
แกรนิตแก้ว “แก้วสิงห์” : งานออกแบบเพิ่มมูลค่าให้ขยะขวดแก้ว
วัฒน ทิพย์วีรนันท์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของห้างหุ้นส่วนจำกัดแก้วสิงห์ ผู้ประกอบการรับซื้อขวดแก้วรีไซเคิล เพื่อขายต่อยังโรงหลอมแก้วขนาดใหญ่ ชีวิตเขาเห็นขวดแก้วจำนวนมหาศาลถูกซื้อมา-ขายไปอยู่นาน จึงคิดอยากเพิ่มมูลค่าให้ขยะเหลือใช้เหล่านี้
จากเศษแก้วมาเป็นแกรนิตแก้ว
เริ่มต้นจากการวิจัยเพื่อสร้างสรรค์วัสดุใหม่ ซึ่งกระบวนการนี้ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน วัฒนออกตระเวนขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐหลายแห่ง
"ตอนแรกผมไปติดต่อกรมวิทยาศาสตร์บริการ แต่เขาไม่มีเวลาทำให้ ผมก็หาไปเรื่อยๆ จนไปเจอที่ MTEC (ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ) ผมนำเศษแก้วเข้าไปให้เขาดู พูดคุยทำความเข้าใจกันพักใหญ่ ในที่สุดก็ได้ ดร.อนุชา วรรณก้อน กับ ดร.วรพงษ์ เทียมสอน มาดูแลโครงการวิจัยให้"
"ครั้งแรกพวกเราไม่ได้มุ่งมาที่แกรนิต เราทดลองไปเรื่อยว่าเศษแก้วพวกนี้จะเป็นอะไรได้บ้าง แรกๆ ได้เป็นโมเสสแก้วสีชิ้นเล็กๆ เหมือนที่ไว้ปูผนังห้องน้ำ ดีไซน์สวยถูกใจ แต่ว่าจดสิทธิบัตรไม่ได้ เพราะมีคนทำเยอะแล้ว"
อย่างไรก็ดีในเมื่อลงทุนทำงานวิจัยไปแล้ว วัฒนและทีมนักวิจัยก็มุ่งมั่นที่จะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา สุดท้ายก็มาลงตัวที่แกรนิตแก้ว ซึ่งกว่าจะได้มาเป็นแกรนิตแก้วรีไซเคิล 100 % นี้ ก็ต้องผ่านกระบวนการทดลอง-แก้ไขอยู่นานพอควร
ความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์
วัฒนกล่าวว่า แกรนิตแก้วยังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เขาจึงยังไม่ได้ลงลึกที่แผนการตลาด แต่ก็ได้วางแนวคิดไว้แล้ว
"ข้อดีของวัสดุนี้คือสามารถนำไปใช้แทนที่แกรนิตธรรมชาติที่มีราคาแพงได้ แกรนิตแก้วของเราผ่านการทดสอบความแข็งแรงแล้ว ได้เกินมาตรฐานทุกอย่าง ทุกวันนี้เราสามารถขายในราคาที่ถูกกว่ามากนะครับ ในขนาดที่เท่ากัน"
"แต่คงยากที่จะไปแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดแมส ผมคิดว่าเราต้องมุ่งเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มที่เชื่อในเรื่องการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม"
วัฒนมองว่าการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มนี้มีลู่ทางไปได้ โดยเขาได้นำแกรนิตแก้วไปเปิดตัวกับทาง MTEC ในรายการ ‘ฉลาดล้ำกับงานวิจัยไทย' เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ทางหนึ่ง นอกจากนั้น ก็ใช้วิธีสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ โดยนำแบรนด์ "แก้วสิงห์" ไปผูกกับธุรกิจคอเดียวกัน
"ผมติดต่อ อ.สิงห์ อินทรชูโต ให้ลองนำแกรนิตแก้วไปใช้ในงานออกแบบของแบรนด์ OSISU เพราะทางนั้นเขามุ่งเน้นงานจากวัสดุรีไซเคิลอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำให้มีคนรู้จัก "แก้วสิงห์" เพิ่มขึ้นไม่น้อย"
อนาคตในฐานะธุรกิจนวัตกรรม
เคยมีคนบอกกับวัฒนว่า ถ้างานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ผู้ประกอบการอย่างเขาจะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงเต็มตัว เพราะรัฐจะให้การสนับสนุน
