Four Rivers Project …เมื่อเกาหลีใต้แสวงหาหนทางอยู่ร่วมกับน้ำ
Technology & Innovation

Four Rivers Project …เมื่อเกาหลีใต้แสวงหาหนทางอยู่ร่วมกับน้ำ

  • 18 Jul 2013
  • 2933

หลังจากขับเคี่ยวกับพลังของน้ำมาทั้งชีวิต เกาหลีใต้เลือกที่จะวางเดิมพันครั้งยิ่งใหญ่เพื่ออนาคต โครงการ Four Major Rivers Restoration คือผลลัพธ์ของการลงทุนเพื่อรับมือกับความแปรปรวนของธรรมชาติ ที่เริ่มต้นจากความมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ลบล้างวงจรแห่งความสูญเสียของน้ำท่วมและน้ำแล้งที่ส่งผลกระทบต่อชาวเกาหลีใต้นับครั้งไม่ถ้วน และที่เหนือไปกว่านั้น เมกะโปรเจ็กต์นี้กำลังบินสูงเพื่อหวังจะสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ประชาชนในการอยู่ร่วมกับกระแสน้ำ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหาที่มาพร้อมกับความกล้าท้าทายธรรมชาติครั้งนี้ด้วย

Four Major Rivers Restoration Project หรือโครงการฟื้นฟูแม่น้ำสี่สายของเกาหลีใต้ เป็นโครงการที่รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 620,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแม่น้ำ 4 สายหลักของประเทศ ได้แก่ แม่น้ำนักดอง (Nakdong River) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้  แม่น้ำยูงซาน (Yeongsan River) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  แม่น้ำเกอุม (Geum River) ทางฝั่งตะวันตก และแม่น้ำฮัน (Han River) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อให้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสะอาดที่สามารถสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำ และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน   โครงการฟื้นฟูแม่น้ำทั้งสี่สายนี้ ประกอบไปด้วยการก่อสร้างเขื่อนใหม่ทั้งสิ้น 20 เขื่อน จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 87 เขื่อน การบูรณะฟื้นฟูพื้นที่ริมแม่น้ำความยาวหลายร้อยกิโลเมตร การขุดลอกแม่น้ำให้มีความลึกโดยเฉลี่ย 6 เมตร การติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสียและเครื่องวัดระดับน้ำเสียในบริเวณที่มีมลภาวะทางน้ำ  การย้ายเกษตรกรที่ทำการเกษตรอยู่ริมแม่น้ำออกจากพื้นที่เพื่อป้องกันการก่อมลพิษทางน้ำ รวมถึงการก่อสร้างทางสำหรับจักรยานความยาว 1,728 กิโลเมตรตลอดริมฝั่งแม่น้ำ  โดยประเมินว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 340,000 ตำแหน่ง

ประธานาธิบดี ลี เมียง บัก (Lee Myung-bak) เดินหน้าอย่างอาจหาญเพื่อสร้างโครงการระดับตำนาน ตั้งแต่การวางกรอบแนวคิดการบริหารจัดการน้ำเพื่อตอบสนองเชิงรุกต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ   การสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ริมน้ำให้เป็นพื้นที่สร้างความสุขแก่ประชาชน เพราะหน่วยงานด้านบริหารจัดการน้ำของเกาหลีใต้ประเมินว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะนำไปสู่ภาวะขาดแคลนน้ำ 3,300 ล้านตันในปี 2060 และจากมุมมองนั้น ประเทศจึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และยังต้องเป็นการเปลี่ยนด้วยวิธีการควบคุมน้ำอย่างสร้างสรรค์ด้วย โดยรัฐบาลเชื่อมั่นว่า เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์จะสามารถสำรองน้ำดื่มได้ถึง  50 ล้านคิวบิกเมตร และกักเก็บน้ำในยามที่เกิดน้ำท่วมได้มากถึง 90 ล้านคิวบิกเมตร นอกจากนี้ก็ยังเป็นการช่วยฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ต้นน้ำและปลายน้ำอีกด้วย

