วไป เช่นขนาด A2 A4 หรือ B4 B5 เป็นต้น พยายามอย่าไปหาวิธีหรือกลยุทธ์อื่น ๆ ที่จะไปเปลี่ยนขนาดตามใจ ถ้าต้องการผลิตในปริมาณมาก ยกเว้นแต่ในกรณีที่ต้องการทำในปริมาณน้อยและมีงบเยอะ ก็ลุยได้เลยค่ะ” 

3.ประเภทของกระดาษ
ประเภทของกระดาษแบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ กระดาษ Proof Paper ได้แก่ พวกกระดาษหนังสือพิมพ์หรือหนังสือเรียนตอนเด็ก กระดาษ Art Paper ได้แก่ พวกกระดาษนิตยสารที่จะมีความเงา ๆ ลื่น ๆ กระดาษ Pound Paper หรือกระดาษปอนด์ ได้แก่ กระดาษ A4 ทั่วไปที่ใช้ถ่ายเอกสาร กระดาษ Kraft Paper คือตระกูลกระดาษสีน้ำตาลที่นำมาทำลูกฟูก กล่องหรือลัง และสุดท้าย กระดาษ Art Card Paper ได้แก่ พวกกระดาษหนา ๆ ที่เรานำมาทำกล่องใส่เบเกอรี่ กล่องขนมต่าง ๆ 

โดยหน่วยที่ใช้ชั่งน้ำหนักของกระดาษจะเรียกว่า “แกรม” ซึ่งไม่เท่ากับ “กรัม” หน่วยแกรม หมายถึงน้ำหนักต่อหนึ่งตารางเมตร ตัวอย่างเช่นกระดาษ 80 แกรม หมายถึง กระดาษชนิดนี้ที่ขนาด 1 เมตร คูณ 1 เมตร มีน้ำหนัก 80 กรัม นอกจากนั้น หน่วยแกรมไม่ได้บ่งบอกถึงความหนา แกรมเท่ากันไม่ได้แปลว่ากระดาษจะหนาเท่ากัน ขึ้นอยู่กับชนิดของกระดาษด้วย

4.สีและการตั้งค่า
สิ่งที่ต้องพึงระลึกไว้ก็คือ สีที่ตามนุษย์มองเห็นกับสีที่เครื่องพิมพ์ทำได้นั้นไม่เหมือนกัน สีที่โรงพิมพ์สีทั่วไปทำได้คือระบบสีที่เรียกว่า CMYK ย่อมาจาก Cyan (ฟ้า) Magenta (แดงอมม่วง) Yellow (เหลือง) Key (ดำ) ซึ่งจะแตกต่างจากระบบ RGB อย่างเช่นสีน้ำเงินในระบบ RGB คือ #0000FF 

ต่ายแนะนำว่า เวลาที่เจอเหตุการณ์สีไม่ตรงนั้น ต้องกลับมาดูด้วยว่าสีที่เราใส่ไปนั้นกับเฉดสีของระบบที่เราพิมพ์มันเพียงพอหรือไม่ กล่าวคือ พิมพ์แบบไหน ได้เฉดสีแค่นั้น 

เราสามารถตั้งค่าสีได้ตั้งแต่เปิดไฟล์ เคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญการพิมพ์ก็คือ ให้ตั้งค่าสีในระบบ CMYK โดยที่ค่าสีทั้ง 4 ตัว บวกกันไม่ให้เกิน 250% ไม่อย่างนั้นจะเกิดสีล้น ดังนั้น “สีไหนไม่ต้องการ ให้ตัดออกไปได้เลย” 

5.Pantone
Pantone คือบริษัทค่าสีที่มีค่าสีมาตรฐานของตัวเอง หากใครจะใช้ Pantone ในการตั้งค่าสี ให้คุยกับโรงพิมพ์ให้เข้าใจตรงกัน เพราะรหัสค่าสี Pantone มีหลากหลายแบบ ถูกบันทึกไว้ในหลากหลายเล่มของบริษัท ซึ่งแต่ละเล่มมีรหัสที่ไม่เหมือนกัน 

คำแนะนำจากโรงพิมพ์ในกรณีถ้าอยากตั้งค่าสีจาก Pantone ก็คือ “สำหรับบริษัทดีไซน์ เล่ม Pantone Bridge (ผู้ที่สนใจ สามารถมาหยิบอ่านได้ที่ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Material & Design Innovation Center (MDIC) ชั้น 2) เล่มเดียวจบ Pantone Bridge คือสะพานเชื่อมระหว่าง Pantone ปกติกับระบบสี CMYK โดยผู้ใช้จะเห็นภาพว่า สีที่กำหนดมาของ Pantone เป็นสีนี้ เมื่อไปปรินต์ออกมาในระบบ CMYK จะกลายเป็นสีเฉดไหน (ไม่ได้แปลว่าสีเพี้ยน แต่ขีดจำกัดเครื่องปรินต์ทำได้แค่นี้)