"ผมอยากให้ภาครัฐหันมามองงานวิจัยต่างๆ ที่มีความพร้อมในตลาดมากขึ้น เพราะการที่เราปล่อยให้ผู้ประกอบการรายย่อยต้องลงทุนสร้างโรงงานผลิตใหญ่โต หรือต้องทำการตลาดเองทั้งหมด มันย่อมมีข้อจำกัด มีอุปสรรคหลายอย่าง ซึ่งนั่นทำให้วัสดุน่าสนใจหลายตัวที่คิดค้นขึ้นใหม่มีต้นทุนสูงมาก ต้องตั้งราคาสูงไปด้วย"
นอกจากนั้น วัฒนยังแนะว่า หากภาคอุตสาหกรรมไทยมีเวทีเชื่อมต่อที่เปิดกว้าง ผลักดันให้นักลงทุนหรือนักการตลาดสามารถยื่นมือเข้าช่วยผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพได้ นั่นก็จะดีมาก
สำหรับอนาคตของแบรนด์ "แก้วสิงห์" วัฒนจะไม่หยุดอยู่แค่แกรนิตแก้วเท่านั้น ตอนนี้เขาได้เริ่มโครงการวิจัยผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ขึ้นอีก คืออิฐมวลเบาจากขยะขวดแก้ว ซึ่งจะเข้ามาเป็นทางเลือกตรงกลางระหว่างอิฐบล็อกราคาถูก กับอิฐมวลเบาราคาแพงได้
วัฒนมองว่า การลงทุนวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างความหลากหลายและเพิ่มไลน์สินค้าเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะการจะทำให้ชื่อ "แก้วสิงห์" เป็นที่รู้จักและจดจำได้นั้น เขาต้องทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นก่อนว่า
"แก้วรีไซเคิลเป็นอะไรได้มากกว่าที่คิด"
จับประเด็นเด่นกับธุรกิจแก้วสิงห์
- จงต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ มองสิ่งใกล้ตัวหรือแหล่งวัสดุที่มีอยู่แล้ว เพราะการค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างสิ่งใหม่นั้น มีต้นทุนที่สูงทั้งด้านเวลาและเม็ดเงิน - ใช้บริการวิชาการจากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการวิจัย ซึ่งมีองค์ความรู้และบุคคลากรพร้อม คุณอาจได้รับบริการและคำแนะนำต่างๆ ที่คิดไม่ถึง เช่น ความช่วยเหลือในการจดสิทธบัตร ความช่วยเหลือด้านการผลิต ฯลฯ ศูนย์ต้นแบบผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ จ. ราชบุรี เป็นบริการรัฐอีกแห่งหนึ่งที่มีศักยภาพ แต่ปัจจุบันยังมีเอกชนเข้าไปใช้บริการน้อย - การจะขอทุนวิจัยต้องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ การบันทึก-ถ่ายภาพกระบวนการทำงาน มีส่วนสำคัญต่อการขอทุนวิจัยมาก จึงควรจัดทำโดยละเอียด |
เพิ่มเติม :ข้อจำกัดของแกรนิต "แก้วสิงห์"
1. ด้านคุณสมบัติ ณ ตอนนี้แกรนิตแก้วของแก้วสิงห์ถูกนำไปใช้งานจริงแล้ว ทั้งงานภายนอกและภายใน มีสีให้เลือกตามสีขวดแก้วตั้งต้น คือสีน้ำตาลและสีเขียว และมีสีดำซึ่งย้อมเลียนแบบแกรนิตธรรมชาติด้วย ขาดอยู่ก็แต่ลวดลายที่ยังไม่หลากหลายนัก ที่สำคัญคือยังไม่สามารถผลิตให้ชิ้นใหญ่ได้เท่าแกรนิตธรรมชาติ เพราะต้องผ่านกระบวนการเผาและบดอัด ปัจจุบันแก้วสิงห์ผลิตแผ่นแกรนิตขนาดใหญ่ที่สุดได้ที่ 10 x 10 นิ้ว
2. กำลังผลิต กำลังการผลิตในขณะนี้ยังไม่สามารถรองรับโครงการขนาดใหญ่มากๆ ได้ เนื่องจากการผลิตยังค่อนข้างเป็นระบบแฮนด์เมดอยู่ ไม่ได้ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เหมือนโรงงานอื่นๆ