โครงการฟื้นฟูแม่น้ำสี่สายเริ่มขึ้นในปี 2009 และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2012 โดยหนังสือพิมพ์ เดอะ โคเรีย เฮรัลด์  (The Korea Herald) เรียกมันว่า โครงการหัวแก้วหัวแหวนของ ลี เมียง บัก นั่นเพราะเป็นนโยบายที่อยู่ในแผนหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของเขาเมื่อปี 2007 ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2005  ลี เมียง บัก เมื่อครั้งเป็นนายกเทศมนตรีกรุงโซล ก็เคยประสบความสำเร็จจากโครงการขนาดใหญ่ด้วยการย้ายทางด่วนอันเกะกะรกตา ปรับระบบการจราจรของเมือง และพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรมอย่างคลองชอง เก ชอน (Cheonggyecheon Stream) ระยะทางยาว 5 ไมล์ ให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนและท่องเที่ยวเช่นในทุกวันนี้ ความสำเร็จเมื่อสมัยเป็นนายกเทศมนตรีโซลจึงเป็นแรงหนุนนอกสภาอันสำคัญยิ่ง ดังนั้นเมื่อโครงการฟื้นฟูแม่น้ำสี่สายดำเนินไป แม้จะถูกคัดค้านอย่างหนักจากการอภิปรายตัดลดงบประมาณจากพรรคฝ่ายค้านในสภา รวมถึงการตั้งคำถามต่อความโปร่งใสในการบริหารงบประมาณ โครงการนี้ก็ยังเดินหน้ามาได้ แต่ก็เป็นการเดินหน้าท้าทายธรรมชาติที่นำพามาทั้งคำสรรเสริญและคำสบถพร้อมๆ กัน

  

เจ็บปวด หรือ เบิกบาน
ห่างจากกรุงโซลขึ้นไปทางต้นน้ำของแม่น้ำฮันราว 70 กิโลเมตร คือที่ตั้งของฝายอิโป (IpoWeir)  ที่มีความยาวกว่า 590 เมตร และถูกออกแบบให้เป็นรูปโค้งราวกับแพนหางของนกกระยาง ทำหน้าที่เป็นทำนบช่วยควบคุมการไหลของแม่น้ำฮันผ่านประตู 6 บาน สูง 3 เมตร เพื่อทำให้น้ำไหลช้าลงและไม่ท่วมทั้งหมด ทั้งจะช่วยเก็บกักน้ำไว้ไม่ให้เสียไปในฤดูฝนที่สั้น โดยทราย 23.4 ล้านตันซึ่งถูกขุดจากแม่น้ำจะช่วยให้ร่องแม่น้ำลึกและกักเก็บน้ำได้มากขึ้นเมื่อฝนตก ขณะที่ทรายจำนวนมหาศาลนี้ก็ยังถูกใช้ทำเป็นแนวป้องกันน้ำสูงถึง 22 เมตร และยังมีเหลือเพียงพอสำหรับการถมพื้นที่เพื่อจัดทำสวนสาธารณะ ศูนย์กีฬา และสถานีไฟฟ้าพลังน้ำ พร้อมกังหันอีก 3 เครื่อง

ไม่ใช่เพียงทำนบที่อิโปเท่านั้นแต่การสร้างทำนบทั้งหมดในโครงการนี้ยังถูกออกแบบให้ทันสมัยอย่างไม่ต้องสงสัย เช่น ทำนบที่กังชอนซึ่งมีต้นแบบการก่อสร้างมาจากสิ่งประดิษฐ์ของเกาหลีอย่างพิณโบราณ 12 สาย บนดาดฟ้าที่มีความสูงประมาณ 70 เมตร ถูกออกแบบให้เป็นจุดชมภูมิทัศน์และเวทีการแสดงแสงสีเสียงในยามค่ำคืน โดยสายเคเบิ้ล 12 สายที่ใช้ยึดโครงสร้างคือสัญลักษณ์ของพิณ 12 สาย ซึ่งเมื่อน้ำไหลผ่านจะเกิดเป็นทำนองดนตรีสะท้อนมาราวกับเสียงเพลงของออร์แกนยักษ์ ขณะที่พื้นที่ตลิ่งและบนทำนบทั้งหมดนั้นจะถูกตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับเพื่อให้เป็นบรรยากาศของสวนสาธารณะและศูนย์กีฬา ทั้งหมดนี้คือการนำสาธารณะชนเข้าใกล้ธรรมชาติ เช่นเดียวกับทำนบกันชองบนแม่น้ำยูงซาน ซึ่งถูกออกแบบตามลักษณะของต้นข้าวที่เป็นอาหารหลักของชาวเอเชียโดยมีทั้งส่วนโค้งของต้นและเมล็ดข้าว มีทำนบสูง 4 เมตรซึ่งถูกตกแต่งด้วยน้ำพุและลำธารขนาดใหญ่พอให้เรือแล่นและให้ปลาว่ายน้ำผ่านไปได้

