เทรนด์การตกแต่งร้านค้าปลีก (Retail environments) จากวัสดุ 5 ประเภท
Materials & Application

เทรนด์การตกแต่งร้านค้าปลีก (Retail environments) จากวัสดุ 5 ประเภท

  • 05 Oct 2011
  • 135544

เทคโนโลยีและวัสดุใหม่ๆ สามารถยกระดับสภาพแวดล้อมของร้านค้าปลีก และดัดแปลงให้เข้ากับผู้บริโภคได้ วัสดุที่ถูกกล่าวถึงในบทความนี้ (รูปจากมุมบนซ้ายวนไปตามเข็มนาฬิกา ในแต่ละหมวดตัวเลข)
1. วัสดุที่เปลี่ยนแปลงได้เมื่อโดนแสง (Materials altered by light): woven light color changing textiles (สิ่งทอที่เปลี่ยนแปลงสีได้ตามแสง) (Kathy Schicker); energlo (Energlo); Curtisium® Acrylglase (NighTec® GmvH &Co.KG); Scintilla (Sensitile Systems)

2.วัสดุที่เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้า (Conductivity): 3D display cube (James Clar & Associates); IMPAtouch (Irlbacher Vlickpunkt Glas GmbH); BrillionTM Conductive Ink Technology; Navi Floor® (Future-Shape GmbH)

3.วัสดุที่ตอบสนองได้ (Responsive Materials): Sugru® (FormFormForm Limited); FelibendyTM (Kuraray Kuraflex Co.,Ltd.); Morphogenese (Morphogenese); Sensacell (Sensacell)

4.วัสดุเลียนแบบธรรมชาติ (Biomimicry): OCTAMOLD (Octamold Technologies); SharkletTM SafeTouch (Sharklet Technologies, Inc.); SkinBag (SkinBag); Salmon Leather wall Tiles (กระเบื้องติดผนังทำจากหนังปลาแซลมอน) (ES Salmon Leather LTDA)

5. การสื่อข้อมูลโดยใช้การเล่นระดับ (Layered Information): Alaris, Eden & Connex (Objet Geomatries GmbH); think4D® (think4DTM); zp130 DesignMate CX (KISTERS AG)

จากประสบการณ์การติดต่อและพบปะลูกค้าที่ห้องสมุดทุกวัน ทำให้เราสามารถบอกได้ว่า สถาปนิก มัณฑนากร และนักออกแบบเชิงอุตสาหกรรมเหล่านี้มีความต้องการที่คล้ายคลึงกัน พวกเขาอยากที่จะปรับสภาพแวดล้อมของร้านค้าปลีกให้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงการเลือกใช้ไฟ LEDs หรือการเลือกสีเท่านั้น แต่ยังมองหาวิธีอื่นเพื่อปรับให้เข้ากับผู้บริโภคได้มากขึ้นด้วย ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และวัสดุที่นำมาใช้เป็นแนวทางใหม่นั้น แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 5 ประเภท ได้แก่
1. วัสดุที่เปลี่ยนแปลงได้เมื่อโดนแสง (Materials Altered by light) นักออกแบบมักจะชื่นชอบแนวคิดของวัสดุที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้ว่าสิ่งทอที่เปลี่ยนสีเมื่อโดนแสงหรือเทคโนโลยี solar ink จะไม่ใช่สิ่งใหม่อีกต่อไป แต่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมักนำแนวคิดจากของเดิมเหล่านี้ มาสร้างให้ได้ผลลัพท์ใหม่ที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น เมื่อสิ่งทอที่สามารถเปลี่ยนสีได้ (Woven color-changing textiles) โดนแสงอาทิตย์หรือแสงอัลตร้าไวโอเล็ต หมึกที่พิมพ์ไว้จะเปลี่ยนสี วัสดุนี้สามารถนำมาใช้เป็นแผ่นติดผนัง ผลิตภัณฑ์ ผิวชั้นนอกของเฟอร์นิเจอร์ โป๊ะไฟ และอื่นๆ โดยการเปลี่ยนสีของผ้าจะขึ้นอยู่กับความเข้มของแสง ในทำนองเดียวกัน Energlo คือผ้าที่มีคุณสมบัติกันน้ำและเรืองแสงได้ในความมืดในอัตราเฉลี่ยสามถึงหกชั่วโมง จึงเหมาะสมกับการนำไปใช้ผลิตเสื้อกีฬา เสื้อผ้าสำหรับใส่กลางแจ้ง และมีแนวโน้มที่จะนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิดด้วย ผลิตภัณฑ์อีกตัวหนึ่ง คือ Scintilla วัสดุปิดผิวอะคริลิกที่มีความโปร่งใสและโปร่งแสง โดยมีแผ่นอะคริลิกฝังอยู่ในตัวซึ่งจะทำให้เกิดแสงและเงาที่เป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือเมื่อนำแผ่นเหล่านี้มาจัดวาง และเลื่อนมือผ่านบริเวณวัสดุ ก็จะทำให้เกิดการเล่นของแสงและเงาขึ้น ซึ่งวัสดุนี้สามารถนำไปใช้ปูพื้น ผนัง แผ่นติดผนัง เฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ เราเชื่อว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จะได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ที่จะใช้ประโยชน์จากแสงในการตกแต่งร้านค้าปลีกต่อไป