6.เฉดสีของความดำ
ความมืดดำ สำหรับหลายคนอาจจะมองไม่เห็นความแตกต่าง แต่สำหรับโรงพิมพ์ สีดำก็มีเฉดของมันเช่นกัน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท บางกอกแพค จำกัด บอกเทคนิคการตั้งค่าสีสำหรับสีดำในเฉดที่แตกต่าง เพื่ออารมณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ได้แก่ ถ้ากรณีที่อยากได้สีดำเรียบหรู ให้ตั้งค่าที่ C=60%, M=0%, Y=0%, K=100% ถ้าอยากได้สีดำที่ให้ความรู้สึกเย็น ๆ ให้ตั้งค่าที่ C=70%, M=35, Y=40%, K=100% หรือถ้าอยากได้ดำแบบอบอุ่น ให้ตั้งค่าที่ C=35%, M=60%, Y=60%, K=100% เป็นต้น

7.ฟอนต์
ฟอนต์จะมี 4 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ 2 ประเภทหลักอย่าง Serif เหมาะแก่การใช้สำหรับงานที่ดูมีความเรียบหรู เช่น Garamond, Times และ Sans Serif เหมาะแก่การใช้สำหรับงานที่ดูมีความทันสมัย เช่น Futura, Helvetica และอีก 2 ประเภทที่ใช้ในโอกาสพิเศษ ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้ถ้าไม่จำเป็น ได้แก่ Script เช่น Edwardian, Zapfino และ Slab Serif เช่น Clarendon, Josefin

ข้อสังเกตการใช้ฟอนต์ก็คือ งานส่วนใหญ่จะใช้เพียงไม่กี่ฟอนต์ภายในหนึ่งชิ้นงาน เพราะมันจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสได้ว่า อะไรสำคัญหรืออะไรเป็นจุดเน้น 

8.ตัดตก (Bleed)
ในทุกการพิมพ์ ต่ายเล่าว่า ปัญหาที่โรงพิมพ์พบเยอะมากก็คืองานไม่ได้ถูกเผื่อขอบไว้ ขั้นตอนของโรงพิมพ์คือพิมพ์ก่อนแล้วค่อยมาตัดแบ่ง ไม่ใช่ตัดก่อนแล้วค่อยพิมพ์ ดังนั้นถ้าไม่ได้เผื่อขอบมาให้แต่แรก จึงทำให้เกิดปัญหาได้ในภายหลัง (เช่น คำสำคัญถูกตัด แขนหรือหัวหลุดขอบ) คำแนะนำก็คือ เราต้องเผื่อขอบไว้ทุกด้านอย่างน้อย 3 มิลลิเมตร (5 มิลลิเมตรคือระยะปลอดภัยอย่างแน่นอน) อย่านำรูปที่สำคัญวางไว้ชิดริมหน้ากระดาษ หรือใจความสำคัญอะไรที่อยากเน้น อย่าไปไว้ด้านข้าง ให้เอาไว้ข้างใน

9.กริด (Grid)
ระบบกริดคือระบบตารางและเส้นที่แบ่งหน้าสิ่งพิมพ์ เพื่อให้การจัดหน้าเป็นไปอย่างมีระบบ เช่น แบ่งเป็นหน้าละ 2 คอลัมน์ หรือ 3 คอลัมน์เป็นต้น ต่ายตั้งข้อสังเกตว่า โดยส่วนใหญ่ หนังสือหรือสิ่งพิมพ์ 1 เล่ม จะใช้กริดเพียงแบบเดียวเป็นมาตรฐาน ลองจินตนาการว่ากริดคือเลนถนน สิ่งนี้จะทำให้การทำงานมีความเป็นรูปแบบเดียวกัน เปรียบเสมือนฟังเพลงที่ไม่มีเสียงตกร่องหรือให้ความรู้สึกกระโดดไปมาระหว่างอ่านเนื้อหา

10.ไฟล์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
กระบวนการทั้งหมดกว่าจะออกมาเป็นสิ่งพิมพ์หนึ่งชิ้น เริ่มตั้งแต่ ขั้นตอนการระดมสมอง กลั่นกลองไอเดียต่าง ๆ จนมาเข้าสู่การทำไฟล์ จัดหน้า จัดองค์ประกอบ ต่ายชี้ให้เห็นถึงไทมไลน์ที่จะเป็นมิตรกับแรงงานและโรงพิมพ์ก็คือ ระยะเวลาของขั้นตอนการปรู๊ฟจะอยู่ที่ประมาณ 7-15 วัน และส่วนสุดท้ายคือส่วนของโรงพิมพ์ ระยะเวลาควรมีอย่างน้อย 15-30 วัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ใจความสำคัญก็คือการสื่อสารให้เข้าใจกันตั้งแต่แรกระหว่างโรงพิมพ์กับลูกค้า 

ในท้ายที่สุด สิ่งสำคัญที่ต่ายได้แนะนำก็คือ “ให้คุยกับปลายทางตั้งแต่ต้นว่า ความคาดหวังของงานที่เราต้องการประมาณไหน และเครื่องพิมพ์ที่เขามี ทำได้ประมาณไหน” เพื่อให้เข้าใจภาพเดียวกัน จะได้ ‘Impress’ ซึ่งกันและกัน แทนที่จะมา ‘Depress’ ด้วยกันทั้งคู่

ภาพ : จิรายุ เสรีภัทรกุล