นอกเหนือจากความเบิกบาน โครงการดังกล่าวยังพุ่งเป้าไปที่การรับมือกับวิกฤตการณ์ ด้วยการตั้งศูนย์ควบคุมน้ำท่วมในกรุงโซลที่เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ทันสมัย มีเรดาร์ตรวจอากาศครอบคลุมทั้งประเทศ มีจอแสดงผลล่าสุดของการพยากรณ์อากาศ ระดับน้ำ และอัตราการไหลของน้ำ และเมื่อมีข้อมูลมากมายเข้ามาที่นี่ตลอดเวลา จึงทำให้การตีความข้อมูลให้ถูกต้องแม่นยำเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถตัดสินใจได้ว่าควรทำอะไรบ้างยามที่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในกรุงโซล เช่น  การแจ้งเตือนระหว่างน้ำท่วมผ่านโทรสาร อินเทอร์เน็ต และการส่งข้อความสั้น (SMS) ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะต้องทำหน้าที่ต่อกันให้สมบูรณ์ โดยเมื่อข้อมูลมาถึงห้องเฝ้าตรวจ แต่ละแผงควบคุมจะเชื่อมต่อกับสถานีเฝ้าตรวจในสนาม สถานีเหล่านี้จะติดต่อกับฐานผ่านวิทยุ สัญญาณโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์สายตรง และดาวเทียม เพื่อตรวจซ้ำให้มั่นใจได้ว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้  ขณะที่ระบบข้อมูลระดับน้ำอัตโนมัติจะใช้คลื่นเสียงความถี่สูงใต้น้ำในการรวบรวมข้อมูลทุกๆ 10 นาที โดยภายในเวลา 10 นาทีนี้จะมีข้อมูลถูกส่งมาประมาณ 500 ครั้ง เพื่อนำไปสู่การประมวลผล วิเคราะห์ และการตัดสินใจที่ดีที่สุดในยามวิกฤต 

สำหรับผู้ที่ต้องดิ้นรนและเอาตัวรอดจากน้ำท่วมแล้ว โครงการฟื้นฟูแม่น้ำสี่สายคือสิ่งที่จำเป็นต้องลงทุนลงแรง เช่นที่หมู่บ้านกางจอง บนฝั่งแม่น้ำนักดองซึ่งยาวที่สุดในเกาหลี คือหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์อย่างมากจากโครงการดังกล่าวหลังต้องเผชิญปัญหาภัยพิบัติซ้ำซากมาเป็นเวลานาน นั่นคือเมื่อใดก็ตามที่หมู่บ้านแห่งนี้มีฝนตกหนักกว่า 200 มิลลิเมตร ทั้งหมู่บ้านจะกลายเป็นมหาสมุทร พื้นที่ทั้งหมดจะจมอยู่ใต้น้ำ เกิดความเสียหายต่อผลผลิตในไร่นา กว่าจะลุกขึ้นมาเพาะปลูกได้ใหม่ก็ต้องใช้เวลาราว 1 ปี ซึ่งก็ครบรอบเวลาที่ย่างเข้าฤดูฝนและภาวะน้ำท่วมอีกครั้ง ดังนั้นชาวเมืองส่วนใหญ่จึงเห็นด้วยว่า แทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ น่าจะเป็นการดีกว่าที่จะพัฒนาพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมนี้ให้เป็นพื้นที่ที่สวยงามและน่าเพลิดเพลิน