2. วัสดุที่เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้า (Conductivity) สถาปนิกและมัณฑนากรส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับเทคโนโลยี LEDs กันมาก โดยเฉพาะ LEDs ประเภทที่มิได้เป็นเพียงไฟที่ให้ความสว่างเท่านั้น แต่ยังช่วยสื่อข้อมูลได้ด้วย ซึ่งในขณะนี้ได้มีระบบการสื่อสารข้อมูลผ่านตัวนำกระแสไฟฟ้า (Conductive information system) ที่สามารถปรับแต่งให้เข้ากับจังหวะการเคลื่อนไหว ภาพ และเสียงได้ตามต้องการ บริษัทหนึ่งจากประเทศเยอรมนีได้ผลิตสิ่งทอสำหรับปูพื้นที่มีการรวม RFID เข้าไปด้วยเพื่อนำมาใช้ในระบบนำทางและระบบโลจิสติก โดยเมื่อนำผ้า non-woven มาปูบนพื้นแล้วสามารถวางพรมทับลงไปได้ จากนั้นกลไกที่เชื่อมกับระบบในพื้นจะเคลื่อนไหวภายในช่องว่างที่ควบคุมโดยแถบ RFID ระบบนี้ใช้แถบ RFID เพื่อสร้างการเคลื่อนไหว มีระบบของการสื่อกระแสไฟฟ้าอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า IMPAtouch สามารถเปลี่ยนแผ่นกระจกให้กลายเป็นส่วนควบคุมอุปกรณ์ได้ โดยใช้หลักการเดียวกับเทคโนโลยี touch-screen จึงทำให้ไม่ต้องมีปุ่มกด และสามารถผนวกระบบภาพอิเล็กทรอนิกส์เข้ากับกระจกได้อย่างแนบเนียน ระบบนี้สามารถนำไปใช้ได้กับโสตทัศน์ วีดิทัศน์ และอุปกรณ์ของสตูดิโอ รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสารและการก่อสร้างอีกด้วย เทคโนโลยี Brillion conductive ink เป็นการรวมของหมึกที่นำไฟฟ้าได้ (conductive ink) เข้ากับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทำให้เกิดเสียงและแสงโดยไม่ใช้สายไฟ หมึกแบบนี้สามารถกำหนดให้เป็นสีต่างๆ ได้มากมาย และนำไปใช้กับวัสดุได้หลากหลาย เช่น กระดาษ ผ้า และพลาสติก และยังสามารถสัมผัสเพื่อสั่งงานได้จากหลายตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีการนำระบบไฟ 3D display cube LED มาเชื่อมต่อกับบริเวณพื้นที่จัดแสดงสินค้า เพื่อใช้ออกแบบงานสามมิติและภาพเคลื่อนไหว โดยนำแต่ละหน่วยมาประกอบติดกันเพื่อสร้างรูปทรงต่างๆ และสามารถแสดงภาพ การเคลื่อนไหว ข้อความ และสีตามที่ต้องการได้