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะยินดีปรีดากับโครงการก่อสร้างใหญ่โตเช่นนี้ นักเคลื่อนไหวและนักอนุรักษ์ต่างแสดงความเป็นห่วงในงบประมาณจำนวนสูงลิ่ว ธรรมชาติที่ถูกทำลาย และความบันเทิงที่อาจไม่มีใครต้องการ เนื่องจากสภาพท้องน้ำตามธรรมชาติที่ถูกขุดเป็นโพรงอาจพังทลายลงได้ในเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น โดยในกระบวนการก่อสร้างจะต้องทำลายแควน้ำ ด้วยการขุดแม่น้ำสายใหญ่ให้ลึกลงไป และยกสูงขึ้นตรงแม่น้ำสายย่อย เพื่อห้น้ำที่ไหลลงมายังแม่น้ำสายหลักมีความรวดเร็วและรุนแรงขึ้น   นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังกังวลว่าการก่อสร้างอาจทำลายระบบนิเวศจนส่งผลกระทบต่อปลาและนกน้ำกว่า 30 สายพันธุ์ที่มีวงจรชีวิตในแหล่งน้ำธรรมชาติแห่งนี้ ดังนั้นการรวมตัวของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประชาชนผู้เกี่ยวข้องกว่า 10,000 คนจึงเกิดขึ้น โดยมีการว่าจ้างนักกฎหมายเพื่อฟ้องร้องในนามกลุ่ม เพื่อยุติโครงการทั้งหมดที่มีมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านเหรียญ โดยให้เหตุผลว่าโครงการถูกบีบให้สร้างเร็วเกินไปและข้อมูลที่เหลือยังบกพร่อง ซึ่งแม้คดีแรกนี้จะถูกยกฟ้อง แต่กลุ่มผู้คัดค้านก็ยังคงเดินหน้าต่อเพื่อยุติโครงการดังกล่าว 

นอกจากนี้ ยังมีการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้าง ครั้งหนึ่ง ผู้คนกว่า 1,000 คนรวมตัวกันที่สันดอนทรายบนส่วนโค้งของแม่น้ำนักดอง เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ กับแม่น้ำ และเป็นสัญลักษณ์ว่าพวกเขามีความสุขกับแม่น้ำอย่างที่เป็นอยู่ โดยที่ไม่ต้องการสวนสาธารณะหรือศูนย์กีฬา แต่พวกเขากลับห่วงใยว่าคนรุ่นลูกอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นแม่น้ำและทรายสีเงินสะอาดเหล่านี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการรบกวนธรรมชาติ

รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโครงการและอดีตนักวิชาการจากมหาวิทยาอินฮา (Inha University) นาย ชิม เมียง พิล (Shim Myung –pil) ให้ความเห็นว่า “เราต้องรอ 5-10 ปี ว่าจะตัดสินว่า โครงการนี้สำเร็จหรือล้มเหลว และเพราะอะไร เนื่องจากเราไม่ใช่พระเจ้า มีเพียงพระเจ้าที่จะทำนายศาสตร์ของธรรมชาติได้ถูกต้องแม่นยำ เราเพียงแต่ออกแบบตามความรู้ความสามารถของเราอย่างดีที่สุด เราทำนายทุกอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติไม่ได้แน่ และธรรมชาติก็จะไม่ปรับตัวหาเราอย่างแน่นอน เราต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติให้ได้ นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ แต่สายน้ำจะเปลี่ยนชีวิตชาวเกาหลีใต้อีกครั้ง โครงการแม่น้ำสี่สายนี้อาจเป็นบทเรียนถึงความเจ็บปวดหรือเบิกบาน แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ โครงการดังกล่าวกำลังถกเถียงและพิสูจน์ข้อเท็จจริงบนสังคมประชาธิปไตย ที่ต่างฝ่ายต่างนำเอาองค์ความรู้ วิธีคิด และนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือในการต่อรองระหว่างผู้เห็นด้วยและผู้คัดค้าน และสำหรับผู้คนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกับน้ำแล้ว นี่อาจเป็นบทพิสูจน์ถึงสติปัญญาอันแข็งแกร่งของมนุษย์อีกครั้งในการสร้างสรรค์วิธีคิดและผลผลิตเพื่ออนาคตของเรา

เรื่อง อภิสิทธิ์  ไล่สัตรูไกล  ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ

ที่มา:
สารคดีชุด Taming the Four Rivers  โดย National Geographic
รายงาน The Anticipated Impacts of the Four Rivers Project on Water Birds, Korea Preliminary Report, มีนาคม 2553
บทความ Ambitious Rivers Project Meets a Sea of Oppositionโดย CHOE SANG-HUN,Naju Journal, 13 ธันวาคม 2552