3. วัสดุที่ตอบสนองได้ (Responsive materials) วัสดุที่สามารถเปลี่ยนได้ตามอุณหภูมิ เซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหว และสามารถจดจำรูปร่างเดิมได้เพื่อสื่อสารข้อมูลนั้นมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น การตกแต่งร้านค้าปลีกนั้นกำลังมุ่งหน้าไปใช้วัสดุที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น วัสดุที่สามารถเปลี่ยนรูปทรงด้วยอุณหภูมิ และเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวที่ช่วยกระตุ้นประสบการณ์ในการซื้อสินค้าได้มากขึ้น วัสดุอิลาสโตเมอร์ซิลิกอนที่สามารถขึ้นรูปได้ (silicon elastomer modeling material) ผลิตโดยบริษัทในสหราชอาณาจักร เป็นวัสดุที่น่าสนใจตัวหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปขึ้นรูปเป็นรูปร่างใดๆ ก็ได้ และสามารถบ่มให้มีลักษณะแข็งได้อีกด้วย ผลิตภัณฑ์นี้ชื่อ Sugru มีสีสันและรูปทรงต่างๆ ให้เลือกมากมาย สามารถใช้เชื่อมกับอะลูมิเนียม เหล็ก เซรามิก แก้ว และพลาสติก เพื่อเพิ่มมิติได้ วัสดุนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ P-O-P display ไปจนถึงการใช้เป็นแผ่นติดผนัง นอกจากนี้ผ้าที่สามารถคืนรูปได้ และผ้า non-woven ที่สามารถสร้างรูปทรงสามมิติ ก็จัดอยู่ในวัสดุประเภทนี้ด้วย ผลิตภัณฑ์อีกหนึ่งตัว คือ แผ่นที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหว ที่เรียกว่า Sensacell โดยแถบสี LED จะสว่างขึ้นหากมีการเคลื่อนไหวเหนือแผ่นนั้นๆ และสามารถทำงานผ่านวัสดุโปร่งแสงได้ มีการนำมาใช้ในงานหลายอย่างรวมถึง P-O-P display และใช้ในการตกแต่งภายในด้วย

4. วัสดุเลียนแบบธรรมชาติ (Biomimicry) แม้ว่าคำๆ นี้เป็นคำที่ได้รับความนิยมมาหลายปีแล้ว เราเชื่อว่าหลายๆ แนวคิดในการผลิตวัสดุนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดค้นเทคโนโลยีวัสดุใหม่ๆ อีกหนึ่งวัสดุที่ได้รับความสนใจคือ ตัวยึดที่มีลวดลายเลียนแบบลักษณะของผิวหนังปลาฉลาม (และสามารถป้องกันจุลินทรีย์ได้) เรียกว่า Sharklet SafeTouch วัสดุนี้เป็นอะคริลิกที่มีประสิทธิภาพสูง โปร่งแสง และมีผิวสัมผัสซึ่งติดอยู่บนสติกเกอร์โพลีเอสเทอร์ สามารถนำไปใช้กับอะไรก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะแวดล้อมที่ต้องการคุณสมบัติในการต้านจุลินทรีย์ซึ่งจำเป็นสำหรับบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อยครั้ง SkinBag เป็นวัสดุที่มีแนวคิดเดียวกัน โดยเป็นแผ่นยางที่มีลาเท็กซ์เป็นส่วนประกอบหลัก ทำเลียนแบบผิวหนัง ซึ่งแสดงลักษณะทั้งริ้วรอยและเส้นเลือด วัสดุนี้สามารถเย็บ ติดกาว และใช้ได้โดยไม่ต้องเย็บขอบ กระบวนการผลิตอีกอย่างหนึ่ง คือ Octamold ซึ่งเป็นวัสดุแกนโครงรังผึ้งที่มีลักษณะสามมิติ มีน้ำหนักเบา เลียนแบบรูปร่างของฟองสบู่ที่ติดกันเพื่อใช้เป็นวัสดุทางเลือกของแผ่นพาร์ติเคิลบอร์ด และสามารถนำไปใช้เป็นโครงสร้าง แผงผนัง ชิ้นส่วนประกอบต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ สิ่งที่เข้าใกล้ธรรมชาติมากยิ่งขึ้นไปอีก คือแผ่นกระเบื้องที่ทำจากหนังปลาแซลมอนประกบผิวโฟม และใช้ไฟเบอร์บอร์ดความหนาแน่นสูงเป็นแผ่นหลัง หนังเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่จากอุตสาหกรรมฟาร์มปลาแซลมอนในประเทศชิลี

5. การสื่อข้อมูลโดยใช้การเล่นระดับ (Layered information) การพัฒนาของเทคโนโลยีการพิมพ์ใหม่ๆ ทำให้นักออกแบบสามารถคิดงานได้หลากหลายขึ้น ในปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์สำหรับกระดาษ เซรามิค พลาสติก และอื่นๆ ประสบความสำเร็จในการพิมพ์ภาพและสร้างผิวสัมผัสแบบใหม่ โดยเพิ่มประสบการณ์ในการสัมผัสและความรู้สึกร่วมในผลิตภัณฑ์นั้นๆ หนึ่งในเทคโนโลยีการพิมพ์ที่เรียกว่า Think 4D จากประเทศแคนาดา มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติความเร็วสูงเพื่อที่จะวางรูปร่างและผิวสัมผัสให้เป็นลักษณะสองมิติ ซึ่งสามารถผลิตให้มีสัมผัสและรายละเอียดความนูนสูงต่ำได้ตามที่กำหนด ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถพิมพ์ภาพเลียนแบบภาพสีน้ำมันที่มีความหนาบนกระดาษขนาดใหญ่ เพื่อใช้ตกแต่งภายในร้านค้า หรือสร้างรูปที่มีผิวสัมผัสเฉพาะตัว และนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อเพิ่มมิติของพื้นผิว เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่เรียกว่า zp130 DesignMate CX ใช้สำหรับการผลิตแบบจำลองที่มีความละเอียดสูง โดยทั่วไปแล้วการพิมพ์แบบนี้เป็นกระบวนการพิมพ์ที่รวดเร็วและสามารถพิมพ์รูปสามมิติได้โดยรวมเอาสีและข้อความไว้ด้วยกัน เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการตกแต่งภายในอาคาร วิธีนี้เป็นแนวคิดที่น่าสนใจสำหรับใช้ในการสื่อข้อมูลของร้านค้าไปยังลูกค้า ยังมีกระบวนการพิมพ์ต้นแบบที่มีความละเอียดสูงอีกแบบหนึ่งซึ่งสามารถใช้ในการผลิตวัสดุที่มีความหนาของผิวสัมผัสและความนุ่มแตกต่างกันได้หลายๆ ระดับ จึงเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ปัจจุบันมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอากาศยาน และยานยนต์ รวมถึงในอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกหลายชนิด

เขียนโดย Beatrice Ramnarine ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุที่ Material ConneXion นิวยอร์ก เธอทำงานกับลูกค้าในการหาข้อมูลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับวัสดุและกระบวนการผลิตมากกว่า 4,500 ชนิด ที่มีอยู่ในห้องสมุดวัสดุของ Material ConneXion

สำหรับรูปและเนื้อหาของผลิตภัณฑ์ที่พูดถึงในบทความ สามารถดูเพิ่มเติมได้ในคลังข้อมูลของ A.R.E.’s Retail Environments Magazine ที่ www.retailenvironments.org (ในหัวข้อ “Resources” เลือก “Libraries”)

เครดิต: แปลจากบทความ “Five Material Trends for Retail Environments” วารสาร Retail Environments Magazine ฉบับเดือนสิงหาคม/กรกฎาคม 2553 โดย Beatrice Ramnarine

บทความนี้อยู่ในหมวด “วัสดุล้ำยุค” โดย Material ConneXion® Bangkok